สะพานแห่งกาลเวลา : เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยูเครน

Wikipedia

สะพานแห่งกาลเวลา : เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยูเครน

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยูเครน มีอยู่ทั้งหมด 4 โรงด้วยกัน 3 โรงตั้งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย มีอยู่เพียงโรงเดียวที่อยู่ในพื้นที่สู้รบ คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia nuclear power plant) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดนิโปร ในเมืองนิโคโปล ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน

ซาปอริซเซียถูกยึดครองโดยกองกำลังรัสเซียที่รุกรานเข้ามาเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ พื้นที่ดังกล่าวเกิดการสู้รบกันอย่างหนักขึ้นมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการยิงถล่มกันและกันด้วยปืนใหญ่และอื่นๆ ในพื้นที่โดยรอบซาปอริซเซีย

Advertisement

ถึงขนาด เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี ออกมาแสดงความกังวลว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้อาจกลายเป็นหายนะภัยแบบเดียวกับ “เชอร์โนบิล” ขึ้น

ซาปอริซเซีย ประกอบด้วยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 6 เตา มีแค่ 2 เตาเท่านั้นที่ยังคงปฏิบัติการอยู่ ที่เหลืออีก 4 เตา อยู่ในสภาวะ “โคลด์ ชัตดาวน์” คือ ปิดทำการด้วยวิธีการปล่อยให้ค่อยๆ เย็นลง

“โคลด์ ชัตดาวน์” คือการหยุดการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบฟิสชันภายในเตา ทำให้เตาเย็นลงจนอุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส เตาปฏิกรณ์ยังคงต้องมีน้ำหล่อเลี้ยง เนื่องจากยังคงมีการสลายตัวของสารกัมมันตภาพรังสีอยู่ แต่น้ำที่หล่อเย็นไม่ต้องใช้มากมายเหมือนเตาที่กำลังทำงานอยู่

Advertisement

ในทางวิชาการถือว่าเป็นสถานะที่ปลอดภัยที่สุดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ปัญหาใหญ่จึงอยู่แค่ 2 เตาปฏิกรณ์ที่หลงเหลือปฏิบัติการอยู่ในเวลานี้ โดยกองทัพรัสเซียทำหน้าที่กำกับให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของยูเครนทำหน้าที่ต่อไปในโรงไฟฟ้าแห่งนี้

เตาปฏิกรณ์ที่ซาปอริซเซีย เป็นเตาชนิดอัดแรงดัน (PWR-Pressurized Water Reactor) มีระบบน้ำหล่อเย็น2 วงจรแยกเป็นอิสระจากกัน

วงจรแรกทำหน้าที่รับเอาความร้อนจากห้องปฏิกรณ์ ที่มีอุณหภูมิสูงมาก เพื่อนำไปหมุนกังหันสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วผ่านเข้าสู่ระบบควบแน่น เพื่อให้เย็นลงแล้วไหลเวียนไปรับความร้อนอีกครั้ง

บริเวณห้องควบแน่น มีวงจรน้ำอีกวงจรสำหรับระบายความร้อนออกไปสู่ภายนอก เพื่อลดอุณหภูมิลงให้มากที่สุด

ตัวห้องปฏิกรณ์ ซึ่งรวมถึงแกนปฏิกรณ์ อยู่ภายในโรงเก็บ ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างเหล็กหนาราว 2 นิ้วฉาบด้วยคอนกรีตทั้งสองด้าน แน่นหนาแข็งแรง

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ก็เป็นเหมือนกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปที่ถูกออกแบบให้มีระบบป้องกันไฟไหม้ละเอียดยิบ ทั้งยังมีระบบป้องกันหลายชั้น เผื่อไว้ในกรณีที่อุปกรณ์ต่างๆ เกิดไม่ทำงานหรือถูกทำลาย

กระนั้นการสู้รบโดยรอบโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียก็ทำให้มันตกอยู่ในสถานะที่ไม่เคยเผชิญกันมาก่อนอยู่ดี

หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดความกังวลก็คือ กระแสไฟฟ้า ระบบทั้งหมดของเตาปฏิกรณ์ รวมทั้งระบบหล่อเย็น ทำงานได้โดยใช้กระแสไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีสายจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าไปใช้งาน 4 สาย ตอนนี้หลงเหลือใช้ได้เพียงสายเดียว บวกกับสายส่งสำรองจากโรงไฟฟ้าในท้องถิ่นอีกสายเท่านั้น

ภายในโรงไฟฟ้ามีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้น้ำมันดีเซลเป็นแหล่งไฟสำรองอยู่ก็จริง แต่ไม่มีใครรู้ว่า มีเชื้อเพลิงเหลืออยู่เท่าใด และมีการส่งน้ำมันไปเพิ่มเติมต่อเนื่องหรือไม่

หากปราศจากกระแสไฟฟ้า เป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์ “หลอมละลาย” ขึ้นจากความร้อนจัดภายในเตาปฏิกรณ์

โทนี เออร์วิน ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของ เอสเอ็มอาร์นิวเคลียร์ เทคโนโลยีแห่งออสเตรเลีย เชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเตาปฏิกรณ์จากอาวุธต่างๆ ไม่ “น่าจะ” เป็นปัญหาใหญ่ เพราะเตาปฏิกรณ์ชนิดนี้ “น่าจะ” ถูกออกแบบมาให้ทนทานกับการโจมตีทำนองนี้ได้

แต่ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่เคยมีเตาปฏิกรณ์ที่ไหนถูกโจมตีมาก่อน

ที่แน่ๆ ก็คือ เออร์วินเชื่อว่ากรณีเตาปฏิกรณ์ “ระเบิด” แบบเดียวกับเชอร์โนบิล เป็นไปไม่ได้ เหตุผลเพราะเชอร์โนบิลเป็นเตาชนิดอาร์บีเอ็มเค (RBMK reactor) ที่แตกต่างไปจากซาปอริซเซียโดยสิ้นเชิง

ในความเห็นของเออร์วิน สิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดกับซาปอริซเซียได้ ก็คือ การหลอมละลายภายในเตาปฏิกรณ์แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์ชนิดเดียวกันของสหรัฐอเมริกา ที่ทรีไมลส์ ไอส์แลนด์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อปี 1979

แกนปฏิกรณ์เกิดหลอมละลายขึ้นบางส่วน ซึ่งทำให้ระดับกัมมันตภาพรังสีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อภายนอกมากมายนัก

ซึ่งดีกว่าที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะของญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป

ถ้าสิ่งที่เออร์วินประเมินเอาไว้เป็นจริง ก็นับว่าเป็นโชคดีในโชคร้ายของผู้คนในบริเวณใกล้เคียง

แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือ ไม่ควรเกิดเหตุไม่เหมาะสมใดๆ กับเตาปฏิกรณ์อันตรายแบบนี้ทั้งสิ้นครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image