รำลึก‘ฮ่องกง’กลับสู่จีน25ปี

รำลึก‘ฮ่องกง’กลับสู่จีน25ปี

รำลึก‘ฮ่องกง’กลับสู่จีน25ปี

คํามั่น “50 ปีไม่เปลี่ยน” อันเกี่ยวกับนโยบายจีนที่มีต่อฮ่องกง กลายเป็นประเด็นที่คนฮ่องกงกังวลในดวงหทัย กังวลเพราะเกรงว่า เมื่อถึงปี 2047 นโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” จะถึงจุดอวสาน แต่ปักกิ่งยืนยันยังจะธำรงไว้อย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลง

1 กรกฎาคม เป็นวันที่ “ฮ่องกง” กลับสู่จีนครบ 25 ปี คำมั่น “50 ปีไม่เปลี่ยน” นั้น ได้ดำเนินมาครึ่งทาง

10 ปีที่ผันผ่าน ฮ่องกงได้เผชิญปัญหาทางการเมืองไม่น้อย อาทิ ปี 2019 สังคมฮ่องกงเกิดความวุ่นวาย ปั่นป่วน เป็นเหตุให้ประชาชนอยู่อย่างระส่ำระสาย กระจัดพลัดพลาย กระทั่ง “กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ” ได้ประกาศใช้ เหตุการณ์เสียกระบวนจึงสงบลง

Advertisement

ประเด็น “2047” ได้กลายเป็น “เงื่อนปม” ของคนฮ่องกง แต่เมื่อรัฐบาลกลางออกมายืนยันถึงการก้าวข้าม 50 ปี อันหมายถึง หลัง 2047 ก็ยังดำเนินตามนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” อย่างต่อเนื่อง ความกังวลก็ได้คลายลงไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน

ย้อนมองอดีต เมื่อก่อนการกำหนดนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” ผู้นำสูงสุด “เติ้ง เสี่ยวผิง” ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่า “วิศวกรใหญ่” ได้ยืนยันหลายครั้งเกี่ยวกับความมั่นใจในนโยบายดังกล่าว โดยได้กล่าวว่า

“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนา จำต้องเปิดกว้างโอกาส เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายฮ่องกง ความจริง 50 ปี เป็นเพียงการอุปมาอุปไมยเท่านั้น ครบ 50 ปีแล้วก็ไม่เปลี่ยน เมื่อ 50 ปีแรกไม่เปลี่ยน 50 ปีหลังก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยน”

Advertisement

4 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อต่างประเทศ ฮ่องกงกลายเป็น “ประภาคารแห่งเสรีภาพของโลก” และ “สมรภูมิแห่งการสู้รบเพื่ออำนาจ” ในที่สุดได้กลายเป็นเมืองท่าแห่งการเมืองแทนเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับอดีต ในขณะที่อดีตไร้การเมือง บันเทิงกับเศรษฐกิจ ฮ่องกงจึงมีความเจริญรุ่งเรือง

หากมองผ่านฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่ว่าก่อนหรือหลังการครบ 25 ปีแห่งการกลับสู่จีน ล้วนเห็นด้วยกับนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” เพราะต่างเห็นว่าเป็นบทสรุปแห่งประวัติศาสตร์ ทว่าหลายปีที่ผันผ่าน ฮ่องกงได้ประสบพบพานกับปัญหาความปั่นป่วนทางการเมือง และเป็นเหตุให้คนฮ่องกงได้รับทุกข์ จึงหวังอย่างยิ่งให้ผู้บริหารใช้ประสบการณ์ในอดีตฟื้นฟูเศรษฐกิจฮ่องกง และเป็นการเยียวยาบาดแผลทางการเมืองอีกโสตหนึ่ง

ประเด็นจึงมีอยู่ว่า คนฮ่องกงสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนอดีตหรือไม่ และอีกประเด็นหนึ่งคือ สภาพฮ่องกงเป็น “อาณานิคม” หรือไม่ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมากอยู่ กรณีถือเป็นการ
“เช็กบิล” ทางประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ปี 1972 ผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติ ได้แถลงต่อหน่วยงานการปลดปล่อยอาณานิคมแห่งสหประชาชาติด้วยลายลักษณ์อักษรว่า “ฮ่องกง มาเก๊าคือผลที่เกิดจากมรดกทางประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวกับขบวนการสนธิสัญญาที่ปราศจากความยุติธรรมโดยการขู่เข็ญของลัทธิจักรวรรดินิยม ฮ่องกงและ
มาเก๊าซึ่งเป็นดินแดนของจีนจึงถูกยึดครองโดยอังกกฤษและโปรตุเกส การแก้ไขปัญหาของฮ่องกง มาเก๊า ล้วนเป็นปัญหาภายในขอบเขตอธิปไตยของประเทศจีน แท้จริงไม่เกี่ยวกับประเภทอาณานิคม ฉะนั้น จึงไม่ควรบรรจุเข้าในบัญชีรายชื่อภูมิภาคแห่งอาณานิคม”

พลันที่สหประชาชาติได้รับคำร้อง โดยอาศัยหลักฐานทางภูมิศาสตร์ เจือสมกับจารึกในประวัติศาสตร์สนับสนุน จึงได้ตัดชื่อฮ่องกงออกจากการเป็นอาณานิคม นักการเมืองฝ่ายขวาจึงเห็นว่า เมื่อฮ่องกงมิใช่อาณานิคม ถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย ตลอดจนวัฒนธรรมต่างๆ ก็ควรต้องเปลี่ยนจากระบบอังกฤษให้เป็นจีน

ดังนั้น 2 ปีที่ผ่านมา ประเพณีบางอย่างได้เปลี่ยนจากฝรั่งเป็นจีน เช่น การสวนสนามของตำรวจได้เปลี่ยนจากรูปแบบเดิม การสนทนาของตำรวจก็เลิกใช้คำว่า “yes sir” , “sorry sir” โดยใช้ภาษาจีนกลางแทน

การที่ฮ่องกงกลับสู่จีนถือเป็นการชะล้าง “ความอัปยศอดสู” ในเชิงสัญลักษณ์ และถือว่าเป็นหลักไมล์แห่งการฟื้นฟูชนเผ่าจีนครั้งยิ่งใหญ่ ส่วนนโยบาย
“1 ประเทศ 2 ระบบ” ย่อมต้องถือเป็นกฎหมายครอบครัวของบรรพบุรุษ จักต้องธำรงไว้และดำรงต่อไป

หากพินิจให้รอบคอบเห็นว่า หลังปี 2047 คำมั่น “50 ปีไม่เปลี่ยน” นั้น ยังต้องดำรงอยู่ องค์ประกอบทางการเมืองและเศรษฐกิจก็ยังต้องดำเนินต่อไป เหตุผลคือ คนจีนฮ่องกงหลายชั่วคนคุ้นชินกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมตะวันตก หากจะให้เปลี่ยนเป็นประเพณีแบบจีน อยู่ภายใต้กฎหมายจีน คงมิใช่เรื่องง่าย

ส่วนผลจะเป็นประการใด ย่อมขึ้นอยู่กับคนฮ่องกง ดังวลี “คนฮ่องกงปกครองฮ่องกง”

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image