‘คณะแพทยศาสตร์’สถาบันพระบรมราชชนก

‘คณะแพทยศาสตร์’สถาบันพระบรมราชชนก

‘คณะแพทยศาสตร์’สถาบันพระบรมราชชนก

“สถาบันพระบรมราชชนก” เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในกระทรวงสาธารณสุข เป็นแห่งแรกที่สถาบันเป็นนิติบุคคล มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาและผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2537 และมีคุณภาพได้มาตรฐานทางวิชาการ เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ
ปี พ.ศ.2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชโองการโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2562 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ลงนามประกาศกฎกระทรวง การจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันพระบรมราชชนก ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2564 แบ่งส่วนราชการมี 4 ส่วนงาน ดังนี้ 1) สำนักงานอธิการบดี 2) คณะพยาบาลศาสตร์ 3) คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ 4) สำนักวิชาการ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เป็นการประชุมสภาสถาบันพระบรมราชชนก มาตรา 17 ครั้งที่ 1/2565 เป็นรอบปฐมฤกษ์ ณ ห้องประชุม ชั้น 10 อาคาร 7 วิทยาลัยพระบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี

องค์ประกอบคณะกรรมการสภาสถาบัน ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก มี 24 ท่าน ดังรายนามดังนี้

Advertisement

(1) ศาสตราจารย์วิจารณ์ พานิช นายกสภาสถาบัน (2) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อุปนายกสภาสถาบัน (3) รองศาสตราจารย์ไทย ทิพย์สุวรรณกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (4) รองศาสตราจารย์สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (5) ศาสตราจารย์เกียรติคุณบุญทิพย์ สิริธรังศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (6) นายสมควร หาญพัฒนชัยกูร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (7) ศาสตราจารย์สถิรกร พงศ์พานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (8) นายสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (9) ศาสตราจารย์พรศักดิ์ ศรีอมรศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (10) ศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ วชิรขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (11) รองศาสตราจารย์กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (12) นายสาลี่ สุขเกิด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (13) นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (14) นายสรรเสริญ นามพรหม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (15) นายนพดล เภรีฤกษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (16) ศาสตราจารย์ศิริอร สินธุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

(17) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรรมการ (18) ศาสตราจารย์พิเศษวิชัย เทียนถาวร (อธิการบดี) กรรมการ (19) นายวิศิษฏ์ ตั้งนภากร (รองอธิการบดี) กรรมการ (20) นางกมลรัตน์ เทอร์เนอร์ (คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์) กรรมการ (21) นายจิโรจ สินธวานนท์ (ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ) กรรมการ (22) นายไพบูลย์ ชาวสวนศรีเจริญ (ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง) กรรมการ (23) นางสาวศุกร์ใจ เจริญสุข (ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี) กรรมการ (24) นายธานี กล่อมใจ (ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา) กรรมการ (25) นางสาวพนารัตน์ วิศวเทพนิมิต (ประธานสภาคณาจารย์และผู้ปฏิบัติงานในสถาบัน) กรรมการ (26) นางสาวมาริสา สุวรรณราช (คณาจารย์ประจำของสถาบัน) กรรมการ (27) นางสาวกรกนก ลัธธนันท์ (คณาจารย์ประจำของสถาบัน) กรรมการ (28) นายเกียรติศักดิ์ แซ่อิว (คณาจารย์ประจำของสถาบัน) กรรมการ (29) นางอัจฉรา จันเพ็ชร์ (ผู้ปฏิบัติงานในสถาบัน) กรรมการ

คณะผู้บริหารสถาบันพระบรมราชชนก 1) ศาสตราจารย์พิเศษ นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก 2) รองอธิการบดี มี 6 คน นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองฯ ด้านนโยบายและแผน นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองฯ ด้านบริหาร นายแพทย์ประภัสสร เจียมบุญศรี รองฯ ด้านบริการวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.วสุธร ตันวัฒนกุล รองฯ ด้านกิจการนิสิต ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเรืออากาศหญิงวณิชา ชื่นกองแก้ว รองฯ ด้านวิจัย นวัตกรรมฯ และวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา เชาวลิต รองฯ ด้านการศึกษาและประกันคุณภาพ มีวาระพิจารณาที่สำคัญ คือ โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ด้วยเหตุผลความจำเป็น 4 ประการ

Advertisement

คณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก จัดตั้งขึ้นด้วยความมุ่งมั่นจะผลิตแพทย์ รองรับสู่ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้ได้บัณฑิตแพทย์ที่มีคุณลักษณะเก่งดี มีคุณธรรม และมีสมรรถนะตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี โดยมีเหตุผลจำเป็น ดังนี้

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ทำให้มีความต้องการการผลิตแพทย์ใน “ระดับปฐมภูมิ” เพิ่มขึ้นในประเทศไทย
เนื่องจากปัญหาการกระจายแพทย์ทำให้สัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรมีความแตกต่างในแต่ละภูมิภาคของประเทศจึงต้องการผลิตแพทย์โดยเฉพาะ “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” ที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค โดยอาศัยศักยภาพของแพทย์ที่มีความสามารถในการดูแล “ครอบครัวแบบองค์รวม”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีแพทย์ปฏิบัติงานจริง จำนวน 19,259 คน และในส่วนของข้อมูลแพทย์ดังกล่าว จำนวนแพทย์สาขาที่ขาดแคลนในหน่วยบริการสุขภาพ 12 เขต ได้แก่ “สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว” ซึ่งมีจำนวนเพียง 763 คน จะเห็นได้ว่ามีจำนวนน้อยมาก และจะต้องมีการผลักดันให้มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง (กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข 2564 : 17-18) ถึงแม้จะมีแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ตั้งแต่ปี 2541 ถึงปี 2562 มีแพทย์ที่ผ่านการอบรมเป็นแพทย์เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวได้รับ “วุฒิบัตรแล้ว 774 คน” และแพทย์ที่ผ่านการอบรมได้รับหนังสืออนุบัตร 6,550 คน รวมทั้งสิ้น 8,097 คน (สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย (2562) สืบค้นวันที่ 19 เมษายน 2565 https://www.focus.org/content/2019/11/1809 โดยหากมีการผลิตแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเป็นแพทย์ที่เรียนรู้และฝึกทักษะโดยใช้โรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นแหล่งฝึกมากกว่า การฝึกฝนในโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แพทย์จบใหม่เหล่านี้จึงมีสมรรถนะที่มุ่งเน้นการรักษาพยาบาลมากกว่าการป้องกันโรค

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่สถาบันพระบรมราชชนกจะต้องสร้างโรงเรียนแพทย์แนวใหม่ที่สร้างแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีสมรรถนะด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและมีความพร้อมในการดูแลสุขภาพเชิงระบบซึ่งปฏิบัติงานด้านระบบปฐมภูมิ

2.ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ระยะที่ 2 ปี 2565-2570 จำนวน 13,318 คน กรอบวงเงิน 50,608.40 ล้านบาท ซึ่งเน้นการ “พัฒนาหลักสูตรโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการผลิต” ตั้งเป้าหมายอัตราแพทย์ต่อประชากรในภาพรวม 1:1200 ภายในปีการศึกษา 2576

เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการกระจายแพทย์ตลอดขยายศักยภาพให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD : Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor)

สถาบันพระบรมราชชนกมีแนวทางการผลิตแพทย์โดยมุ่งเน้น “แพทย์แนวใหม่” ตอบสนอง “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” เพื่อลดปัญหาการกระจายแพทย์แต่ไม่มีเป้าหมายการเพิ่มจำนวนการผลิต

3.ตามพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562 มาตรา 7 สถาบันพระบรมราชชนกสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การผลิตบุคลากรด้านสุขภาพของประเทศ

4.เป็นคณะแพทยศาสตร์ต้นสังกัดในแก้ปัญหาให้กับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งปัจจุบันสมทบกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยไม่มี “คณะแพทยศาสตร์” ต้นสังกัด ตามประกาศแพทยสภา ที่ 73/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์การขอเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และรับรองสถาบันผลิตแพทย์ (สำหรับสถาบันเปิดดำเนินการใหม่) ที่กำหนดให้ต้องมีคณะในสถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยการผลิตบัณฑิตแพทย์ของทั้ง 3 ศูนย์ดังกล่าว

ได้รับอนุโลมจากสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ “สมพ.” (Institute for Medical Education Accreditation) IMEAC มาโดยตลอด

วัตถุประสงค์ : การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สบช. มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ สอดคล้องกับเหตุผลความจำเป็นดังนี้

1) แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ จากนโยบายภาครัฐต้องการกระจายแพทย์ลงสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือจัดรูปแบบหมอครอบครัวครอบคลุมระดับภูมิภาค โดยอาศัยศักยภาพของแพทย์ที่มีความสามารถในการดูแลครอบครัวแบบองค์รวม

2) เป็นคณะแพทยศาสตร์ต้นสังกัดในการแก้ปัญหาให้กับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลราชบุรี

ผลจากการศึกษาและวิเคราะห์ของ 2 คณะ คือ 1.คณะกรรมการการศึกษาตามความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สบช. และ 2.คณะกรรมการการศึกษาความพร้อมในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สบช.

พบว่า สถาบันมีความพร้อมในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์และเชื่อมั่นว่าบัณฑิตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษา จากคณะแพทยศาสตร์ สบช. เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสามารถให้บริการสุขภาพแก่ผู้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามวิสัยทัศน์และระบบสุขภาพของประเทศ

สรุปผลการนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ และความพร้อมการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ต่อสภาสถาบันพระบรมราชชนก ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมวิทยาลัยพะเยาบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช นายกสภาสถาบันพระบรมราชชนก เป็นประธานการประชุม มีมติอนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ เป็นส่วนราชการสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของสถาบันพระบรมราชชนกจักได้ดำเนินการกระบวนการเรื่อง การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ เสนอต่อกระทรวงอุดมศึกษาฯและประกาศในราชกิจจานุเบกษา และการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เสนอต่อแพทยสภา คาดว่าจะรับนักศึกษาแพทย์ จำนวนศูนย์แพทย์ แห่งละ 32 คน

รวมทั้งสิ้น 96 คน ได้ในปี พ.ศ.2566 เพื่อสืบสานปณิธานของ “สมเด็จพระราชบิดา” ของเรา ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image