เดินหน้าชน : กทม.214ข้อ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

แนวความคิดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องการหาพื้นที่สีเขียวทำเป็นปอดให้กรุงเทพฯ โดยชูนโยบาย “กรุงเทพ 15 นาที” หรือการทำสวนสาธารณะใกล้บ้าน เน้นพื้นที่ติดกับชุมชน ให้ประชาชนสามารถมาทำกิจกรรมการออกกำลังกาย สันทนาการต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปตามสวนสาธารณะใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ

โครงการแบบนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการจัดหาซื้อที่ดินแล้วก่อสร้างใหญ่โต แต่จะใช้วิธีการขอเช่าระยะสั้น 5-10 ปี หากชัชชาติในวันหนึ่งครบวาระของการทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.ครบ 4 ปี สวนเหล่านี้ก็ยังอยู่ หรืออาจมีผู้ว่าฯคนใหม่เข้ามาต่อยอดไอเดียเรื่องพื้นที่สีเขียวต่อไป

เบื้องต้นว่าที่ผู้ว่าฯคนใหม่บอกแล้วว่า ปรับปรุงที่ดินเหล่านี้ไม่ต้องใช้งบสิ้นเปลืองทำให้หรูหรามาก ขอให้คนสามารถใช้งานได้ก็พอแล้ว

ในพื้นที่กรุงเทพฯ เอกชนจะมีพื้นที่รกร้างหรือถูกทิ้งไว้ยังไม่ได้ทำอะไรอีกจำนวนมาก ชัชชาติบอกว่า สู้เอามาให้ กทม.เช่าเพื่อประโยชน์ตกอยู่กับชุมชน ดีกว่าไปปลูกกล้วยขัดตาทัพ

Advertisement

เรื่องพื้นที่สีเขียวนั้น ชัชชาติเคยย้ำมาหลายครั้งในหลายเขตของ กทม.ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และก่อนจะเป็นผู้สมัคร ก็เคยกล่าวไว้หลายครั้งอีกเช่นกัน

อย่างเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ชัชชาติ ผู้สมัครเบอร์ 8 พร้อมทีมงานลงพื้นที่หาเสียงในหลายชุมชน ย่านเขตพระโขนง ก็บอกกับประชาชนแถบนี้ว่า เขตพระโขนงไม่มีสวนสาธารณะ ทำให้ประชาชนขาดพื้นที่ในการออกกำลังกาย เมื่อตรวจสอบแผนที่พบว่าเขตพระโขนงมีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก หากเป็นผู้ว่าฯเมื่อไหร่จะให้ กทม.ไปคุยกับเอกชนที่มีที่ดินถูกทิ้งไว้ พร้อมกับข้อเสนอจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์

แค่นโยบายนี้ที่ยกตัวอย่างขึ้นมา แม้แต่ประชาชนที่มิได้อาศัยในกรุงเทพฯยังรู้สึกชอบ ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็น่าจะถูกใจ ได้พบเห็นกรุงเทพฯเมืองหลวงที่ยุ่งเหยิงแห่งหนึ่งของโลก มีทั้งผู้คน รถรา ถนนหนทางมากมาย และก็จะมีสวนสาธารณะขนาดย่อมๆ

Advertisement

เชื่อว่าทางเอกชนน่าจะตอบสนองกับแนวคิดนี้ เพราะที่ดินถูกทิ้งไว้นอกจากนำมาใช้ประโยชน์ทำสัญญาร่วมกับ กทม.แล้ว เท่ากับเป็นการพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นขึ้นมาให้มีค่ามากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของ กทม.ก็ยังสามารถร่วมทำงานตรงนี้ไปด้วย ในการสแกนหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างสวนสาธารณะขึ้นมา

ตามที่นโยบายผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ที่ชูนโยบายเพื่อคน กทม.ว่า “กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่” ที่ชัชชาติเคยกล่าวไว้ว่า จะใช้ดัชนีวัดเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) ใช้เป็นพื้นฐานในการจัดกลุ่มนโยบายและดัดแปลงให้ครอบคลุมบริบทของกรุงเทพฯ นำมาสู่ “กรุงเทพฯ 9 ดี” นั่นเอง

ประกอบด้วย 1.สิ่งแวดล้อมดี 2.สุขภาพดี 3.เดินทางดี 4.ปลอดภัยดี 5.บริหารจัดการดี 6.โครงสร้างดี 7.เศรษฐกิจดี 8.สร้างสรรค์ดี 9.เรียนดี

ในวันนี้จำนวนนโยบาย 214 ข้อ ที่ทีมงานของชัชชาติจัดทำออกมา มาจากการตกผลึกที่ได้พูดคุยกับชาว กทม.หลายภาคส่วนตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่ประกาศตัวชิงผู้ว่าฯกทม. ดังนั้น จึงไม่ใช่นโยบายลอยๆ ที่แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สงสัยจะทำได้ทั้งหมดหรือไม่ โดยหารู้ไม่ว่านโยบายเหล่านี้มาจากเสียงความคิดเห็นของประชาชนล้วนๆ

จึงเป็น 214 ข้อที่ชาว กทม.ให้ความเชื่อมั่นเทคะแนนเสียงอย่างล้นหลามเกือบ 1.4 ล้านเสียง ทิ้งแต้มห่างผู้สมัครทั้งหมด

ที่น่าสนใจ นโยบายจำนวนมากมาย หากได้อ่านดูในรายละเอียดจะพบว่าไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯเท่านั้นที่อยากให้เป็น แต่คนทั้งโลกที่อาศัยในเมืองหลวงใหญ่ๆ ก็ล้วนอยากได้เช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงมลภาวะอากาศที่เป็นพิษ หรือปัญหาของขยะ ไปจนถึงการดูแลชีวิตประชาชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

เป็นความท้าทายหนึ่งที่ชัชชาติและทีมงานเชื่อว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีนับจากนี้ กรุงเทพฯต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image