ภาพเก่าเล่าตำนาน : นำขยะจากดินแดง…มาสร้างสวนจตุจักร…โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ต้องขอบอกเล่า…ก่อนเลือนหายไปกับกาลเวลา…เมืองไทยเป็นแผ่นดินเกษตรกรรมมาแต่โบราณ

ราว 50 ปีที่แล้วในกรุงเทพฯ ยังมีทุ่งโล่งว่าง มีลมพัด ไม่มีตึกแออัดมาก รถยนต์ไม่เกินล้นถนน จึงไม่มีความต้องการสวนสาธารณะ

สวนจตุจักร (ช่วงแรก-พื้นที่ส่วนหนึ่ง) เกิดขึ้นมาจากการย้าย “ทะเลขยะ” ขนาดมหึมาจากพื้นที่เขตดินแดงมาถม

หน่วยทหาร กรป.กลาง (ในสมัยนั้น) ขนย้าย “ขยะเน่า” หลายพันตัน มาถมพื้นที่ทุ่งโล่งแห่งหนึ่ง มีน้ำขัง มีนกกระยางเดินหากิน ปรับพื้นที่…ให้เป็นสวนจตุจักร

Advertisement

ข้อมูลส่วนหนึ่ง มาจาก “ความทรงจำ” ของผู้เขียน ที่เห็นภาพต่อเนื่องมายาวนานราว 50 ปี

ย้อนไปเริ่มต้นราวปี พ.ศ.2514 เข้าเรียนที่ ร.ร.เตรียมทหาร ถนนพระราม 4 ที่ไม่ค่อยได้ออกมาจากโรงเรียนบ่อยนัก เพราะเป็น “เด็กโรง” พักอยู่ในโรงเรียน

คุณแม่มาเช่าห้องแถวขนาดเล็ก อยู่ลาดพร้าว 64 ให้ลูกๆ 4 คนได้เรียนหนังสือ คุณพ่อเป็นนายทหารอยู่ อ.ปราณบุรี

Advertisement

ปากซอย 64 คือ โรงพิมพ์คุรุสภา

ถนนลาดพร้าว เป็นถนนลาดยางข้างละ 2 เลน ผู้คนยังไม่มาก มีการจัดสรรที่ดินขนาดใหญ่ขายอย่างเอิกเกริกในซอยโชคชัย 4

สะพานลาดพร้าว 1 และ 2 เป็นสะพานทรงสูงโค้ง ให้เรือลอดใต้สะพาน มีบ้านเรือน ตึกแถว 2 ข้างทางแบบเป็นช่วงๆ น้ำในคลองลาดพร้าวยังสะอาดพอลงไปว่ายเล่นได้ บางโอกาส…มีคนทอดแห

โรงเรียนขนาดใหญ่ มีชื่อเสียง คือ โรงเรียนปานะพันธุ์

บ่ายวันอาทิตย์ ต้องออกจากบ้านไปเข้าโรงเรียน แต่งเครื่องแบบมายืนคอยรถเมล์สีเขียวคาดแดง สาย 27 บางกะปิ-ท่าเรือ (คลองเตย) ที่พอมีโอกาสได้นั่งบ้าง ถนนโล่ง มองเห็นข้างทาง

รถเมล์ต้องขึ้นสะพาน 1 และ 2 ผู้โดยสารมีอาการกระเด้งพองาม…ตามความเร็วของรถเมล์

ยังมีรถเมล์ขาวสาย 8 ลาดพร้าว-สะพานพุทธ ที่แสนประทับใจ

เมื่อรถเมล์วิ่งออกมาถึงปากทางลาดพร้าว คือพื้นที่โล่ง โปร่งตา มองไปรอบๆ มันคือ “ทุ่งโล่ง” ในเมืองหลวง เรียกว่า “แยกลาดพร้าว” จำไม่ได้ว่า 3 หรือ 4 หรือ 5 แยก

มีตึกเดียวโดดเด่นในย่านนั้น คือ โรงเรียนเซนต์จอห์น

ถนนที่โก้ที่สุด ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ คือ ถนนชื่อ ซุปเปอร์ไฮเวย์ ดินแดง-ดอนเมือง ผิวถนนเรียบ กว้างใหญ่ เป็นถนนในโครงการพัฒนาถนนร่วมกันระหว่างประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา (ยาว 23.5 กม.) 2 ข้างทางยังโล่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นชื่อถนน “วิภาวดีรังสิต” เมื่อปี พ.ศ.2520

สหรัฐอเมริกามาสร้างถนนให้ในไทยหลายสาย คุณภาพดีเยี่ยม เช่น ถนนมิตรภาพ จากสระบุรีไปอีสาน ในช่วงสงครามเวียดนาม

พูดถึงอดีตกาล…ที่ต้องเล่าแถมเรื่อง “ห้องแอร์”

เครื่องปรับอากาศในยุคสมัยโน้น เป็นเรื่อง “หรูหรา” แบ่งแยกชนชั้น ความรวย ความจนได้เฉียบขาด

สภาพอากาศทั่วๆ ไปในเมืองไทย ในกรุงเทพฯ นั่งรถเมล์ รถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก รถส่วนตัว รถไฟ ก็เปิดหน้าต่าง เปิดกระจกรับลมได้ ไม่เดือดร้อน อากาศก็ไม่ร้อนมากนัก

ถ้าไปรับประทานอาหารในร้านแบบ “ภัตตาคาร” ในกรุงเทพฯ พวกที่นั่งทานแบบธรรมดาก็คือธรรมดา มีพัดลมเพดานแกว่งบนหัว

แต่ถ้าจะเข้า “ห้องแอร์” ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งก็มีลูกค้าที่พอใจจะจ่ายเงินเพิ่ม…เพื่อความสุขที่จับต้องได้จริง

สายตาพวกลูกค้าธรรมดา …แอบจ้องมองคนที่กำลังสำเริง สำราญ ในห้องแอร์แบบมีความใฝ่ฝันที่จะได้เข้าไปบ้าง

ธนาคาร ร้านค้า สถานที่ราชการ โรงเรียน ฯลฯ เปิดหน้าต่าง

ร้านตัดผม ร้านทำผม ชายหญิง ไม่เคยต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศให้เปลืองเงิน เพราะแพงมาก กินไฟอร่อยเหาะ

คนไทยที่ได้ใช้ชีวิตในห้องแอร์ คือ คนระดับสูง เป็นคนสำคัญ

เรื่องของ “สวนสาธารณะ” ยัง “ไม่ใช่เรื่องสำคัญ”

พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.6 ได้พระราชทานที่ดิน 360 ไร่ ณ ทุ่งศาลาแดงสำหรับสร้าง “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” และจัดให้เป็น “สวนสาธารณะ” ให้ประชาชนใช้พักผ่อนอย่างต่างประเทศ (ตามแบบของอังกฤษ)

พระราชทานนามว่า “สวนลุมพินี” จึงถือกันว่าสวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย

สวนลุมฯ เป็นที่พึ่งหลักที่มีรถยนต์วิ่งเข้าไปข้างในได้ สนามหญ้าก็แสนอาภัพ ไร้อนาคต ภาพลักษณ์ของสวนมักออกในทางลบ

ผู้มาใช้พื้นที่ กังวลเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด สิ่งรบกวน

อาหารที่โด่งดังที่สุด คือ เมี่ยงคำ ที่ผู้ขายจะนำถาดโลหะที่มีทุกอย่างในถาดมา “เกาะ” ที่หน้าต่างรถเก๋ง ห้อยอยู่ข้างนอกรถ เหมือนหิ้ง

ลูกค้า นั่งในรถเอื้อมมือ หยิบใบเมี่ยง ใส่ถั่ว ขิง กลีบมะนาว ฯลฯ แล้วห่อ…บีบให้แฟบ…แล้วบรรจงยัดใส่ลงในปาก

ในสวนลุมฯ มีภัตตาคาร ชื่อ “กินรีนาวา” รูปร่างเหมือนเรือ ลอยในน้ำ มีหัวกินรีโดดเด่น

เรื่องสวนสาธารณะ มีหรือไม่มี… ก็ไม่เห็นเดือดร้อน

ผู้ใช้สวนลุมฯ ส่วนใหญ่ จะเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มาร่ายรำมวยจีนไท้เก๊ก-การบริหารลมปราณไท้เก๊ก เพื่อออกกำลังแบบเป็นหมู่คณะในช่วงเช้า

เรื่องการ “วิ่งออกกำลังกาย” สำหรับคนไทยเป็นเรื่อง “แปลก-พิสดาร” ที่หาดูได้ยากในสวนสาธารณะ ใครจะไปวิ่งทำไม (วะ) จะเห็นคนวิ่ง คือ ในค่ายทหาร-ตำรวจ

กรุงเทพฯ พอมีพื้นที่ว่าง โล่ง พอมีลมถ่ายเทได้ น้ำในลำคลองก็พอจะลงเล่นได้ ตกปลาได้

น้ำฝนที่ตกลงมา สะอาดพอจะรอง…เอามาดื่มได้

พื้นที่ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง บนถนนพหลโยธิน มีรถโดยสารสีส้มวิ่งเข้าออกตลอดเวลา คือ ตลาดหมอชิต ที่รวมรถโดยสารวิ่งขึ้นสายเหนือ และภาคอีสาน

รถบัสนับร้อยคัน วิ่งเข้า-ออก มาตัดกับการจราจร เฉอะแฉะ เสียงดังจากการตะโกนของ “เด็กรถ” ที่ต้องตะโกนเรียกผู้โดยสาร

“เด็กรถ” จะเหยียดตัวออกมา โหนราวที่ประตู ส่งเสียงร้องพร้อมกับเสยผมยาวแบบเท่ๆ …เรียกผู้โดยสารขึ้นรถ

รถบัสสีส้มจะวิ่งช้าๆ เพื่อรอคนที่ตกหล่น เพราะมันคือ รายได้

ผู้โดยสารที่จะขึ้นเหนือ ไปอีสาน หลายพันคนในแต่ละวัน จะมารวมกันที่นี่ รวมทั้งพวกที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ

แท็กซี่ป้ายดำ คือ รถยนต์ส่วนตัว (ไม่ติดป้ายแท็กซี่) จะมารอรับช่วง ผู้โดยสารที่มาจากต่างจังหวัดที่ยังไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ชวนขึ้นรถรวมๆ กันไปกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ตะโกนเรียก กวักมือเรียก เข้ามาแย่งชะลอม กระเป๋าให้ไปขึ้นรถของตน

สับสนอลหม่าน แบบใครดี ใครอยู่

ตรงข้ามตลาดหมอชิต คือ พื้นที่โล่งขนาดมหึมา ซึ่งต่อมา คือ “สวนจตุจักร” ที่จะขอเล่าตามที่ได้เห็นมา…

พื้นที่ตรงที่เป็นสวนจตุจักรปัจจุบัน คือทุ่งโล่งกว้างใหญ่ ระดับต่ำกว่าถนนพหลโยธินเล็กน้อย ที่ขอเน้น คือ มีน้ำขัง เป็นบึงน้ำ มี “นกกระยางสีขาว” เดินย่ำในทุ่ง ที่เป็นภาพติดตาของผู้เขียน

สวนจตุจักร เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ราว 50 ปีที่แล้ว พื้นที่ทิ้งขยะของ กทม. คือ พื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตดินแดงในปัจจุบัน ถือว่า ดินแดงไกลจากชุมชนเมือง

การทิ้งขยะ ไม่ได้ทิ้งแบบ “ฝังกลบ” (Landfill) นะครับ

“ขยะ” ที่พื้นที่ดินแดงถูกนำมาเทกองบนพื้นแบบเย้ยฟ้าท้าดิน สูงเด่นเป็นสง่า เรียกว่าเป็น ภูเขาขยะที่เน่าเหม็น

ขอย้ำว่า ดินแดงราว 50 ปีที่แล้ว คือ พื้นที่ชั้นนอกของกรุงเทพฯ (ถ้าจำไม่ผิด คือ บริเวณแยก อสมท ปัจจุบัน และพื้นที่ใกล้เคียงนับร้อยไร่) ที่ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ทิ้งขยะของชาว กทม.

พ.ศ.2518 การรถไฟแห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน 100 ไร่ เพื่อสร้างสวนสาธารณะตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ 48 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2518

เพื่อจะสร้างสวนสาธารณะ

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผบ.ทหารสูงสุดในเวลานั้น สั่งการให้หน่วย กรป.กลาง (ปัจจุบัน คือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา) เป็นหน่วยหลักในการขนย้ายภูเขาขยะจากดินแดงมาถมพื้นที่ของรถไฟ

ผู้เขียนจำได้ว่า ทุกครั้งที่ได้นั่งรถเมล์ผ่าน…จะเห็นรถบรรทุกเทท้ายสีส้ม ของ กรป.กลาง ขนย้ายขยะที่เน่าเหม็น ผ่านการจราจรบนถนน นำไปถมพื้นที่ตรงนี้… ต่อเนื่องยาวนาน

ที่ดินแปลงใหญ่ตรงนี้ เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ราว 3 ปี สวนแห่งนี้ …เป็นรูปเป็นร่าง มีการปลูกต้นไม้

2 มกราคม พ.ศ.2521 ดำเนินการเสร็จ พื้นที่ใหม่ กว้างใหญ่ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าขยะทั้งปวง ที่นำมาถม… น่าจะปลูกต้นไม้อะไรไม่ได้ ซึ่งก็ไม่จริง…

ต่อมา…จึงย้าย “ตลาดนัดสนามหลวง” มาที่นี่

ขึ้นรถเมล์ นั่งรถผ่านพื้นที่มาตลอด…เลยเก็บภาพมาเล่าได้

ต่อมา…สวนจตุจักร เป็นพื้นที่ “ขายของ” ตามแนวทางของสนามหลวง เริ่มแรก ผู้คนบางตา ไม่คุ้นชิน

กาลเวลาผ่านไป…จตุจักร …คึกคัก มีประชากรในพื้นที่มากขึ้น

(แต่เดิมเขตจตุจักร อยู่ในตำบลลาดยาว ซึ่งเป็นเขตปกครองในพื้นที่ของ อ.บางเขน ต่อมา อ.บางเขน ถูกแบ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตบางเขน เขตดอนเมือง และเขตจตุจักร)

เกิดการประกอบการเชิงธุรกิจ เติบโต ที่ผู้เขียนไม่ทราบรายละเอียด แต่ทราบว่า ทำเงิน-ทำทอง มหาศาล

ต้นไม้ที่ปลูก เติบโต มีร่มเงา ผู้โดยสารที่มาคอยรถโดยสารที่ตลาดหมอชิตข้ามไปนั่งใต้ร่มไม้ รับประทานอาหาร มีหนุ่มสาวไปนั่งพูดคุย นำอาหารมารับประทาน มีคนมาออกกำลังกาย สร้างรั้ว ลู่วิ่ง

เวลาผ่านไป…เรื่องการ “วิ่ง” ออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่คนไทย “ไม่อาย” อีกต่อไป ตื่นตัวเรื่องการออกกำลังในสวนสาธารณะ

มีการพัฒนา ขยายผล ขยายพื้นที่ คนเมืองทั้งหลายให้การยอมรับ เชื่อใจ และต้องการสวนสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิต

เมืองกรุงเทพฯ เจริญเติบใหญ่ขึ้นไม่หยุด พื้นที่สวนสาธารณะทยอยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น สวนหลวง ร.9

สวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะระดับเมืองและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดใน กทม. มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่

อยู่ในแขวงหนองบอน เขตประเวศ ทางตะวันออกของ กทม.

จัดสร้างเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในศุภมงคลสมัยเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2530

“สวนจตุจักร” เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานสวนจตุจักร ประกอบด้วยสวนสาธารณะ 3 แห่งที่มีพื้นที่ติดต่อกันได้แก่สวนจตุจักร พื้นที่ 155 ไร่ สวนวชิรเบญจทัศ พื้นที่ 375 ไร่ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พื้นที่ 196 ไร่ รวมทั้งหมด 727 ไร่

คำว่า “จตุจักร” หมายถึง 4 รอบราศี ซึ่งในปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ

ต่อมาในปี พ.ศ.2532… กทม.จึงได้นำชื่ออันเป็นมงคลนี้มาเป็นชื่อของ “เขต” ที่ตั้งขึ้นใหม่

การสร้างสวนจตุจักร คือจุดเริ่มของขบวนการสวนสาธารณะสมัยใหม่ของประเทศไทยและเกิดจากพระราชดำริ

ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้มีการสร้างสวนสาธารณะอีกหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอย่างแท้จริง

เมืองน่าอยู่ ในยุคสมัยปัจจุบัน เรื่องสวนสาธารณะ ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ คือ ความเป็นอารยะ ที่สังคมไทยตื่นตัว เรียกร้อง

สวนในเมือง เป็นสถานที่สำหรับสร้างงานแบบใหม่ๆ เป็นที่พบปะของผู้คน เป็นอะไรที่ส่งผลในทาง “บวก” แบบไม่จำกัด

ผู้มีอันจะกินหลายคน ขอบริจาคที่ดินแปลง เล็ก ใหญ่ เพื่อทำเป็น “พื้นที่สีเขียว” สำหรับสังคม

ผู้เขียนขอเชียร์การสละที่ดินที่จะ “จารึกในแผ่นดิน” ไปอีกชั่วกาลนานในคุณความดีงาม

วงดนตรี นักร้อง ศิลปินจำนวนมาก มาเริ่มต้น-แจ้งเกิด จากการแสดงเปิดตัวในสวนสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image