‘โพล’ จาก ‘อดีต’ ถึง ‘ปัจจุบัน’ …สู่อนาคต

แนวคิดของการสำรวจความคิดเห็นหรือการทำโพลนั้นมีการวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ในประเทศที่มีประชาธิปไตยการสำรวจความคิดเห็นหรือการทำโพลเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง หลังการปฏิวัติของฝรั่งเศสและอเมริกาเมื่อรูปแบบประชาธิปไตยในยุคแรกเริ่มปรากฏขึ้น ผู้ปกครองและผู้นำต่างสนใจที่จะรู้ว่าพลเมืองของตนคิดอย่างไร และมีความตั้งใจจะลงคะแนนอย่างไร โพลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับ “การเมือง”

แรกเริ่มเดิมทีการทำโพลเป็นการวัดความคิดเห็นของประชาชนด้วยวิธีการอย่างง่าย เช่น การดูจากจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุม การเขียนจดหมายถึงสื่อเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน เป็นต้น ผู้นำทางการเมืองฝ่ายต่างๆ จึงได้รับรู้ความคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางเหล่านี้

ตัวอย่างแรกของการทำโพลที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกคือการสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1824 (พ.ศ.2367) เป็นการทำนายผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สำรวจโดยหนังสือพิมพ์แฮร์ริสเบิร์กเพนซิลเวเนีย ผลโพลพบว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามตั้งใจจะลงคะแนนให้ แอนดรูว์ แจ็คสัน (Andrew Jackson) และผลการเลือกตั้งก็เป็นไปตามผลโพลที่ทำนายไว้ เขาได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ต่อมาการทำโพลได้มีการตั้งเป็นสถาบันเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และในต้นศตวรรษที่ 20 ก็ได้มีการขยายไปยังประเทศอื่นๆ

ระยะแรกของการทำโพล (ในทุกประเทศ) เป็นการสำรวจที่ไม่เป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัยมากนัก หรือเรียกว่ายังไม่เป็นไปตามขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ ความแม่นยำของการทำโพลยังคงถูกตั้งคำถาม นักวิจารณ์ชี้ว่าการทำโพลนอกจากจะถูกจำกัดโดยกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอคติของผู้สัมภาษณ์และผู้วิเคราะห์ข้อมูลด้วย และในบางกรณีก็เป็นไปได้ว่าคำถามที่ใช้อาจไม่ตรงประเด็น หรือไม่รอบคอบเพียงพอ

Advertisement

แม้จะมีความกังขาในการทำโพลจากนักวิชาการโดยเฉพาะด้านสังคมวิทยาและเศรษฐศาสตร์ แต่การทำโพลก็ยังถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและความคิดเห็นที่เป็นประเด็นสำคัญ จากอดีตการทำโพลที่เน้นหัวข้อหรือประเด็นทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเท่านั้น ก็เริ่มแผ่ขยายและให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการศึกษา และที่เห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19 ก็คือ การทำโพลในประเด็นด้านสาธารณสุข ที่ช่วยสะท้อนถึงสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ในหลายประเทศมีการทำโพลเพื่อนำไปสู่การตัดสินในเรื่องนโยบาย รัฐจึงได้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความมั่นใจและนำไปสู่การตัดสินใจที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้นเมื่อได้รู้เกี่ยวกับทัศนคติของประชาชน ก่อนเข้าสู่กระบวนการของผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาแผนงานเฉพาะทางต่อไป

ประเด็นในการทำโพลแม้จะขยายวงกว้างไปในสาขาอื่นๆ อย่างรวดเร็ว แต่ในแง่กระบวนการ
ขั้นตอนก็ยังคงถูกตั้งคำถามและไม่คลายความสงสัยในความถูกต้องแม่นยำว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโพลทางการเมือง

Advertisement

แน่นอนว่าหากสำนักโพลหรือนักทำโพล (Pollster) ยังคงวิธีการทำโพลแบบล้าสมัย (Old-Fashioned Way of Polling Opinion) ยอมให้นักการเมืองและผู้ได้รับประโยชน์จากการทำโพลสามารถเข้าถึงผลโพลและบิดเบือนความคิดเห็นของประชาชน เพื่อสร้างการสนับสนุนนโยบายที่ให้ผลประโยชน์ให้ตนเอง ใช้ออกแบบการสำรวจไม่รัดกุม สุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะกลุ่ม สร้างเครื่องมือไม่ตรงกับสิ่งที่จะวัด รวมไปถึงวิเคราะห์และตีความข้อมูลในมิติเดียว ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อน ไม่แม่นยำ และไม่เป็นไปตามกระบวนการของการวิจัย

การพาดหัวข้อข่าวจากผลโพลว่า “ประชาชนเชื่อมั่นว่า…” “หัวอกครูหวั่น…” “คนส่วนใหญ่ชื่นชอบ..” ก็คงไม่เข้าใกล้ความเป็นจริงแม้เพียงนิด หากนักทำโพลยังทำโพลด้วยวิธีการแบบเดิมๆ

วิถีทางใหม่ของการทำโพลจึงต้องใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมกับการทำโพลมากขึ้น เช่น การออกแบบการสุ่มตัวอย่างที่ครอบคลุมเพื่อให้เห็นภาพทั้งแนวดิ่งและภาพกว้าง การออกแบบเครื่องมือในการสำรวจแบบหลากหลายประเภท การวิเคราะห์ข้อมูลเพียงชุดเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องวิเคราะห์ข้อมูลบนฐานคิดแบบสหวิทยาการ ใช้ข้อมูลจากสื่อโซเชียล
ประกอบ รวมไปถึงการใช้แนวทางทางพฤติกรรมศาสตร์มาทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของประชาชน เป็นต้น

“โพล” เป็นเครื่องมือที่สามารถค้นหาสิ่งที่ผู้คนคิดในประเด็นสำคัญ โพลเป็นเครื่องมือในการค้นหาข้อเท็จจริงที่ช่วยให้สาธารณชนรับทราบสิ่งต่างๆ ร่วมกันได้เป็นอย่างดี โพลสามารถทำให้คนในสังคมได้สัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และโพลยังช่วยสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศจริงๆ แล้วนั้นอยู่ที่ใด

หากแต่คนทำโพลต้องพัฒนาตนเองและพัฒนาการทำโพลต่อไปให้ทันกับยุคของการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนและคลุมเครือนี้ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เร่งสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้เกิดการยอมรับให้มากขึ้น เพื่อให้การเดินทางของ “โพล” นั้นไม่หยุดอยู่ที่อดีต หรือปัจจุบัน แต่มุ่งไปสู่…อนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image