เลือกตั้งผู้ว่าฯ… สองมาตรฐานรัฐไทย

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ถูกตีความว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายค้านต่อรัฐบาล และฝ่ายประชาธิปไตยต่อฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นไม่เกินกลางปี 2566 เท่านั้น

แต่ทำให้เสียงเรียกร้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หรืออย่างน้อยจังหวัดที่พร้อมก่อนดังกระหึ่มขึ้นอีกครั้ง

ภาคประชาชนบางจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น เดินหน้าสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คิดอย่างไรกับเรื่องนี้

สิทธิในการจัดการตนเองควรได้รับการปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกับคนกรุงเทพฯ พวกเขาไม่ควรเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะเพียงแค่เป็นคนต่างจังหวัด

Advertisement

ก่อนหน้านี้การเรียกร้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเกิดขึ้นและดำเนินมาเป็นเวลานาน แต่ไม่เคยประสบผลสำเร็จ

ฝ่ายคัดค้านไม่สนเหตุผลอื่น ยืนกระต่ายขาเดียวมาตลอดว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวไม่อาจแบ่งแยกได้ แถมยัดเยียดข้อหาให้ฝ่ายเรียกร้องว่าต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสาธารณรัฐ ไปโน่น

แม้จะถูกตอบโต้ว่าเป็นข้ออ้างอมตะ แผ่นเสียงตกร่อง เพื่อคงอำนาจ อิทธิพลและผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจส่วนกลางไว้ ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็ตาม

Advertisement

เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทางปฏิบัติเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการบริหารการปกครอง จาก 3 ระดับ คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้เหลือเพียงส่วนกลางและท้องถิ่น

การเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าว ไม่ใช่กระทบแค่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกุมอำนาจแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น แต่กระเทือนถึงส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ ทุกแห่งที่มีผู้แทนอยู่ในจังหวัด บทบาทอำนาจ อิทธิพล ผลประโยชน์ของผู้แทนส่วนราชการเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลง มาขึ้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

รัฐและราชการไทยจึงไม่เคยยินยอมให้ข้อเรียกร้องนี้เป็นจริง และไม่ยอมให้เกิดการออกเสียงประชามติเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด เพราะคาดผลล่วงหน้าได้ว่าจะออกมาอย่างไร

นอกจากให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่คงอยู่ใต้อำนาจของส่วนกลางผ่านราชการส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ อยู่เช่นเดิม

ปัญหาความทับซ้อนของบทบาทและอำนาจระหว่างจังหวัดกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงคาราคาซังมาถึงขณะนี้

แม้บางช่วงจะมีการประนีประนอมต่อรอง โดยเสนอแนวทาง ไม่ต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแต่ให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพแทน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ให้ราชการส่วนกลางมอบอำนาจในจังหวัดให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดกว้างขวางมากขึ้น ให้จังหวัดเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ จัดตั้งทำคำของบประมาณได้เอง รับงบประมาณโดยตรง

กำหนดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้มีคณะกรรมการจังหวัดทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ความเห็นชอบการจัดทำแผนบริหารราชการของจังหวัด

แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่มีความคืบหน้า เพราะยิ่งเป็นการเเพิ่มอำนาจและบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ส่วนราชการกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ สูญเสียอำนาจ จึงไม่ยินยอมกระจายอำนาจไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนเป็นปัญหาระหว่างส่วนราชการ ข้าราชการด้วยกันเอง ไม่ใช่ปัญหาของพี่น้องประชาชน

การที่เสียงเรียกร้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคและเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่บรรลุผล นอกจากเพราะความแข็งแกร่งของระบบราชการ หรือพรรคราชการแล้ว สาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากพลังทางสังคมไม่เข้มแข็งมากพอที่จะกดดันให้พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองที่เคยเสนอนโยบายนี้ ยืนหยัดผลักดันอย่างจริงจัง แต่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเพราะเกรงเสียคะแนนนิยม ถูกต่อต้านจากข้าราชการ

เมื่อผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ปรากฏจนเกิดกระแสเรียกร้องเลือกตั้งผู้ว่าฯในจังหวัดอื่นๆ ตามมา จะทำให้การแข่งขันนำเสนอนโยบายกระจายอำนาจเข้มข้นกว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนๆ

การลุกขึ้นมาทวงถามสิทธิของประชาชนในต่างจังหวัดจะหนักหน่วงขึ้น มีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงอย่างแน่นอน

ระหว่าง โมเดลเต็มรูป ยกเลิกส่วนภูมิภาคและเลือกตั้งผู้ว่าฯพร้อมกันทั่วประเทศ กับค่อยเป็นค่อยไปเริ่มในจังหวัดที่พร้อมก่อน หรือปรับโครงสร้างอำนาจผู้ว่าฯกับส่วนราชการอื่นๆ ใหม่

ผู้สมัครและพรรคไหนเสนอทางเลือกที่แหลมคมกว่า ตอบโจทย์ได้ดีกว่า ย่อมมีโอกาสมากกว่า

เพราะทำให้อำนาจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจริงได้ ไม่ใช่แค่น้ำยาบ้วนปากของกลุ่มการเมืองหลอกให้หลงเชื่อ แต่เมื่อได้อำนาจแล้วกลับบอดใบ้เสียอย่างนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image