ภาพเก่าเล่าตำนาน : ครูฟิลิปปินส์…ในไทย โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

1 มิถุนายน 2565 ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ารับหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากคะแนนเสียง 1.38 ล้านเสียง

หลังรับตำแหน่ง ในอำนาจของผู้ว่าฯ มีการลงนามแต่งตั้ง รองผู้ว่าฯ 4 คน แต่งตั้งเลขานุการ ผู้ช่วยเลขาฯ 4 คน และแต่งตั้งที่ปรึกษา 9 คน

ผู้เขียนได้รับความกรุณาจาก ผู้ว่าฯกทม. ให้ทำหน้าที่ “ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร”

ทั้ง 9 คน มีหน้าที่เฉพาะที่ได้รับมอบ จะสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ 214 แผน ที่หาเสียงไว้

Advertisement

ภารกิจของผู้เขียน ที่ชัดเจน คือ การดูแลโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง ที่กระจายอยู่ใน 50 เขต ซึ่งได้เคยเดินทางไปแวะเยี่ยม พูดคุยกับครู นักเรียน เพื่อหาข้อมูลมาก่อนบ้างแล้ว

มาอยู่กรุงเทพฯ ค่อนชีวิต แทบไม่ค่อยรู้เรื่องเลยว่า กทม.มีโรงเรียนในความรับผิดชอบถึง 437 แห่ง กระจายกันใน 50 เขต

กทม.มีศูนย์ดูแลเด็กอ่อน-เด็กเล็กที่เริ่มรับเด็กเข้าไปดูแต่ตั้งแต่ประมาณ 2 ขวบครึ่ง ไปจนถึงเข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งในระดับอนุบาลและประถม มีจำนวน 291 ศูนย์

มีเด็กอ่อนในการดูแลประมาณ 25,000 คน มีพี่เลี้ยงแบบอาสาสมัครราว 2,000 คน (ข้อมูลปี 2562)

กทม.มีมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (NMU) เป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตแพทย์ ลำดับที่ 10 ของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยนี้ ถือกำเนิดจาก “วชิรพยาบาล” เป็นมหาวิทยาลัยที่ร่วมผลิตบัณฑิตแพทย์กับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นหน่วยงานในกำกับของกรุงเทพมหานคร

มีโรงพยาบาลในสังกัด 11 แห่ง มีโรงรับจำนำ 21 แห่ง

ขอชวนพูดคุยเรื่องโรงเรียนในสังกัด กทม. ที่จัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า EP (English Program) ที่หลายคนอาจไม่รู้จัก

ราว 100 ปีที่แล้ว พ่อ-แม่ ผู้มีอันจะกิน มีฐานะทางการเงินดีในสยามประเทศ มีค่านิยมส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนชื่อ “แบบฝรั่ง”

ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน มาเป็นครู

ต้องยอมรับว่า ชื่อโรงเรียน อัสสัมชัญ เซนต์คาเบรียล กรุงเทพ คริสเตียน มาแตร์ เซนต์ฟรัง …เค้ามีชื่อเสียงกระหึ่ม ครูฝรั่งชาย-หญิงมาสอนเรื่องระเบียบวินัย วิชาการ รวมถึงการเผยแผ่ศาสนา

เพื่อพระคริสต์…บาทหลวง นักบุญชายหญิงทั้งหลาย ยังดั้นด้นไปตั้งโรงเรียนสอนหนังสือในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เข้าหากลุ่มคนไทย ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลแบบไม่กลัวความยากลำบาก

บาทหลวง นักบวช สอนหนังสือได้ทั้งภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส สร้างเยาวชนไทยให้มีหน้าที่ การงานสูงส่ง มีความรู้แบบโลกตะวันตก

จบมัธยม 8 พูด อ่าน ฟัง ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ในระดับที่ดีมาก

มีการแข่งขันกัน …ระหว่างการใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสในประเทศไทย ในที่สุด โรงเรียนภาษาอังกฤษได้รับความนิยมมากกว่า (ซึ่งก็เกิดขึ้นแทบทุกแห่งในโลก) ทั้งในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมและมิใช่อาณานิคม

โรงเรียนชื่อดังกลุ่มนี้ในไทย ครูจะพูด สอน และตั้งใจที่จะให้นักเรียนพูดภาษาอังกฤษ ใช้ตำราเรียนภาษาอังกฤษ

เรียกครู อาจารย์ว่า บราเดอร์ ซิสเตอร์

ส่วนโรงเรียนรัฐบาล เรียกว่า “โรงเรียนหลวง” ก็เป็นแหล่งบ่มเพาะเยาวชนคนเก่ง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ว่าจ้างชาวต่างชาติเข้ามาสอนวิชาการ …โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

อาทิ…โรงเรียนสวนกุหลาบ เทพศิรินทร์

ค่านิยม…ความพึงพอใจของพ่อ-แม่ ที่มีฐานะ ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน ที่จะต้องให้ลูก หลาน เข้าไปเรียนชื่อดังเหล่านี้ให้จงได้…

โรงเรียนชื่อแบบฝรั่งในประเทศไทยเหล่านี้ ครองใจ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองแบบ “เท่าไหร่-เท่ากัน” ตัวเลข 6 หลัก 7 หลัก เรื่องเล็ก

ต้องฝาก ต้องวิ่งเต้น หาคนรู้จัก คนใหญ่โต เพื่อฝากเข้าเรียน

การจราจรหน้าโรงเรียน จะติดขัดแค่ไหน ก็ไม่หวั่น มีคนขับรถ แถมบางครอบครัว ถึงขนาดย้ายที่อยู่ มาซื้อ มาเช่าบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนให้มันรู้แล้ว รู้รอดไปซะเลย

เหตุผล คือ มั่นใจว่าโรงเรียนนี้ดี มีชื่อเสียง มีสังคมดี

ในความต้องการที่แฝงเร้นอยู่ คือ การเรียน การสอนภาษาอังกฤษ ที่มีความเหลื่อมล้ำ แตกต่างกัน อย่างชัดเจน

คนไทยกันเอง ก็สอนกันได้ หากแต่ การมี “เจ้าของภาษา” มาพูด มา อ่าน เขียน ด้วยในชั้นเรียน จะเป็นความมั่นใจ ดูดีกว่าเยอะ…

การ ฟัง พูด เขียน อ่าน ภาษาอังกฤษให้ได้ คือ สุดยอดปรารถนาที่จะสร้างอนาคตให้ลูกหลาน

มิใช่การ “เห่อเหิม” …แต่ภาษาอังกฤษ คือ หลักประกันชีวิต

ที่วิเศษ เหนือชั้นไปกว่านั้น คือ ส่งลูกไปเรียนในต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เป็นแบบนี้มานานนับร้อยปีมาแล้ว

เศรษฐี ผู้มีอันจะกินทั้งหลายทั่วโลก ก็มีค่านิยม เช่นนี้…

ดังนั้น ประเทศอังกฤษ อเมริกา และ ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ จึงเป็น “เบ้าหลอม” เยาวชนทั่วโลก และประเทศเหล่านี้ ก็มีรายได้มหาศาล เข้าประเทศจาก “การศึกษา”

70-80 ปีที่แล้ว ถ้าไม่อยากไปไกลนัก ก็ไปเรียนที่เมืองปีนัง

แม้กระทั่ง ประเทศอินเดีย ที่ใช้ภาษาอังกฤษ ก็มีโรงเรียนที่คนไทยส่งลูกไปเรียนไม่น้อย

สังคมไทย เข้าใจ ยอมรับความจริงเรื่อง ภาษาอังกฤษ เริ่มตื่นตัวเมื่อมีการวัดผลจากสถาบันต่างๆ …เด็กไทยมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในระดับต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน

จ้างฝรั่งชายหญิงมาสอน ก็แสนจะแพง เงินเดือนเป็นแสน

โรงเรียนชื่อดังทั้งหลาย ก็นำลูกเข้าไปเรียนไม่ได้

โรงเรียนหลายแห่งในต่างจังหวัด ก็ต้องการพัฒนา ต้องการมีครูต่างชาติมาสอน มีอาสาสมัครจากยุโรป อเมริกา มาจำนวนหนึ่ง

จะจ้างแบบ “ถาวร” …ก็แสนแพง สู้ไม่ไหว

“ตัวเลือก” ของครูสอนภาษาอังกฤษ ที่จะเข้ามาสอนในไทยที่มีคุณภาพ และอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมของเงินเดือน ค่าจ้าง คือ ชาวเมียนมา ชาวฟิลิปปินส์

ชาวฟิลิปปินส์ มีข้อได้เปรียบชนชาติอื่นๆ ในอาเซียน คือ การใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน

ดินแดน “ร้อยเกาะ” แห่งนี้ เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนราว 300 ปี และอยู่ใต้การปกครองของอเมริการาว 50 ปี

อเมริกาถ่ายทอด การเมือง การปกครอง ภาษาให้ชาวฟิลิปปินส์

โรงเรียน วิทยาลัย ในประเทศไทยจำนวนมาก จ้างชาวฟิลิปปินส์มาสอนภาษาอังกฤษและวิชาอื่นๆ ที่ต้องการ

ขออ้างอิงมูลจากคุณ ภัสสร มิ่งไธสง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ว่า

“…การเปิดเสรีอาเซียนใน พ.ศ.2558 ส่งผลให้มีแรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก ฟิลิปปินส์มีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก และไทยเป็นประเทศเป้าหมายหลักของแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์

โดยเฉพาะใน พ.ศ.2561 มีชาวฟิลิปปินส์ได้รับอนุญาตให้ทำงานในไทยจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยคิดเป็นร้อยละ 64.3

แรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ทำงานในตำแหน่งการสอน กลุ่มวิชาชีพครู อาจารย์ วิชาชีพด้านการสอนเป็นจำนวนมากที่สุด

ใน พ.ศ.2558 มีจำนวน 7,475 ตำแหน่ง …พ.ศ.2561 มีชาวฟิลิปปินส์มีจำนวนรวมสูงถึง 12,524 ตำแหน่ง และมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก…”

ครูชาวฟิลิปปินส์บางคนพูดสำเนียงคนอเมริกัน ผู้สอนบางคนมีสำเนียงภาษาอังกฤษแบบฟิลิปปินส์

ครอบครัวผู้มีฐานะดีในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง ลงทุนจ้างแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์มาทำงาน เลี้ยงเด็กในบ้าน เพื่อให้เธอเหล่านั้นพูดภาษาอังกฤษกับเด็กๆ ซึ่งก็ได้ผล เด็กน้อยซึมซับโดยธรรมชาติ

รศ.ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน นายกสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสถาบันภาษา มธ. กล่าวทาง PPTV Online เมื่อเดือนกันยายน 2563 ว่า…

“…ที่ผ่านมาสถาบันต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ต่างพยายามหาครูผู้เป็นเจ้าของภาษาอังกฤษ มาสอนเด็กนักเรียนเพื่อพัฒนาด้านภาษา ซึ่งตามปกติแล้ว ในประเทศไทย จะมีครูต่างชาติ สัญชาติอเมริกัน อังกฤษ แคนาดา ฟิลิปปินส์ อินเดีย เมียนมา ซึ่ง 3 สัญชาติแรก จะมีอัตราเงินเดือนที่ดีกว่า เนื่องจากเป็นเจ้าของภาษา

ส่วน 3 สัญชาติต่อมา เงินเดือนจะถูกลง ตรงจุดนี้ หลายสถาบันจึงเลือกที่จะจ้างครูผู้สอน 3 สัญชาติหลัง ทำให้ 3 สัญชาติแรก จะเลือกไปทำงานที่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น มากกว่า…

สำหรับครูต่างชาติ ในแต่ละสถาบัน จะมีไม่มาก ประมาณ 1-2 คน หากเป็นมหาวิทยาลัย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เงินเดือนสวัสดิการต่างๆ จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ขณะที่โรงเรียนนานาชาติจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน…

รศ.ดร.สุพงศ์ยังกล่าวต่อว่า…

…ส่วนการจะเข้ามาเป็นครูสอนภาษานั้น ตามปกติแล้ว ครูเหล่านี้จะเข้ามาในประเทศไทยด้วยวีซ่า นักท่องเที่ยว ก่อนมาสมัครงานตามสถาบันต่างๆ โดยมีเอกสารวุฒิการศึกษา เอกสารประสบการณ์การสอนที่ผ่านมา จากนั้นทางสถาบันจะสอบคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียน สัมภาษณ์เพื่อดูทัศนคติ เมื่อผ่านแล้ว ทางสถาบันจะต้องดำเนินการเรื่องขอ work permit หรือหนังสือรับรองการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาปีต่อปี

แต่ต้องยอมรับว่า การขอหนังสือรับรอง มีระบบที่ค่อนข้างยุ่งยาก ครูสอนภาษาในประเทศไทยในปัจจุบัน จึงเลือกที่จะใช้วิธี ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เมื่อครบกำหนด ก็เดินทางออกไปประเทศเพื่อนบ้านก่อน แล้วกลับมาประเทศไทย เพื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง

ส่วนโรงเรียนต่างๆ ปัจจุบัน นอกจากจะเปิดรับสมัครเองแล้ว จำนวนมาก ยังใช้วิธีหาครูผ่านเอเยนซีต่างๆ โดยจะกำหนด สัญชาติ เงินเดือน ตามความพร้อม และสามารถจ่ายเงินเดือนได้…”

กทม.เปิดหลักสูตรอิงลิช โปรแกรม สอน 2 ภาษา(EP) ในโรงเรียน 2 แห่งอย่าง เมื่อปี 2544 คือ ร.ร.วัดมหรรณพาราม เขตพระนคร และ ร.ร.เบญจมบพิตร เขตดุสิต

ปัจจุบัน พ.ศ.2565 กทม. มีโรงเรียนแบบ EP ถึง 69 แห่ง

หลักสูตร EP ของ กทม. ฟรีทุกอย่าง ทั้งค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน เครื่องแบบ และอาหารกลางวัน

ปกติแล้วหลักสูตร EP ในโรงเรียนรัฐบาลราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3.5 หมื่นบาทต่อปีขึ้นไป

เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้

7 มิถุนายน 2565 ช่วงบ่าย…ผู้เขียนในฐานะที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. แวะไปเยี่ยมชม ร.ร.วัดมหรรณพาราม (แบบไม่แจ้งล่วงหน้า) ได้พูดคุยกับ ผอ.สุธาศินี รอดดอนไพร
เล่าให้ฟังว่า…

…โรงเรียนแบบ EP จะสอนเป็นภาษาอังกฤษ 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ศิลปะและสุขศึกษา ครูที่สอนทั้งหมดเป็นชาวฟิลิปปินส์

ผู้เขียนไปนั่งฟัง การสอน ดูปฏิกิริยาของนักเรียน ป.4 พอครูถามคำถาม นักเรียนในห้องยกมือกันพรึบ… ขอตอบคำถาม…

(ต่างกับลักษณะนิสัยเด็กสมัยก่อน ที่ชอบนั่งเงียบๆ ไม่ขอตอบ)

ส่วนวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา พลศึกษา และการงานพื้นฐานอาชีพ จะสอนเป็นภาษาไทย

หนังสือเรียน สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือออสเตรเลีย….ที่สำคัญคือครูทั้งสองโรงเรียนมีครูชาวต่างชาติเพียงพอตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการระบุไว้

ร.ร.เบญจมบพิตร มีครูต่างชาติ 6 คน ส่วน ร.ร.วัดมหรรณพาราม มี 5 คน หลักสูตร EP ของ ร.ร.กทม. คิดแล้วแค่ 2 หมื่นบาทต่อปี

เมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนแล้ว นับว่าค่าใช้จ่ายถูกมาก

เมื่อได้พูดคุยกับครูฟิลิปปินส์ ทั้งหมดพอใจกับงาน เงินตอบแทน การใช้ชีวิตในประเทศไทย …ครูบางคนอยู่ต่างจังหวัดมาก่อน

มีปัญหาจุกจิก ในเรื่องขั้นตอนการได้รับอนุญาตทำงานพอสมควร ที่ควรต้องได้รับการแก้ไข

เรื่องของ wifi ที่ยังใช้การได้ไม่ดีนัก และเรื่องอื่นๆ ที่ผู้ว่าฯกทม. มีนโยบายเรื่อง “การศึกษาดี” จะต้องดำเนินการอย่างไม่ชักช้า

คาดว่ามีครูชาวฟิลิปปินส์…เข้ามาทำงานในไทยมากกว่า 1.5 หมื่นคน กระจายกันอยู่ในสถานศึกษาทุกระดับ

ภาษาอังกฤษ…จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของลูกหลาน

โรงเรียนในสังกัด กทม. พร้อมที่จะสอนลูกหลานได้อย่างมีคุณภาพ…ไม่แพ้โรงเรียนเอกชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image