การเมืองเรื่อง กม. การศึกษา

การเมืองเรื่อง กม. การศึกษา

การเมืองเรื่อง กม. การศึกษา

พฤหัสฯที่แล้วผมทิ้งประเด็นมรสุม 2 ลูก ที่คุณตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำลังเผชิญควบคู่ไปกับการกอบกู้คุณภาพการศึกษาภายหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
ลูกแรกเรื่องปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งการต่อต้านยังไม่หยุด ลูกต่อมาทำท่าจะไม่จบง่ายๆ เช่นกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่กำลังรอต่อคิวเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาหลังสภาเปิดวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการไม่มั่นใจว่าจะได้เข้าสู่ที่ประชุมทันหรือไม่ หากเข้าทันหน้าตา เนื้อหาสาระจะออกมาอย่างไร เป็นไปตามแนวทางที่จะช่วยให้การบริหารการศึกษามีประสิทธิภาพขึ้นจริงหรือไม่

เลยต้องเข้าพบหารือกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ให้เร่งรัดยืนยันว่ารัฐบาลจะผลักดันร่างกฎหมายนี้ต่อไปเข้าสภาให้ทัน ยกเว้นเกิดอุบัติเหตุการเมืองยุบสภา หรือถูกไม่ไว้วางใจเสียก่อน

Advertisement

กระนั้นก็ตาม ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติล่าสุดก็เกิดประเด็นปัญหา มีแรงต่อต้านปะทุขึ้นแล้ว

เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้มีมติด้วยเสียงข้างมากเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค โดยเสนอให้ยุบเลิกตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาค

ทำให้ศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ยื่นหนังสือคัดค้านต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ และประกาศว่าจะยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

เหตุผลที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภามีมติให้ยุบเลิกทั้ง 2 ตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่าบทบาท หน้าที่ขัดกับหลักการการให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารทุกด้าน หากยังคงอยู่จะทำให้ความเป็นอิสระของสถานศึกษาเกิดขึ้นไม่ได้ และกลับเป็นการเพิ่มขั้นตอนการบริหารขึ้น จากความซ้ำซ้อนของงานกับเขตพื้นที่การศึกษาทั้งมัธยมศึกษา ประถมศึกษา ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานทั้งสาม จนเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมากกว่าที่จะเป็นคุณ

เมื่อเกิดความเห็นต่างขึ้นเช่นนี้ ความคิดและท่าทีของผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นเช่นไรยังไม่มีความชัดเจน นอกจากรอผลการตัดสินของที่ประชุมรัฐสภาต่อไป ทันหรือไม่ทันสมัยประชุมนี้ยังไม่มีใครตอบได้

ส่วนผู้บริหารสูงสุดฝ่ายข้าราชการประจำคือ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด เมื่อจะถูกลดทอนอำนาจ ตัดแขน ตัดขาที่เพิ่งได้มีขึ้นมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้่ย่อมไม่เห็นด้วยเป็นธรรมดา

จึงออกมาเสนอประเด็นโต้แย้งว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา กำหนดอำนาจการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการทำให้เสร็จภายใน 2 ปี หลัง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ได้สำเร็จ

มติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการทำหน้าที่เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด

เข้าข่ายล้ำเส้น ว่างั้นเถอะ คำนี้ท่านไม่ได้พูด แต่ผมพูดเอง

ใครจะยอมให้ยกเลิกกันง่ายๆ ทั้งเสียหาย และเสียชื่อ หากเกิดขึ้นในยุคของตัว การที่ท่าทีของปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่านี้ก็ยังคงอยู่ที่มติของคณะกรรมาธิการวิสามัญมากกว่า ที่ยืนยันให้ยุบเลิกตำแหน่งศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดเพราะเชื่อว่าจะเกิดผลดีมากกว่า

ประเด็นเดียวกันนี้ ก่อนหน้านี้ เดือนมกราคม 2563 คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ประกอบไปด้วยวุฒิสมาชิกล้วนๆ มีนายตวง เป็นประธานกรรมาธิการ ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมมีมติเสนอรายงานต่อวุฒิสภาในลักษณะประนีประนอม 5 ประเด็น

โดยสรุปคือ ควรกำหนดโครงสร้างหน้าที่และอำนาจระหว่างศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความซ้ำซ้อนกันในภาระงานที่ปฏิบัติและอำนาจการสั่งการบังคับบัญชา

ขณะนั้นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยังไม่เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ต่อมาเมื่อร่าง พ.ร.บ.ผ่านที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วยถึง 432 เสียง จากผู้ลงมติ 468 คน รับหลักการและให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 49 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายสมาชิกสภาผูัแทนราษฎร และฝ่ายวุฒิสมาชิก

กรรมาธิการวิสามัญลงมติเลือกนายตวง ประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ผลการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ออกมาเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ให้ยุบเลิกทั้งศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค ซึ่งกลายเป็นปมความขัดแย้ง รอการตัดสินใจของที่ประชุมรัฐสภาในเร็ววันนี้

ครับ ประเด็นที่ผมต้องการชี้และเป็นบทสรุปก็คือ โครงสร้างกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา ล้วนประกอบไปด้วยทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลมีประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเข้ามาเป็นตัวแทน

มติจากความคิดเห็นของเสียงส่วนใหญ่ ที่ผ่านการขบคิด พิจารณา ปรึกษาหารือ กลั่นกรองจากทุกฝ่าย จึงน่าเชื่อถือและพึงปฏิบัติมากกว่าที่ประชุมรัฐสภาวาระสองสามที่จะเกิดขึ้นต่อไป จะเลือกหนทางไหนจึงคิดได้ไม่ยาก ยกเว้นเสียแต่ว่า รัฐบาล รัฐสภา หมดท่า ขาดความน่าเชื่อถือที่ไม่สามารถเข็นกฎหมายสำคัญฉบับนี้ออกมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image