ขอให้‘จริง’อีกสักครั้งเถอะน่า โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

วันศุกร์แรกของเดือนกรกฎาคม เดือนแรกของหกเดือนหลังปี 2565 ทั้งเป็นเดือนแห่งจุดเดือดทางการเมือง ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

การเปิดอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จะมีการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีผู้นั้นด้วย

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารการเมืองมาโดยตลอด จะทราบว่าฝ่ายค้านจัดวางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนไหนอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนไหน เป็นรายบุคคลไป ทั้งยังรู้ถึงประเด็นที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านคนนั้นจะอภิปรายรัฐมนตรีในประเด็นใดบ้าง หรือมีแตกหน่อออกไปในประเด็นอื่นหรือไม่

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรายบุคคล เป็นหน้าที่สำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านที่ต้องตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ แทนประชาชน

Advertisement

เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านต้องกระทำในรัฐสภา ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายค้าน กับสมาชิกวุฒิสภา

ที่จะมีโอกาสอภิปรายสนับสนุน หรืออภิปรายคัดค้านญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เสนอ

การอภิปรายจะจัดขึ้นในกี่วันกี่คืนขึ้นอยู่กับมติของสมาชิกรัฐสภาที่ประธานรัฐสภาเป็นผู้ขอมตินั้น

Advertisement

การขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือเรียกเป็นทางการว่า เปิดอภิปรายไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งต้องมีทั้งเปิดอภิปรายไว้วางใจ คือสนับสนุนญัตติของสมาชิกฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และคัดค้านญัตติของสมาชิกฝ่ายคัดค้านรัฐบาล รวมทั้งผู้ที่อภิปรายทั้งคัดค้านและทั้งสนับสนุนรัฐบาล แล้วแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร

การอภิปรายของสมาชิกจะดุเดือดเผ็ดร้อนอย่างไรขึ้นอยู่กับสำนวนโวหารของสมาชิกผู้นั้น แต่หากสมาชิกผู้ใดอภิปรายด้วยข้อมูลหลักฐานการทุจริตของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง รับรองว่าจะได้รับความสนใจทั้งจากสมาชิกรัฐสภา ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะสื่อมวลชนจะหยิบยกเป็นประเด็นสำคัญในหน้าหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น หรือในข่าววิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ในช่วงข่าวของวันนั้น และอีกหลายครั้ง

เพราะปัจจุบันการอภิปรายด้วยสำนวนโวหาร หรือคารมเผ็ดร้อนแค่ไหนอย่างไร ยังไม่น่าสนใจไปกว่าข้อมูลหลักฐานที่สมาชิกผู้นั้นนำมาเปิดเผย

เพราะคารมเผ็ดร้อนอย่างไร ฟังแล้วได้แต่สนุก หรือ “มันส์” เท่านั้น แต่หากเป็นข้อมูลหลักฐานที่พอมีเค้าบ้าง ยังพอจะนำไปขุดคุ้ยต่อ หรือค้นหาพยานหลักฐานจากนั้นต่อไปว่ามีข้อเท็จจริงเพียงใด

ยิ่งหากพบข้อมูลหลักฐานที่น่าจะมีข้อเท็จจริง หรือมีเค้าว่าจะเป็นหลักฐานนำไปสู่การทุจริตได้ ประเด็นที่สมาชิกผู้นั้นนำมาเปิดเผยยิ่งจะได้รับความสนใจนำไปสู่พยานหลักฐานที่มากไปกว่านั้น และน่าจะเป็นความจริงยิ่งขึ้น

การที่ข้อมูลหลักฐานมีเค้านำไปสู่ข้อเท็จจริงได้ ย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นข้อเท็จจริงในกรณีนั้น ซึ่งจะนำไปสู่การฟ้องร้องหรือนำส่งให้คณะกรรมการข้อมูลหลักฐานนำไปหาข้อเท็จริงต่อไป

ดังนั้น การที่สมาชิกสภาคนใดมีโอกาสได้รับข้อมูลหลักฐานจากประชาชน หรือจากแหล่งข่าว โดยเฉพาะจากทางราชการ แม้จะปิดเป็นความลับต่อสาธารณชน หรือยังไม่สามารถเปิดเผยในสื่อใดได้ แต่ในทางลับยิ่งจะมีผู้ให้ความสนใจนำไปต่อยอดต่อดอกเพื่อนำไปสู่ข้อเท็จจริงเท่าที่ได้ ซึ่งในที่สุด หากเป็นเรื่องจริง ย่อมหนีความจริงไปไม่พ้น ดังในหลายกรณีเคยปรากฏเป็นประเด็นปลีกย่อยในอดีตที่สื่อมวลชนนำมาเสนอเป็นประเด็นพาดหัวข่าว เมื่อมีการขุดคุ้ยลงลึก ผลที่สุดนำไปสู่ “เรื่องการทุจริตจริง” ทำให้รัฐมนตรีหรือข้าราชการผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนั้นต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย

แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยเฉพาะเรื่องทุจริตในวงราชการที่สุดมักไม่ได้หลักฐานที่แท้จริง หรือมีหลักฐานไม่เพียงพอจะนำไปสู่การทุจริตได้ น่าเสียดายในเวลาที่เสียไปแต่ละครั้ง จริงไหมจ๊ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image