ภาพเก่าเล่าตำนาน : ตลาดน้ำขวัญเรียม…ที่แสนรื่นรมย์ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขอเชียร์ให้ไปเที่ยวที่นี่ครับ… “หงส์แตร” สีขาวราว 20 ตัวจากประเทศฟินแลนด์ว่ายน้ำอยู่ในคลอง…สวยสง่า น่ารัก หาชมได้ยาก

“ตลาดน้ำขวัญเรียม” ตั้งอยู่ระหว่างซอยเสรีไทย 60 และซอยรามคำแหง 187 หรือที่รู้จักกันดีว่า วัดบำเพ็ญเหนือ และวัดบางเพ็งใต้ มีเรือวิ่งในคลองแสนแสบผ่านไป-มา ผ่านกลางตลาด

ทางเข้าวัด ปรากฏป้ายบอกชัดเจน… พื้นที่ตลาดเก๋ไก๋ สบายตา อยู่ 2 ฟากของชายฝั่งคลองแสนแสบ

ถ้าจอดรถในวัดบางเพ็งใต้จะมีสะพาน 2 แห่ง เดินข้ามคลองไปวัดบำเพ็ญเหนือ พื้นที่ลานวัดสะอาด ที่จอดรถกว้างขวาง เป็นระเบียบ

Advertisement

สะพาน… ถูกออกแบบอย่างมีศิลปะ ระหว่างเดินบนสะพาน มีเรือโดยสารแบบใช้พลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่วิ่งให้เห็น พื้นที่บนหลังคาเรือ คือแผงโซลาร์เซลล์รับแสงแดด ไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์

มีแต่เสียงเรือที่กระทบน้ำ…แผ่วเบาเหมือนเสียงกระซิบ เป็นเรือของ กทม. ใช้บริการผู้เดินทางในคลองแสนแสบ มีท่าเรือจากวัดศรีบุญเรือง-สำนักงานเขตมีนบุรี…เรือขนาด 40 ที่นั่ง ระยะทาง 10.50 กม. จำนวน 12 ท่าเรือ

จากท่าเรือวัดศรีบุญเรือง จะมีเรือของเอกชนให้บริการต่อไปจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ รวมระยะทางทั้งสิ้น 18 กม.

Advertisement

น้ำในคลองบริเวณวัด สะอาดพอจะให้มีฝูงปลาสวายหลายร้อยตัว คลาคล่ำ เบียดเสียด รอรับการโปรยอาหารจากนักท่องเที่ยว

เมื่อเดินข้ามไปถึงปลายทาง คือพื้นที่ของวัดบางเพ็งเหนือ ที่ถูกออกแบบเป็นตลาด 2 ชั้น ที่โปร่ง โล่ง สะอาด

ตลาดน้ำขวัญเรียมถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดที่อยากจะจำลองชีวิตของชาวคลองแสนแสบทั้งบนบก และในน้ำ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตริมน้ำ

วัดบำเพ็ญเหนือ วัดบางเพ็งใต้ ทั้ง 2 วัดอยู่ตรงข้ามกัน

ในช่วงเช้าจะมีพระออกบิณฑบาตทางเรือ สำหรับนักท่องเที่ยวสายบุญที่ประสงค์จะใส่บาตร

ขอเล่าประวัติของคลองแสนแสบ…

คลองยาว กว้างขนาดนี้…ไม่มีเครื่องจักร…ใช้คนขุดจนเสร็จ

คลองแสนแสบ คือคลองที่ในหลวง ร.3 โปรดเกล้าฯ ให้จ้างแรงงานคนขุดขึ้นตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

บรรพบุรุษสยามมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกล ขุดคลองนี้เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เดินทางมาพระนคร ขนส่งสินค้า

มีความยาวประมาณ 73.8 กิโลเมตร เชื่อมคลองสายย่อยมหาศาล

คลองแสนแสบช่วงที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร

ช่วงที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ส่วนกรมเจ้าท่าจะดูแลในส่วนของยานพาหนะที่สัญจรในคลองแสนแสบ

จุดเริ่มต้น…อยู่ที่คลองมหานาคตรงบริเวณป้อมมหากาฬ ในกรุงเทพฯ แล้วสิ้นสุดลงที่แม่น้ำบางปะกง

ส่วนตั้งแต่ช่วงคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงหัวหมากนั้น (เรียก คลองแสนแสบเหนือ) ยังไม่พบหลักฐานว่าขุดขึ้นเมื่อใด

ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ สยามส่งกำลังทหารเข้าไปตั้งในดินแดนอันนัม (ส่วนหนึ่งของกัมพูชาปัจจุบัน) กองทหารสยามต้องได้รับการดูแล ส่งกำลังบำรุงอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เจ้าพระยาบดินทรเดชา คือแม่ทัพใหญ่ที่ปกครองดินแดนส่วนนี้ยาวนานถึง 14 ปี

การขุดคลองเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.2380 และใช้ค่าใช้จ่ายไป 96,000 บาท ใช้เวลาขุดราว 3 ปี

ผู้ดูแลในการขุดคลองคือ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ภายหลังเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้เข้ามาดูแลการขุดคลองแสนแสบแทน เนื่องจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาต้องคุมทัพไปปฏิบัติราชการ ณ เมืองไทรบุรี

ท่านฯไปราชการสงคราม..กลับมาพร้อมกับ “คน” กลุ่มใหญ่

พ.ศ.2382 หลังจากที่พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ยกทัพไปจัดการหัวเมืองมลายูแล้ว ขากลับตอนยกทัพกลับมาได้กวาดต้อนชาวมลายูเมืองกลันตันและไทรบุรี มาตั้งชุมชนอยู่ริมคลองแสนแสบ ให้ที่ทำกิน ตั้งถิ่นฐาน

ซึ่งก็คือชุมชนมุสลิมในพื้นที่หนองจอก มีนบุรี ในปัจจุบัน มีที่ทำกิน มีน้ำในคลองแสนแสบทำการเกษตร

วิธีการขุดคลองคือ ใช้คนขุดเป็นแนว ลึกลงไป แล้วต้อนกระบือ เหยียบย่ำลงไปในโคลนเลนที่ขุดไว้ เพื่อให้ลำคลองมีความลึก

มีบันทึกว่า แรงงานที่ขุดส่วนใหญ่เป็น “ชาวจีน” ที่อพยพเข้ามา

จุดประสงค์หลักในการขุดคลอง เพื่อใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงเพื่อลำเลียงทหาร เสบียงอาหาร ไปสู่ดินแดนในกัมพูชา ทำไปทำมาเกิดผลประโยชน์ทางด้านการค้าอย่างมหาศาล

เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร น้ำตาล และข้าว รวมถึงสินค้าต่างๆ

มีการตั้งด่านภาษีขึ้นบริเวณที่ปัจจุบันคือ “วัดภาษี”

คลองขนาดมหึมา ผ่านพื้นที่ย่านมหานาค ประตูน้ำ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตปทุมวัน เขตราชเทวี เขตวัฒนา เขตห้วยขวาง เขตสวนหลวง เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตสะพานสูง เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา และเขตหนองจอกไปออกแม่น้ำบางปะกงที่เขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา

มีความยาวประมาณ 73.8 กิโลเมตร

คลองแสนแสบ…ดังทะลุฟ้าเมืองไทย เมื่อเป็นบทประพันธ์

พ.ศ.2479 ไม้ เมืองเดิม ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “แผลเก่า” โดยมีเรื่องราวของความรักที่เกิดขึ้นในพื้นที่คลองแสนแสบ ความรักของชายหนุ่มชื่อขวัญ สาวชนบทชื่อเรียม ถูกนำมาตีพิมพ์

ทุ่งนาอันกว้างใหญ่ ต้นข้าว ควายที่ใช้ไถนา ท้องฟ้าสวยใส และคลองแสนแสบ คือพื้นที่แห่งความรักของชายหนุ่ม หญิงสาว…ท่ามกลางอุปสรรคจบลงด้วยโศกนาฏกรรม

พ.ศ.2483 “แผลเก่า” ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก และสร้างขึ้นครั้งที่ 2 พ.ศ.2489

พ.ศ.2520 เชิด ทรงศรี นำนวนิยายรักตรึงใจ กลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้ง ทำสถิติรายได้สูงสุดเมื่อออกฉายครั้งแรก ลบสถิติภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เข้าฉายในเวลานั้นทั้งไทยและต่างประเทศ

ขวัญ กับ เรียม ความรักเคล้าน้ำตา…ทุกคนจดจำได้ดี

ภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นไทยเรื่องนี้เป็นอมตะ ถูกนำไปฉายในต่างประเทศ

พ.ศ.2524 แผลเก่า…ได้รางวัลชนะเลิศจากงานประกวดภาพยนตร์ ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส

พ.ศ.2557 สร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายครั้ง

เพลงประกอบ…ขวัญของเรียม กลายเป็นเพลงที่ตราตรึงในใจคนไทย ชื่อของ “คลองแสนแสบ” ไม่เคยจางหายไปจากความนิยม

ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามแนวคลองแสนแสบในปัจจุบัน เป็นผู้ที่เพิ่งโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามา อยู่รวมกันเป็นชุมชน เช่น ชุมชนบ้านครัว ชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม ชุมชนบ้านดอน ชุมชนเทพลีลา ชุมชนวัดไผ่ดำ

การ “ก่อเกิด” ตลาดน้ำ..ตามตำนานรักแสนหวาน

พ.ศ.2554 เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยในภาคกลาง ทหารส่งกำลังไปช่วยสกัดมวลน้ำยักษ์ที่กำลังจะเข้าท่วม “นิคมบางชัน”

กำลังทหารที่มาช่วยปักหลัก ตั้งหน่วย ณ วัดบำเพ็ญเหนือ ยันน้ำไม่ให้ท่วมนิคมบางชันที่อยู่ข้างๆ ได้สำเร็จ อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้น้ำบ่าไปถึงเขตบางกะปิได้ด้วย

เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย คุณเชาวลิต เมธยะประภาส และบริษัทครอบครัวขนส่ง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้สัมปทานการเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบ จึงมีแนวคิดสร้างตลาดน้ำขวัญ-เรียม

มีการปรึกษาหารือกับส่วนราชการ วางแผนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน สร้างแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำในคลองแสนแสบ

คุณเชาวลิตที่ใช้เวลาค่อนชีวิตอยู่กับการเดินเรือ ขอใช้ “ฉากทัศน์” ของคลองแสนแสบเป็นการสร้างตลาด

ขวัญ-เรียม ที่คุ้นเคยกันดีของทุ่งบางกะปิ นำมาเป็นจุดขายในการสร้างเป็นตลาดน้ำ แม้สถานที่ตั้งอาจจะไม่อยู่ในทุ่งบางกะปิโดยตรงแต่ก็อยู่ในคลองแสนแสบเดียวกัน

การก่อสร้าง ธุรกิจที่จะมาเปิดตัว ทุกอย่างเดินไปได้ด้วยดี ราบรื่น

5 มิถุนายน พ.ศ.2555 ตลาดเปิดอย่างเป็นทางการ

ระหว่าง 2 วัดมีสะพานเชื่อมกันอยู่ 2 สะพาน

สะพานอันที่ 1 …เป็นสะพานรูปโครงเรือ ที่แปลกหูแปลกตาไม่น้อย นักท่องเที่ยวไม่พลาดที่จะแวะถ่ายภาพ

แนวคิดการออกแบบสะพานรูปโครงเรือมาจากการที่ คุณเชาวลิต (ชาวบ้านเรียกว่า ลุงถั่ว) เห็นสะพานแห่งหนึ่งในประเทศสเปน จึงปรับมาเป็นรูปทรงเรือให้สอดคล้องกับบริบทไทย

สะพานอันที่ 2 เดิมชื่อ สะพานสมบุญอุทิศ มีจารึกบันทึกการสร้างไว้ พ.ศ.2473 ต่อมาชำรุดผุพัง จึงสร้างขึ้นใหม่ ที่โปร่ง โล่ง

บนสะพานทั้ง 2 มองเห็นวิวคลองแสนแสบไปไกลสุดสายตา

เรือพลังงานไฟฟ้าของ กทม.บริการขนส่งในคลอง

พื้นที่ฝั่งวัดบำเพ็ญเหนือ ถูกออกแบบเป็น 2 ชั้น มีที่นั่งเล่น มีร้านขายของ เสื้อผ้า แว่นตา กระเป๋า ริมคลองมีของขายมากมายทั้งของกินของใช้

ขอชมว่า…สะอาด เป็นระเบียบ โปร่ง โล่ง

ในลำคลองแสนแสบมีเรือขนาดใหญ่ถูกดัดแปลงเป็นร้านขายอาหารมาจอดขายอาหาร เช่น กาแฟและเครื่องดื่มให้นั่งกินนั่งดื่มในเรือ

อาหารทุกชนิด แสนอร่อย

มีฝูงปลาสวายในคลอง กระโจนแย่งอาหารจากผู้มาเที่ยว

มีกรงขนาดใหญ่ เลี้ยงหงส์สีขาวในคลอง ว่ายน้ำไป-มา ให้ได้ชมขณะนั่งทานอาหาร… กลมกลืนกับบรรยากาศ

“หงส์แตร” สีขาว ราว 20 ตัว คือ พระเอกของตลาด ที่ลุงถั่วนำมาจากประเทศฟินแลนด์ เลี้ยงในคลองได้เพื่อพิสูจน์ว่า น้ำในคลองสะอาดพอ

ส่วนทางฝั่งวัดบางเพ็งใต้ เป็นตลาดเก่าแบบตลาด 100 ปี มีร้านกาแฟ ร้านถ่ายรูปโบราณ และมีบริเวณที่มุงหลังคาขายอาหาร ขายของแบบตลาดนัด

มีรูปปั้นขวัญ-เรียมขี่ควาย ด้วยกัน ตามท้องเรื่องภาพยนตร์ “แผลเก่า” ตั้งไว้ข้างๆ กับศาลต้นไทร มีหญ้าเทียมปูพื้นอย่างเป็นธรรมชาติ

ตลาดน้ำขวัญเรียม ถูกจัดสร้าง “ด้วยความรัก” รักที่จะให้คนในท้องถิ่นมีอาชีพ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบสบายๆ ชายขอบกรุงเทพฯ

ถ้าเบื่อการเดินตามห้าง ต้องการอากาศบริสุทธิ์ ให้ลูกหลานได้เห็นชีวิตคนชายคลอง มองอะไรสีเขียวๆ ชมสัตว์น้ำ เรือ อาหารอร่อย

ตลาดน้ำแห่งนี้ คือสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด

ในประเทศไทยควรมีพื้นที่แบบนี้ในหลายชุมชน เพื่อสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นพื้นที่พักผ่อน และอยู่กับธรรมชาติ

ถ้ามีเวลา…ชวนกันไปเที่ยวนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image