ความสัมพันธ์จีน-อินเดีย

ความสัมพันธ์จีน-อินเดีย

ความสัมพันธ์จีน-อินเดีย

สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อต่อเนื่องเกินกว่า 1 เดือน การคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐและยุโรปเข้มข้นขึ้น ขยายขอบเขตการลงโทษ อีกทั้งชักชวนจีนและอินเดียให้ร่วมขบวนการคว่ำบาตร
หากมองผ่านนโยบายต่างประเทศของจีนตั้งแต่อดีต ดำรงอยู่ในสถานะอิสระเสรีโดยตลอด และมีพลังเพียงพอที่จะต่อต้านแรงกดดันจากภายนอก ส่วนสถานะของอินเดียก็ไม่ต่างไปจากจีน

การลงมติประณามรัสเซียในที่ประชุมสหประชาชาติ จีนและอินเดียล้วนสละสิทธิ

หากพินิจถึงประเด็นที่จีนและอินเดียสละสิทธิในการลงมติ อาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับ “หวาง อี้” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีน เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการและกะทันหัน สัมพันธ์ในการตัดสินใจตรงกัน อันเป็นโอกาสในการปรับปรุงความสัมพันธ์ของสองประเทศ

Advertisement

วิกฤตยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ ยุโรปกับรัสเซียถือเป็นปัญหาโดยตรงและหลีกเลี่ยงมิได้ ส่วนจีนต้องถือเป็นปัญหาทางอ้อม

แท้จริง จีนกับรัสเซียและยูเครนมีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่มีปัญหาหรือความขัดแย้ง

สหรัฐได้ร้องขอจีนหลายครั้งให้ร่วมประณามรัสเซียอันเกี่ยวกับการบุกรุกยูเครน

ในที่สุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้โทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงโดยตรง โดยร้องขอให้จีนร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย พร้อมทั้งเตือนจีนมิให้สนับสนุนรัสเซียในด้านวัสดุของใช้

ในการประชุมสุดยอด G7 ผู้นำยุโรปหลายประเทศล้วนมีความเห็นว่า การคว่ำบาตรรัสเซียครั้งนี้ จะมีผลมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับประเทศจีน เพราะจีนมีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ฉะนั้น จึงควรขอให้จีนเข้าร่วมขบวนการคว่ำบาตร

“โจ ไบเดน” กล่าวว่า “ความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันตกกับรัสเซีย ประเด็นสำคัญคือ อิสระกับเผด็จการ หากจีนปฏิเสธเข้าร่วมการคว่ำบาตร ก็ย่อมหมายถึงยืนอยู่ข้างเผด็จการ”

อินเดียก็ได้รับแรงกดดันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจีน แต่ถ้อยคำวาจาดูเหมือนนิ่มนวลกว่า

แม้กระนั้น “โจ ไบเดน” ก็ตำหนิอินเดียว่า “ท่าทีของอินเดียค่อนข้างสั่นคลอน”

น่าจะหมายความว่า อินเดียคือ 1 ใน 4 ของพันธมิตรอินโดแปซิฟิก แต่พฤติกรรมแตกต่างกับ 3 ประเทศพันธมิตรคือ สหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ก็เพราะอินเดียได้สละสิทธิถึง 3 ครั้งในสหประชาชาติ อันเกี่ยวกับปัญหายูเครน

ย้อนมองอดีตหลายปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาพรมแดนเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์จีน-อินเดียเกิดความตึงเครียด แต่ปัญหาวิกฤตยูเครน จีนและอินเดียมีจุดยืนตรงกัน

อาจเป็นเหตุให้ “หวาง อี้” รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจีน เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ เพื่อวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์จีน-อินเดีย รัฐมนตรีสองประเทศได้ประชุมแบบทวิภาคีเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ทว่าไม่ประสบผลมากนัก เพราะต่างฝ่ายต่างพูด แต่ก็ได้บรรลุผลในส่วนรับรู้ร่วมกันคือ “ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ประเด็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ระหว่างประเทศและภูมิภาค ประเทศจีนและอินเดียมีจุดยืนเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน อีกทั้งต้องพยายามทำความเข้าใจซึ่งกัน และสนันสนุนซึ่งกัน ตลอดจนเพิ่มพลังให้แก่โลกที่กำลังสั่นคลอน และเห็นว่าต้องสนับสนุนลัทธิหลายฝ่าย เคารพกฎบัตรสหประชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้สันติวิธีเจรจาเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง”

ท่ามกลางแรงกดดันจากตะวันตก จีนและอินเดียเดินไปในทิศทางเดียวกันโดยบังเอิญ เป็นเรื่องที่ประเสริฐสุด ประเสริฐที่มีพลัง คือพลังประชากรสองประเทศรวมกันเท่ากับ 35% ของโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เท่ากับ 21.5% ของโลก พลังคนเจือสมกับพลังเงินของสองประเทศ ทำให้มีอำนาจในการตัดสินใจและดำเนินการใดๆ ได้อย่างอิสระเสรี ไม่ต้องกังวลเรื่องแรงกดดัน

หากจีนและอินเดียต่างยอมลดทิฐิลงบ้างตามควรแก่เหตุ หันมาร่วมมือกัน สนับสนุนซึ่งกันภายใต้พื้นฐานกฎบัตรสหประชาชาติ น่าจะได้รับการเคารพและเป็นเสียงที่ไม่ควรถูกละเลย

นักวิเคราะห์เห็นว่า การเยือนอินเดียของ “หวาง อี้” ยังไม่สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสองประเทศ บ้างก็เห็นว่า จีนและอินเดียอาจจะร่วมมือกันต่อต้านสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าประเด็นแรกมองปัญหาที่ชายขอบ ประเด็นหลังไม่น่าเป็นไปได้

ต้องไม่ลืมว่า สถานภาพของจีนและอินเดีย อุปมาเหมือนกับสินค้าชนิดเดียวกันแข่งขันกัน ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด และที่สำคัญคือ เป็นประเทศที่มีอารยธรรมโบราณที่ใหญ่และกำลังพัฒนา ซ้ำยังอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน การแข่งขันชิงชัยย่อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น

ความขัดแย้งปัญหาพรมแดนเมื่อ 1962 ย่อมเป็นอุทาหรณ์ บวกกับกรณีพิพาทประเด็นเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ ความบาดหมางใจทั้งเก่าและใหม่เจือสมกัน

“หวาง อี้” เพียงทริปเดียวจะให้จบ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

ต้องไม่ลืมสำนวนของจีน “น้ำแข็งหนา 3 ฟุตมิใช่หนาววันเดียว”

ประเด็นที่ชวนให้พินิจคือ จุดยืนของอินเดียในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน มิใช่นัดกับจีนร้องเพลง “เนื้อเดียวกัน” หากเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ระหว่างอินเดียกับรัสเซีย อันเกี่ยวแก่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองภูมิภาค กล่าวคือ

เมื่อครั้งอินเดียปะทะกับปากีสถาน รัสเซียยืนอยู่ข้างอินเดีย

แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา อินเดียซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศตะวันตก แต่ยังมี 60% ที่รัสเซียจัดให้ อินเดียยังมีการนำเข้าสินค้าจากรัสเซีย ซึ่งได้แก่ ทรัพยากรพลังงานและปุ๋ยหมัก โดยใช้เงินรูปีอินเดียในการชำระบัญชี ฉะนั้น ทั้งสองประเทศต่างได้ผลประโยชน์ในทำนองน้ำพึ่งเรือ…

นอกจากนี้ ทางตอนเหนือของอินเดียยังมีหลายประเทศที่แยกออกจากสหภาพโซเวียตและยังอยู่ในอาณัติของรัสเซีย หากพินิจด้านภูมิศาสตร์ จึงมีความใกล้ชิดรัสเซียมากกว่าสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การเยือนอินเดียของ “หวาง อี้” รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ครั้งนี้ แม้ได้ผลไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์อันเกี่ยวกับจุดยืนของสองประเทศที่มีต่อความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน

และแม้จีนและอินเดียมีมุมมองต่างกันในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เหตุผลในการตัดสินใจต่างกัน แต่อย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืน ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกัน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image