ครบเทอม แน่หรือ

ครบเทอม แน่หรือ

ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2566 ของสภาผู้แทนราษฎร จาก ส.ส. 474 คน รัฐบาลได้ 269 คะแนน ฝ่ายค้าน 208 คะแนน เป็นอันว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านด่านแรกของสมัยประชุมสุดท้ายไปได้ก่อนครบวาระ 4 ปี ต้นปีหน้า

การที่ฝ่ายรัฐบาลชนะเพราะ ส.ส.ฝ่ายค้าน 14 คน ก่อกบฏ ยกมือเห็นชอบประกอบด้วย เพื่อไทย 7 คน ลาประชุม 2 คน ก้าวไกล 4 คน และประชาชาติ 1 คน

กล้าลงคะแนนสวนมติพรรค โดยรู้ทั้งรู้ว่าต้องถูกลงโทษแต่ก็ไม่แยแส ตรงข้ามพร้อมเผชิญหน้าทุกรูปแบบ ไม่ว่าถูกตัดขาดไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม จนกระทั่งขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

เพราะถึงอย่างไรก็ยังไม่ขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้หาพรรคใหม่สังกัดได้ภายใน 30 วัน

Advertisement

เหตุผลที่กบฏฝ่ายค้านยกขึ้นมาอ้าง ไม่เห็นด้วยกับมติพรรคที่ให้ลงคะแนนคว่ำ เพราะเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเป็นกฎหมายสำคัญมีผลต่อการนำเงินไปใช้บริหารราชการแผ่นดิน ลงคะแนนให้ความเห็นชอบเป็นประโยชน์มากกว่าคว่ำ แล้วใช้วงเงินตามกรอบงบประมาณปีก่อน

อ้างความถูกต้อง ยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนมาก่อนมารยาททางการเมือง ว่างั้นเถอะ ฟังดูดี มีเหตุผล

แต่ความจริงอีกด้านที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ ผลประโยชน์ของตัวเองด้วยเหมือนกัน

Advertisement

เพราะแต่ละคนไม่มั่นใจในอนาคตทางการเมือง จะมีโอกาสได้รับการคัดเลือกให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และจะได้รับชัยชนะหรือไม่ หากยังอยู่ในสังกัดพรรคเดิมต่อไป

ด้วยเงื่อนไขจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและการแสวงหาความมั่นใจในอนาคตทางการเมืองของตัวเอง จึงเข้าทาง เป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลได้คะแนนเสียงมากกว่า ยืดอายุต่อไปได้อีก

คะแนนที่ปรากฏทำให้ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของบางสำนักสะท้อนออกมาทันทีว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสอยู่ครบเทอม 4 ปีถึงมีนาคม 2566

ดูจากคะแนนเสียงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเป็นหลักอย่างเดียว ก็มีเหตุผลทำให้คิดหวังไปเช่นนี้ได้

แต่ในความเป็นจริง ความเป็นไปทางการเมืองมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายเข้ามาประกอบกัน ไม่ใช่แค่เหตุและผลอย่างเดียว แต่มีทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความหลัง ความรัก ความแค้น สุดท้ายจบที่ผลประโยชน์

ถึงรัฐบาลจะผ่านด่าน พ.ร.บ.งบประมาณไปได้ พรรคฝ่ายค้านยังเดินหน้าต่อด้วยการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล กำหนดยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 15 มิถุนายนนี้

สถานการณ์การลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีแต่ละคน ตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรี จะปรากฏออกมาอย่างไร จะเป็นไปทำนองเดียวกันกับมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณหรือไม่ ยังไม่มีใครยืนยันได้

แต่ที่แน่นอนคือ เงื่อนไข ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินลงมติของ ส.ส.แต่ละคน แต่ละกลุ่มแตกต่างไปจากการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณอย่างชัดเจน

เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องของพฤติกรรม ความน่าสงสัยเคลือบแคลงต่อการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติตัวของรัฐมนตรีแต่ละคน

กรณีที่กำลังอื้อฉาวเกิดข้อโต้แย้งบานปลายยังไม่จบ หนึ่งในรายการซักฟอกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบแน่นอน คือโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก

ไม่ว่ารัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกจะตอบคำถาม หักล้างข้อสงสัยของฝ่ายค้านได้กระจ่างชัดเจน หรือไม่ชัด แค่ไหนก็ตาม

ย้ำนะครับ การเมืองไม่ใช่เรื่องของเหตุและผลแค่นั้น แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ อารมณ์ ความรู้สึก ความคับแค้น ความหลังครั้งเก่าก่อนมาประกอบกัน เมื่อถึงเวลาแค้นต้องชำระ อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

หากยังไม่ลืมสถานการณ์ก่อนที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อครั้งฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คราวก่อน

เกิดความขัดแย้งแบ่งเป็นสองขั้วในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำพรรคกลุ่มหนึ่งโดดอุ้มหัวหน้ารัฐบาลเต็มตัว ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์รอดพ้นวิกฤตไปได้ รอยร้าวบาดหมางมาจนถึงวันนี้

ท่าทีการลงมติของ ส.ส.พรรคเล็กและเศรษฐกิจไทยเที่ยวนี้ จะแตกต่างไปจากการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ อย่างน่าจับตาทีเดียว

รายการไม่ไว้วางใจทั้งๆ ที่รู้ว่าผลที่จะตามมาคือการยุบสภาก็ตาม มีโอกาสเกิดขึ้นได้

เพราะคิดว่าเวลาเหลืออีกไม่นานถึงอย่างไรต้นปีหน้าก็ต้องเลือกตั้งใหม่แน่นอนอยู่แล้ว รัฐบาลอยู่ครบเทอมหรือไม่ครบจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป

สำคัญที่ว่า เวลาที่เหลืออยู่ทำอะไรที่เกิดประโยชน์ ผลักดันกฎหมายอะไรที่ควรจะออกมาใช้ได้สำเร็จ

เช่น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งล้วนจำเป็น เกิดประโยชน์ในระยะยาว

อยู่เพื่อจะอยู่ต่อไป อยู่นานแต่ผลงานไม่ดี ก็ไร้ความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image