โคทม อารียา : อารยธรรมของเซเปียนส์

ยูวัล โนอาห์ ฮารารี เป็นนักเขียนชาวอิสราเอล และเป็นผู้ปฏิบัติภาวนาตามแนวทางของโกเอ็นกา เขาเขียนหนังสือเล่มหนาๆ สามเล่มซึ่งมีชื่อดังนี้ “เซเปียนส์ ประวัติย่อของมนุษยชาติ (พ.ศ. 2554)”, “โฮโม เดอุส ประวัติย่อของอนาคต (พ.ศ. 2559)”, และ “บทเรียน 21 บทสำหรับศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2561)” ต่อมาในพ.ศ. 2563 ฮารารีได้พิมพ์เผยแพร่ผลงานจากหนังสือเล่มแรกของเขาอออกมาเป็นฉบับการ์ตูนหรือฉบับกราฟฟิก ร่วมกับเดวิด ฟานแดร์เมอเลน และเดเนียล กาซานาเว หนังสือฉบับการ์ตูนภาคสองมีชื่อว่า “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ: เสาหลักของอารยธรรม” โดยมีตอนหนึ่งที่กล่าวถึง “การนำเสนอเรื่องที่ประดิษฐ์ขึ้น” (The Fiction Show) ซึ่งจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้

เรื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นตามนัยที่กล่าวถึงนี้ อาจจะคล้ายกับสมมุติสัจจะอยู่บ้าง แต่ฮารารีจัดแบ่งเรื่องราวต่าง ๆ ออกเป็น “วัตถุวิสัย”, “จิตวิสัย”, และ “จิตวิสัยระหว่างกัน” (intersubjectivity)” วัตถุวิสัยหมายถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นอกาลิโก เช่น แรงโน้มถ่วง หรือกัมมันตภาพรังสี มันมีอยู่เช่นนั้นเองก่อนที่มนุษย์ (เช่น ไอแซ็ก นิวตัน หรือมารี คูรี) จะค้นพบปรากฏการณ์นั้น ๆ ส่วนการมีอยู่ของจิตวิสัยขึ้นอยู่กับจิตสำนึกหรือความเชื่อของบุคคลคนหนึ่ง ถ้าบุคคลคนนั้นเปลี่ยนความเชื่อไป จิตวิสัยก็เปลี่ยนไปด้วย เช่น ตอนเป็นเด็กเชื่อว่าตุ๊กตาตัวโปรดเป็นเพื่อนที่คุยด้วยได้ในจินตนาการของเขา แต่พอโตขึ้น เพื่อนในจินตนาการที่เคยมีตัวตนในจิตสำนึกของเขาเลือนหายไป เพราะเขาเลิกเชื่อ

จิตวิสัยระหว่างกันหมายถึงจิตวิสัยที่มีอยู่ในเครือข่ายการสื่อสารที่เชื่อมโยงจิตใจของบุคคลจำนวนมาก ถ้าบุคคลคนหนึ่งเปลี่ยนความเชื่อหรือตายไปก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าบุคคลส่วนใหญ่ในเครือข่ายตายหรือเปลี่ยนความเชื่อ ปรากฏการณ์ที่เป็นจิตวิสัยระหว่างกันจึงเปลี่ยนหรือสูญสิ้นไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปรากฏการณ์วัตถุวิสัยมีอยู่โดยไม่ขึ้นกับว่าจะมีคนเชื่อในปรากฏการณ์นั้นหรือไม่ ส่วนปรากฏการณ์จิตวิสัยระหว่างกันมีอยู่ตราบใดที่คนจำนวนมากยังเชื่อในปรากฏการณ์นั้น ๆ ตัวอย่างเช่น กฎหมาย สิทธิมนุษยชน พระเจ้า ประชาชาติ วิสาหกิจ เงิน ไม่ใช่วัตถุวิสัย หากเป็นจิตวิสัยระหว่างกันที่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่ออารยธรรมของเซเปียนส์

วงศ์มนุษย์ (Homo ทั้งหลาย) ได้มีวิวัฒนาการนับล้านปี และโฮโม เซเปียนส์มีวิวัฒนาการมาหลายหมื่นปี ตลอดวิวัฒนาการอันยาวนานนี้ วงศ์มนุษย์มีการรวมกลุ่มกันประมาณไม่กี่สิบคน เพื่อร่วมกันหาอาหารป่าและล่าสัตว์ป่า เมื่อประมาณหมื่นกว่าปีนี้เองที่โฮโม เซเปียนส์เริ่มทำการเกษตร เริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง เป็นนครรัฐ เป็นอาณาจักร เป็นจักรวรรดิ ในช่วงเวลาที่นับว่าสั้นนี้ ได้มีการสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ การเป็นผู้ถูกเลือกด้วยพระเจ้า การมีผู้นำที่พระเจ้าโปรดปราน เป็นต้น เรื่องเล่าเช่นนี้เป็นตัวอย่างจิตวิสัยของคนจำนวนมากที่เชื่อในเรื่องเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน คอยคุ้มครองกันโดยมีพระเจ้าองค์เดียวกัน หรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชุดเดียวกันคอยคุ้มครองอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้มารวมกันเป็นเมือง เป็นจักรวรรดิ หรือเป็นรัฐชาติ อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าเป็นจิตวิสัย ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย จิตวิสัยระหว่างกันจำนวนหนึ่งได้เกิดขึ้นและสูญสลายไปอย่าง “รวดเร็ว” ในสเกลเวลาของวิวัฒนาการมนุษย์ บ่อยครั้งที่การเปลี่ยนแปลงจิตวิสัยระหว่างกันถูกทำให้คงไว้หรือถูกทำให้เปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า ระยะเวลาการรวมตัวของคนจำนวนมากเป็นเมือง เป็นรัฐ ฯลฯ นั้นไม่นานพอที่จะส่งผลอันยั่งยืนต่อชีววิทยาของมนุษย์ เราจึงไม่เหมือนกับมดที่มีวิวัฒนาการความร่วมมืออันยาวนานจนกลายเป็นสัญชาตญาณ มนุษย์ขาดสัญชาตญาณดังกล่าว อารยธรรมของเซเปียนส์ในเวลาหมื่นกว่าปีที่ผ่านมาจึงเป็นประวัติศาสตร์การสู้รบ การทำสงคราม การแย่งชิงอำนาจกันไม่หยุดหย่อน

Advertisement

ปัญหาหลักสำหรับมนุษยชาติที่ผ่านมา ไม่ใช่การไม่รู้ว่าจะมีอาหารเพียงพอสำหรับผู้คนนับล้านคนได้อย่างไร แต่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะให้เราตกลงกันได้มากกว่า ที่มักกล่าวกันว่าสงครามเกิดจากความหิวโหยของชาวไร่ชาวนาในยุคข้าวยากหมากแพงก็ไม่จริงนัก ผู้นำหรือชนชั้นผู้มีอันจะกินต่างหากที่เป็นสาเหตุหลัก พวกเขามีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างจิตวิสัยระหว่างกันขึ้นมาใหม่ แล้วปลุกเร้าเชิงบังคับให้ชาวไร่ชาวนาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อล้มล้างความอยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายคือการช่วยให้พวกผู้นำ “การปฏิวัติ” ได้ล้มล้างจิตวิสัยระหว่างกันเดิม และสถาปนาจิตวิสัยระหว่างกันใหม่ให้เข้มแข็งภายใต้การนำของพวกเขา ส่วนผู้นำที่ครองอำนาจอยู่ก็ปลุกเร้าให้ช่วยกันปกป้องจิตวิสัยระหว่างกันเดิม โดยอ้างว่าเป็นขนบแห่งสวรรค์ เป็นเทวสิทธิ์ เป็นความชอบธรรมที่ตกทอดมาแต่บรรพชน หรือเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น อาณาจักรโรมันล่มสลาย ไม่ใช่เพราะข้าวยากหมากแพง แม้จะมีการคุกคามของชนเผ่าก็อธที่มาซ้ำเติม แต่ภัยคุกคามหลักนั้นเกิดจากภายใน สงครามกลางเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้นำเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อาณาจักรรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์

ลองมาพิจารณาตัวอย่างของจิตวิสัยระหว่างกันในเรื่องกฎหมายสักตัวอย่างหนึ่ง ประมวลกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรก ๆ เกิดขึ้นเมื่อ 1776 ปีก่อนคริสตกาล ในอาณาจักรบาบีโลนที่น่าจะกว้างใหญ่ที่สุดในโลกสมัยนั้น กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมโสโปเตเมีย มีประชากรประมาณหนึ่งล้านคน กษัตริย์บาบีโลนในขณะนั้นชื่อฮัมมูราบี ที่เรารู้จักกันดีในเรื่องของประมวลกฎหมายฮัมมูราบีที่เขียนไว้ในศิลาจารึก (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ลูวเรอะ ที่ปารีส) เขาให้จารึกว่า พระเจ้า อานู, อังลิล, และมาร์ดุกมอบหมายให้ฮัมมูราบีประกาศความยุติธรรมในราชอาณาจักร ให้ประชาราษฎรในอนาคตรู้ถึงความยุติธรรมและการกระทำของกษัตริย์ที่ยุติธรรม ภายหลังการตายของฮัมมูราบีเป็นเวลาเกือบสามศตวรรษ อาลักษณ์ยังลอกข้อความของประมวลกฎหมายฮัมมูราบีลงบนแผ่นดินเหนียวเพื่อใช้อ้างอิง (ประมวลกฎหมายนโปเลียนที่เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2347 ก็ยังมีอิทธิพลต่อประมวลกฎหมายแพ่งทั่วโลกจนทุกวันนี้) ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีประกอบด้วยคำพิพากษาจำนวน 300 กรณี จะขอยกบางกรณีมาเป็นตัวอย่างดังนี้

กรณี 197 ถ้าผู้มียศศักดิ์ทำดวงตาของผู้มียศศักดิ์บอดไปข้างหนึ่ง ต้องทำให้ดวงตาข้างหนึ่งของเขาเสียไปด้วย

Advertisement

กรณี 198 ถ้าผู้มียศศักดิ์ทำดวงตาของคนธรรมดาบอดไปข้างหนึ่ง เขาต้องจ่ายสินไหมเป็นเงินหนัก 60 ซีเคิล (1 ซีเคิล = 6 ถึง 12 กรัม)

กรณี 199 ถ้าผู้มียศศักดิ์ทำดวงตาข้างหนึ่งของทาสของผู้มียศศักดิ์บอดไปข้างหนึ่ง เขาต้องจ่ายสินไหมแก่เจ้าของทาสเป็นเงินมูลค่าครึ่งหนึ่งของทาส

กรณี 209 ถ้าชายผู้มียศศักดิ์ทำร้ายหญิงผู้มียศศักดิ์จนแท้งลูก เขาต้องจ่ายสินไหมเป็นเงินหนัก 60 ซีเคิลแก่หญิงคนนั้น

กรณี 210 ถ้าหญิงที่ถูกทำร้ายเสียชีวิต ให้ฆ่าลูกสาวของผู้ทำร้าย

กรณี 211 ถ้าชายผู้มียศศักดิ์ทำร้ายหญิงที่เป็นคนธรรมดาจนแท้งลูก เขาต้องจ่ายสินไหมเป็นเงินหนัก 5 ซีเคิลแก่หญิงคนนั้น

กรณี 212 ถ้าหญิงที่ถูกทำร้ายเสียชีวิต เขาต้องจ่ายสินไหมเป็นเงินหนัก 30 ซีเคิล

กรณี 213 ถ้าผู้มียศศักดิ์ทำร้ายทาสหญิงของผู้มียศศักดิ์จนแท้งลูก เขาต้องจ่ายสินไหมแก่เจ้าของทาสเป็นเงินหนัก 2 ซีเคิล

กรณี 214 ถ้าทาสหญิงที่ถูกทำร้ายเสียชีวิต เขาต้องจ่ายสินไหมเป็นเงินหนัก 20 ซีเคิล

ในสังคมปัจจุบัน จิตวิสัยระหว่างกันกำหนดว่าลูกสาวไม่ใช่สมบัติที่ต้องใช้หนี้เลือดแทนพ่อ และได้ยกเลิกทาสที่ถือเป็นสมบัติของนายทาสไปแล้ว ดังนั้น ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย แต่สังคมของบาบิโลนแบ่งคนออกเป็น ผู้มียศศักดิ์, คนธรรมดา, และทาส แล้วยังแบ่งย่อยเป็นหญิงและชายซึ่งมีศักดิ์ศรีไม่เท่าเทียมกัน คนในสังคมปัจจุบันถือการเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องไม่ปกติ (อย่างน้อยในทางนิตินัย) คนในสมัยบาบิโลนถือการเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคน (แม้ทาส?) ยอมรับ และยอมรับเป็นเวลายาวนานกว่าสามศตวรรษ

คำประกาศอิสรภาพที่ปลดแอกสหรัฐอเมริกาจากการปกครองของอังกฤษที่ประกาศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2319 นั้น ยกร่างโดยคน 5 คน คือจอห์น อดัมส์, โธมัส เจฟเฟอร์สัน, เบนจามิน แฟรงคลิน, โรเจอร์ เชอร์แมน, และโรเบิร์ต ลิฟวิงส์ตัน พวกเขาถือเป็นตัวแทนจิตวิสัยระหว่างกันของคนอเมริกันในขณะนั้น ข้อความเริ่มต้นของคำประกาศอันเป็นที่รู้จักกันดีมีดังนี้

“เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่ไม่อาจเพิกถอนได้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นมีสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข”

นี่เป็นข้อความเริ่มต้นที่ไพเราะและทรงพลัง แม้เวลาจะล่วงเลยมาสองศตวรรษครึ่งแล้ว คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังยึดถือเป็นจิตวิสัยระหว่างกันจนทุกวันนี้ ฮารารีได้สร้างตัวละครในหนังสือเซเปียนส์ฉบับการ์ตูนของเขาขึ้นมาคนหนึ่ง เป็นอาจารย์หญิงทางด้านชีววิทยา เธอเสนอให้แก้ไขข้อความดังกล่าว โดยยกเรื่องที่ประจักษ์แจ้งในตัวเองออกไป แทนด้วยเรื่องที่พิสูจน์ได้โดยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นวัตถุวิสัยมากกว่า ยกเรื่องมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกันออกไป แทนด้วยมนุษย์มีวิวัฒนาการที่ต่างกัน เพราะวิวัฒนาการมีพื้นฐานบนความแตกต่าง อีกประการหนึ่ง มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างโดยพระผู้สร้าง แต่เป็นกระบวนการของวิวัฒนาการที่มืดบอด คือการกำเนิดของบุคคลไม่มีแบบแผนอันเจาะจง ขณะเดียวกัน คำว่าสิทธิที่ไม่อาจเพิกถอนได้ไม่มีอยู่ในทางชีววิทยา ซึ่งรู้จักแต่ลักษณะนิสัยเฉพาะ ปฏิภาณ และอวัยวะของมนุษย์ เป็นต้น และสิ่งเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ คราวนี้มาถึงคำว่า “เสรีภาพ” คำคำนี้เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง มากกว่าจะมีความหมายในเชิงชีววิทยา ส่วนคำว่าความสุขก็ไม่มีคำนิยามในทางชีววิทยาและไม่สามารถวัดได้อย่างวัตถุวิสัยเช่นกัน แต่งานวิจัยทางชีววิทยาหลายชิ้นงานยอมรับการมีอยู่ของความเพลิดเพลินเจริญใจ (pleasure)

จากมุมมองในแง่ชีววิทยา ข้อความเริ่มต้นของคำประกาศอิสรภาพจึงควรเปลี่ยนมาเป็น

“เราถือว่าความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยข้อเท็จจริง นั่นคือ มนุษย์มีวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน และมีลักษณะเฉพาะที่ปรับเปลี่ยนได้ ในบรรดาลักษณะเหล่านั้น มีลักษณะแห่งชีวิต และการแสวงหาความเพลิดเพลินเจริญใจ”

แม้จะยอมรับในทางชีววิทยาว่าคนเรามาจากวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน แต่เจฟเฟอร์สันเสนอให้เชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้ว เราทุกคนเท่าเทียมกัน นี่เป็นความเชื่อที่จำเป็นสำหรับการสร้างสังคมที่เสถียรและเจริญรุ่งเรือง สำหรับชัยชนะในการสงคราม สำหรับการยินยอมพร้อมใจจ่ายภาษี สำหรับการสร้างประชาชาติ แม้ข้อความในคำประกาศจะมีความคลาดเคลื่อนในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นถ้าผู้คนยอมรับมัน แน่ละว่ามีหลายเรื่องที่เราจินตนาการขึ้นด้วยความจำเป็นในการวางโครงสร้างสังคม แต่ก็ควรตระหนักว่า โครงสร้างสังคมต่าง ๆ ล้วนเป็นระเบียบที่จินตนาการ (imagined order) ขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงเสียทีเดียว แต่เพื่อให้ประชากรจำนวนมากที่ไม่รู้จักกัน ให้ความร่วมมือกันมากกว่า

นอกจากจะมีระเบียบทางการเมืองที่จินตนาการขึ้นแล้ว ยังมีระเบียบทางการเงินที่สังคมได้จินตนาการขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าและการสะสมทุน อย่างไรก็ดี ระเบียบนี้ก็มีพลวัตของมัน และมีความปั่นป่วนทางการเงินเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น เกิดเงินเฟื้อขนานใหญ่ที่ประเทศฮังการีหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ทำให้ธนบัตรมีค่าเป็นเศษกระดาษ ในปัจจุบัน ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกาตอบโต้ภาวะการเงินอันเนื่องมาแต่การระบาดของโควิด-19 โดยการพิมพ์ธนบัตรออกมาเองมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศซิมบับเวได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ทองคำออกมาเพื่อช่วยตรึงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นต้น ขณะที่การบริการของธนาคารกำลังใช้ระเบียบใหม่ที่เป็นการบริการออนไลน์มากขึ้น และปัจจุบัน เอกชนกำลังพยายามวางระเบียบใหม่โดยใช้บิทคอยน์แทนเงินตราเดิม ระเบียบที่จินตนาการขึ้นจะดำรงอยู่ได้ตราบใดที่คนยังเชื่อและไว้วางใจ แต่ก็มีจินตนาการใหม่มาท้าทายได้เสมอ

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้คนเชื่อในระเบียบที่จินตนาการขึ้น ประการแรก ต้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องเชื่อว่าระเบียบที่จินตนาการขึ้นไม่ใช่เรื่องของจินตนาการ หากเป็นเรื่องวัตถุวิสัยที่ถูกสร้างขึ้นโดยเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่หรือโดยกฎแห่งธรรมชาติ หรือโดยทฤษฎีทางสังคม เช่น เชื่อว่าระบบการค้าเสรีดีที่สุด เพราะมี “มือที่มองไม่เห็น” คอยจัดแจงอยู่ ประการที่สอง ระเบียบที่จินตนาการขึ้นต้องการการให้การศึกษาตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เช่น สังคมสมัยก่อนเชื่อในครอบครัวขยาย เด็ก ๆ ก็นอนรวมกัน ปัจจุบันเชื่อในปัจเจกนิยมมากขึ้น พ่อแม่จะสร้างบ้านที่เป็นสัดเป็นส่วนให้ลูก ๆ แต่ละคนมีห้องนอนเป็นอาณาจักรส่วนตัว เรากำลังใช้ชีวิตไปกับความฝันของคนรุ่นก่อน ๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น คนรุ่นก่อนเคยอยู่ในยุคโรแมนติก มาถึงปัจจุบันความโรแมนติกแสดงออกผ่านการท่องเที่ยวและแฟชั่นต่าง ๆ

เราอาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อทางศาสนา ปัจเจกนิยม โรแมนติกนิยม ทุนนิยม ชาตินิยม สิทธิมนุษยชนนิยม ฯลฯ ล้วนเป็นระเบียบหลัก ๆ ที่จินตนาการขึ้นในปัจจุบัน และเป็นจิตวิสัยระหว่างกันของคนจำนวนมากที่เชื่อใน “ความเป็นจริง” ของจินตนาการเหล่านี้ คนจำนวนน้อยที่เลิกเชื่อ หรือที่ป่าวร้องว่านี่เป็นเพียงจินตนาการนะ เป็นตำนานปรัมปรา (myths) นะ ย่อมไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบความเชื่อที่สลับซับซ้อนได้ การเปลี่ยนแปลงต้องเสนอระเบียบอันทรงพลังที่จินตนาการขึ้นแทน เช่น การรื้อถอนบริษัทยักษ์ใหญ่ทางไซเบอร์ต้องอาศัยระเบียบอันทรงพลังกว่า นั่นคือกระบวนการยุติธรรม และถ้าต้องการปฏิรูประบบยุติธรรมต้องอาศัยตำนานของอำนาจรัฐที่ทรงพลังกว่า เป็นต้น

ถ้าต้องการเปลี่ยนระเบียบทางการเมืองที่จินตนาการขึ้นในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้ความเชื่อของ “ทุนนิยม ทหารนิยม และศักดินานิยม” ที่เป็นจิตวิสัยระหว่างกันภายในเครือข่ายการสื่อสารที่เชื่อมโยงจิตใจของบุคคลจำนวนมาก การเสนอความเป็นประชาธิปไตยให้เป็นระเบียบที่จินตนาการขึ้นใหม่มาแทนที่นั้นคงไม่เพียงพอ ระเบียบใหม่ต้องครอบคลุมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับปัจจุบันและเป็นวัตถุวิสัยมากกว่าระเบียบเดิม ต้องเสนอ “ตำนานปรัมปรา” ใหม่ที่ทันสมัยกว่านั่นเอง เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นวิถีแห่งอารยธรรมเซเปียนส์ที่มีวิวัฒนาการมานับหมื่นปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image