อาศรมมิวสิก : ขายรูปเพื่อดนตรีในสวน

อาศรมมิวสิก : ขายรูปเพื่อดนตรีในสวน การแสดงดนตรีในสวน

อาศรมมิวสิก : ขายรูปเพื่อดนตรีในสวน

การแสดงดนตรีในสวน ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2565 นั้น ได้สร้างแรงกระตุ้นให้ทำในสิ่งที่ดี สร้างความตื่นเต้น สร้างรสนิยม สร้างความกระตือรือร้น สร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้คนพอสมควร เป็นการใช้ดนตรีเพื่ออุ้มจิตใจคน ใช้ดนตรีประดับเมือง และสร้างรสนิยมให้แก่สังคมเมือง เนื่องจากกระแสกับความนิยมในตัวของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานโดยการทำงาน ทำงาน และทำงาน วิธีการเข้าถึงคน เข้าถึงและสร้างความศรัทธาให้ประชาชน สามารถเข้าถึงปัญหาแล้วแก้ปัญหาให้งานของกรุงเทพฯ เดินต่อไปได้โดยไม่ต้องฟังรายงาน ได้ใจและสร้างความประทับใจให้แก่มวลชนอย่างยิ่ง

การแสดงดนตรีในสวนเป็นนโยบายหนึ่งของผู้ว่าฯ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อสร้างเมืองให้น่าอยู่ ได้สร้างความเชื่อมั่น ทำให้คนกรุงเทพฯ รู้สึกว่าเชื่อถือศรัทธา การปลุกสลัมให้ดูสวย เพิ่มบรรยากาศของสวนสาธารณะให้มีเสน่ห์ สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในสวน โดยใช้ดนตรีสร้างบรรยากาศให้กรุงเทพฯ มีชีวิตชีวา

การตัดสินใจแสดงดนตรีในสวน เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าเป็นโอกาสของอาชีพดนตรี คราวนี้โอกาสของอาชีพดนตรีมาถึงแล้ว อาชีพดนตรีคือเล่นดนตรีเป็นอาชีพ เลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวด้วยการเล่นดนตรี นักดนตรีมีฝีมือสูง เล่นดนตรีแล้วมีค่าตอบแทน “เสียงดังตังค์มา” ไม่ได้ทำอาชีพอย่างอื่นนอกจากทำงานดนตรี

Advertisement

ปัญหาในอดีต “ไม่มีอาชีพดนตรีในสังคมไทย” มีแต่หน้าที่ของพนักงานประโคมดนตรี หรือเล่นดนตรีรับจ้าง ทำงานดนตรีให้นายจ้างจ่ายเป็นค่าแรง ดนตรีเป็นอุปกรณ์ใช้ทำมาหากินข้างถนนหรืออาชีพการเต้นกินรำกิน ดนตรีเป็นอุปกรณ์ของขอทาน ดนตรีเป็นหน้าที่ของทาสและไพร่คอยบำรุงบำเรอให้เจ้านาย ดนตรีเหล่านี้เป็นดนตรีที่ต่ำกว่าสะดือ ส่วนดนตรีที่สูงกว่าสะดือเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญาหรือกระตุ้นจิตสำนึกนั้น ในสังคมไทยหาได้ยากเต็มที ดังนั้นการนำดนตรีมาแสดงในสวนตามนโยบายของผู้ว่าฯ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่ง สำคัญเพราะได้พัฒนาอาชีพดนตรีให้สูงกว่าสะดือ เพื่อให้อาชีพดนตรีมีฐานะและมีเกียรติเชื่อถือได้

โอกาสมาแล้วจะใช้โอกาสอย่างไรให้เหมาะสม ดนตรีอาจจะเป็นเครื่องมือของนักการเมือง เป็นเครื่องมือของนักปกครอง ซึ่งในปัจจุบันดนตรีได้ก้าวไปสู่การเป็นสินค้าแล้ว สินค้าดนตรีได้สร้างฐานะให้นักธุรกิจและพ่อค้าโดยใช้สมองและแรงงานของศิลปิน ใช้เงินซื้อผลงานไปเป็นเจ้าของสิทธิ์ ศิลปินสร้างงานตกอยู่ในฐานะ “หาเช้ากินเช้า หาค่ำกินค่ำ” ใครที่ไม่ขายงานก็จะกลายเป็นศิลปินไส้แห้ง

Advertisement

รับรู้ทั่วกันว่า กรุงเทพมหานครไม่มีเงินที่จะนำมาจัดกิจกรรมใดๆ ได้แต่ขอความร่วมมือจากแฟนๆ ที่มีความศรัทธาและเชื่อถือกัน ดังนั้นการรับอาสาที่จะจัดดนตรีในสวน จึงตั้งใจที่จะจัดการเองโดยไปหาเงินเพื่อใช้ในการทำงาน หานักดนตรีและวงดนตรีตามมาตรฐานของตนเอง โดยมีเป้าหมายว่า ในการแสดงจะต้องมีคุณภาพสูงเท่านั้นและคุณภาพนั้นต่อรองไม่ได้ เป็นการแสดงดนตรีในสวนโดยการให้เปล่า เป็นการใช้โอกาสเพื่อที่จะสร้างโอกาสและต่อโอกาส การใช้ดนตรีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ เป็นการสร้างโอกาสให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวของชาวโลก เป็นเมืองที่มีเสน่ห์และตื่นเต้น มีความปลอดภัยน่าอยู่ และเป็นเมืองที่เจริญ

สิ่งที่แฝงอยู่ในการจัดดนตรีในสวนก็คือ การสร้างอาชีพดนตรีให้มีเกียรติและเชื่อถือได้ จึงเชิญวงดนตรี เชิญนักดนตรีที่มีความสามารถมาแสดง โดยการตกลงด้วย “ราคา” เพราะใช้หัวใจอย่างเดียวนั้นไม่พอ หัวใจของนักดนตรีเข้ามาอยู่แล้ว เพียงแต่เสียงปรบมือ ช่อดอกไม้ และคำขอบคุณ ไม่เพียงพอที่ใช้เลี้ยงชีพและเลี้ยงครอบครัวได้ จึงจัดการโดยหาเงินมาทำงานเพื่อให้ดนตรีมีคุณภาพสูงและเป็นดนตรีเพื่อพัฒนาสมองและจิตใจ

ขณะที่การทำงานโดยไม่มีเงิน แม้ว่าจะมีพื้นที่ มีเครื่องมืออุปกรณ์ มีอำนาจ มีเกียรติ มีฝีมือ มีคน และมีพวกพ้อง แต่ขาดปัจจัยสำคัญคือเงินก็จะทำงานได้ประมาณหนึ่ง หากมีเงินมาเสริมหัวใจ เงินช่วยเสริมสมองและช่วยเสริมสติปัญญาด้วย การทำงานดนตรีในสวนก็จะไปได้ไกล สามารถควบคุมคุณภาพให้มีประสิทธิภาพสูงได้ ซึ่งนักดนตรีอาชีพที่มีฝีมือสูงทุกคนก็พร้อม และสามารถชักชวนมาแสดงได้ง่ายขึ้น

การขายรูปเพื่อดนตรีในสวนจึงเป็นวิธีคิดที่จะช่วยให้เกิดงานคุณภาพได้ โดยชวนเพื่อนศิลปินที่มีฝีมือสูง ทำงานร่วมมือกันมานาน มีความเชื่อถือต่อกัน ได้ขอความอนุเคราะห์ภาพมาจัดแสดงเพื่อขาย หากขายได้ก็จะจ่ายต้นทุนค่าสมอง ค่าฝีมือและสติปัญญาในราคามิตรภาพ ส่วนเงินที่ได้ก็จะนำไปจัดดนตรีในสวนต่อไป การจัดแสดงภาพของศิลปินนานาชาติ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง จำนวน 36 ภาพ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00-20.00 น. เพื่อแฟนๆ ที่ชื่นชอบด้วยหลักการ ชอบในวิธีการ ก็สามารถให้การสนับสนุนซื้อภาพไปเป็นเจ้าของได้

เวลา 13.00-14.00 น. และ 16.00-17.00 น. ของทุกวันก็มีวงดนตรีแสดงทั้ง 4 วัน ส่วนเวลา 14.30-15.30 น. มีวงเสวนาวงเล็กๆ ประสงค์จะตอบคำถามว่า “ทำอะไรเพื่ออะไร” มีพื้นที่จัดงานเล็กๆ ไม่มีงบประมาณจะเชิญดารารายใหญ่มาเสวนาได้ จึงชวนพรรคพวกและศิลปินมาร่วมเสวนาเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์

ส่วนค่าเช่าพื้นที่หอศิลป์ ค่าตอบแทนนักดนตรี ได้ขอใช้สิทธิภาพการ์ตูนของคุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ 2 ภาพ เพื่อผลิตซ้ำ 20 ภาพ โดยที่ คุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ ได้เซ็นชื่อสดกำกับไว้หลังกรอบรูปทุกชิ้น เพื่อรับรองว่าเป็นของจริง มีความถูกต้องได้รับอนุญาตจริง ได้ผลิตซ้ำขึ้นจริง และมีจำนวนจำกัด ขายชิ้นละ 20,000 บาท

ภาพของศิลปินนานาชาติ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ทั้ง 36 ภาพ มีภาพของคนจริง (ซูเปอร์แมน) รูปของผู้ว่าฯ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป่าแตรยูโฟเนียม ซึ่งวาดจากภาพที่ถ่ายไว้เมื่อครั้งที่เป่าแตรในห้องซ้อมดนตรีโรงเรียนวัดสุทธิวราราม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2562 ภาพนี้ถือว่าเป็นภาพพิเศษ ราคาพิเศษ สำหรับคนที่พิเศษ เป็นภาพประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ นำรายได้ไปใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดกิจกรรมดนตรีในสวน

ภาพอื่นๆ ได้แบ่งเป็นเรื่องราวของกรุงเทพฯ น่าอยู่ 14 ภาพ คือ ข้าวต้มรอบดึก วัดจีน ปากคลองตลาด คลองโอ่งอ่าง แสงในซอย คลองบางกอกน้อย ตลาดเทเวศร์ อาแป๊ะไหลเหลี่ยว ริมคลองหลอด ท่าเตียน กลับบ้าน เยาวราช สุขสงบ และมุมสงบ ภาพเหล่านี้เกิดจากจินตนาการจากสภาพชีวิตจริง

ภาพสลัมสวย มีอยู่ 6 ภาพ คือ ชีวิตยามเช้า เงาสะท้อน ตลาดชุมชน ตลาดเช้าที่คลองเตย ชีวิตในตลาด ชุ่มฉ่ำ ภาพเรื่องราวของความสุขในสวน มีอยู่ 7 ภาพ คือ สวนเช้า บานเช้า บานสะพรั่ง เป็นสุขในสวน งามในคุก ชีวิตตัวน้อย ร่าเริง ภาพที่เกี่ยวกับความสนุกกับดนตรี มีอยู่ 9 ภาพ คือ อารมณ์แจ๊ส สีสันดนตรี พลิ้ว เจื้อยแจ้ว เถิดเทิง โบยบิน เสียงสวย ซิมโฟนี และม่วนขนาด ภาพเป็นเรื่องราวของความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ เพื่อนำมาสร้างเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นตัวอย่างที่จะนำเอาวิถีชีวิตมาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มได้

ส่วนวงดนตรีและนักดนตรีที่เชิญมาแสดงประกอบการแสดงภาพ เป็นนักดนตรีที่มีฝีมือ มีวงจันทร์แรม วง String Quintet วง Roberto Uno Trio วง Thai Symphony Brass Quintet วง Sarasas Witaed Romklao Chorus วงขับร้องประสานเสียงปล่อยแก่ และวง Immanuel String Orchestra

การเสวนาจะคุยกันว่า “วาดอะไร เพื่ออะไร” โดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง กับ ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล เรื่องการ “วาดเสียงให้เป็นเส้น” โดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข และ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง การเสวนา “ทำไมสวนจะต้องมีดนตรี” มี รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ เสวนาดนตรีศิลปะส่องทางกัน มี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข กับ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง

การขายภาพเพื่อดนตรีในสวนครั้งนี้ ผู้จัดทุกคนเดินข้ามสะพานพระราม 7 กันมาแล้ว ใช้ชีวิตผ่านเงิน ผ่านเกียรติ ผ่านอำนาจ เป้าหมายต่อไปอยู่ที่ป่าช้า ส่วนเวลาที่เหลืออยู่เล็กน้อยก็อยากจะมอบสิ่งที่ดีและทำได้เพื่อมอบให้แก่สังคม การขายภาพเพื่อดนตรีในสวน จึงเป็นความคิดที่สร้างสรรค์บนจินตนาการที่ทำได้จริง มีผู้สนับสนุนในครั้งนี้คือ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา บริษัทสยามเมโลดี้ บริษัทสยามดนตรียามาฮ่า รวมทั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้แทรกกิจกรรมให้ได้แสดง

ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนช่วยเหลือให้งานแสดงดนตรีในสวนสำเร็จ ขอบคุณผู้สนับสนุนให้ได้จัดงานขายภาพเพื่อดนตรีในสวน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การแสดงดนตรีในสวนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ คนเก่งอยากมาอยู่ เป็นเมืองที่สร้างโอกาส ยกระดับให้เป็นเมืองที่สร้างสรรค์และเป็นเมืองที่เจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image