นโยบายจีนเดียว

ต้องยอมรับว่าการเยือนไต้หวันของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้กระทบถึงสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวันและความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอย่างรุนแรง แต่ “เพโลซี” และทำเนียบขาวก็ยังยืนยันว่า สหรัฐสนับสนุนการธำรงไว้ซึ่งสถานะปัจจุบัน

ทว่า พฤติกรรมขัดแย้งกับหลักการ “จีนเดียว” ย่อมถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะอันเป็นประจักษ์

ในมุมมองของปักกิ่ง การที่ “เพโลซี” เยือนไต้หวัน เป็นพฤติกรรมอันจงใจและเจตนา ถือว่าได้เหยียบเส้นแดงปักกิ่งแล้ว ซึ่งเป็นการท้าทายยิ่ง และสันนิษฐานว่าทำเนียบขาวน่าจะรู้เห็นเป็นใจ

พฤติกรรมเป็นการผลักดันให้เป็นเอกราชของไต้หวัน เจตนาไม่บกพร่อง กองทัพจีนจึงตอบโต้ด้วยการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงที่รอบเกาะไต้หวัน ซึ่งเป็นการปิดล้อมเกาะไปโดยปริยาย ถือเป็นการเคลื่อนไหวของกองทัพจีนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์อาจรุนแรงขึ้น กองทัพจีนมีสิทธิทำการปิดล้อมการเคลื่อนไหวทางด้านการทหารของไต้หวัน และตัดขาดซึ่งการสนันสนุนทางด้านการทหารจากต่างประเทศที่มีต่อไต้หวัน ในระยะเวลาอันสั้น เชื่อว่าอุณหภูมิช่องแคบต้องสูงขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง และพอจะอนุมานได้ว่าความขัดแย้งจีน-สหรัฐน่าจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ ในที่สุดไต้หวันจะต้องกลายเป็นผู้แพ้ที่สาหัสที่สุด ส่วนสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกน่าจะไร้เสถียรภาพมากขึ้น

Advertisement

การพบปะระหว่าง “เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรกับ “ไช่ อิงเหวิน” ผู้นำไต้หวัน ฝ่ายแรกให้คำมั่นว่า “สหรัฐจะยืนอยู่ด้วยกันกับไต้หวัน” ส่วน “ไช่ อิงเหวิน” พรรณนาว่า “เพโลซีคือมิตรที่ยั่งยืนของไต้หวัน”

แต่กระทรวงต่างประเทศจีนวิพากษ์ว่า “เพโลซีคือผู้ที่กระทำการใดโดยมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น จนเป็นเหตุทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐ และสันติภาพในภูมิภาค”

จึงไม่แปลกที่ “หวัง อี้” รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวว่า สหรัฐมิต้องฝันเพ้อมาทำลายเอกภาพจีน ซึ่งเป็นธุรกรรมใหญ่ ผู้ใดเล่นกับไฟย่อมต้องหายนะ ไม่ว่าผู้ใดกระทำละเมิดต่อชนชาติจีนจักต้องได้รับการลงโทษ”

Advertisement

สำหรับ “เพโลซี” การเยือนไต้หวันครั้งนี้ย่อมเป็นการสาสมแก่ใจ เพราะได้บรรลุผลตามปณิธานที่ได้ตั้งไว้เมื่อวันวาน ส่วนที่จะมีประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง “มิดเทอม” หรือไม่ ยังยากแก่การประเมิน

แม้ว่าการคัดค้านต่อต้านจีนในสหรัฐ จะเป็นการ “เรียกแขก” ได้ดีก็ตาม แต่เนื่องจากปัจจุบันเหตุการณ์เงินเฟ้อรุนแรงมาก หากเศรษฐกิจไม่ดี หุ้นตก เดโมแครตอาจจะตกไปด้วย

แม้ทำเนียบขาวมีเจตนาที่จะยกเลิกภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและเป็นการเอาใจจีนอีกโสตหนึ่ง แต่ไม่น่าจะได้ผลมากนัก เพราะ “ทริปเดียว” ของ “เพโลซี” ทำลายความสัมพันธ์จีน-สหรัฐไปมากจนยากที่จะหาสิ่งใดมาทดแทนได้ เพราะกรณีเป็นการทำลายจิตใจของชนชาติลัทธินิยม จึงเชื่อว่าปักกิ่งน่าจะใช้ยาแรง และ “จุดห่าง” ระหว่างจีน-สหรัฐน่าจะมากขึ้น การรวมไต้หวันด้วยกำลังก็น่าจะเร็วขึ้นด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่คนไต้หวันกังวลมากที่สุด

ปฏิเสธมิได้ว่า “ทริปไต้หวัน” ของ “เพโลซี” เป็นบ่อนเซาะพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ปักกิ่งจึงได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรสหรัฐอย่างเป็นกระบวนการ ทั้งนี้ นอกจากคว่ำบาตร “เพโลซี” และครอบครัว ยังได้ยกเลิกการพบปะทางการทหารระหว่างกองทัพจีน-สหรัฐ ตลอดจนยกเลิกความร่วมมือการปราบปรามยาเสพติด และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น

อัน “นโยบายจีนเดียว” ถือเป็นหัวใจของมติแห่งสหประชาชาติเลขที่ 2758 ซึ่งยึดถือเสมือนเป็นเสาหลักในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของช่องแคบไต้หวัน กระทำละเมิดมิได้ แต่หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐพยายามหาช่องว่างกระทำการอันขัดต่อมติดังกล่าว

ล่าสุด “เพโลซี” งานเดียว กลายเป็นชนวนแตกหักระหว่างจีน-สหรัฐอย่างรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ

กำหนดการเยือนเอเชียของ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐคือ ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนไต้หวันได้จัดอยู่ใน “กำหนดการจร” เป็นการกระทำที่เร้นลับซ่อนเงื่อน ขาดความสง่างาม

ก็เพราะแผนการเยือนไต้หวันของ “เพโลซี” จึงได้ก่อให้เกิดมรสุมทางการเมืองระหว่างจีน-สหรัฐโดยสมบูรณ์ กระทั่งสองผู้นำต้องคุยโทรศัพท์เคลียร์กัน โดยรัฐบาลจีนแจ้งเตือนว่า กองทัพจีนพร้อมรบและต่อต้านเด็ดขาด แต่สหรัฐแก้ต่างว่า กรณีเยือนไต้หวันของเพโลซีนั้น “ไม่มีอำนาจ” ก้าวก่าย เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา

หากพิเคราะห์จากมโนคติของ “เพโลซี” ที่มีมาแต่เก่าก่อนเจือสมกับสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันในสหรัฐ แผนการเยือนไต้หวันมิใช่เป็นความคิดชนิดฉับพลันทันใด

เมื่อย้อนมองกลับไปปี 1991 ขณะที่ “เพโลซี”เป็นดาวดวงใหม่ของรัฐสภาสหรัฐ ระหว่างเยือนประเทศจีน เธอได้ชูป้ายประท้วงรัฐบาลจีนในประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปักกิ่ง ในที่สุดเจ้าหน้าที่จีนก็ได้เชิญเธอออกจากสถานที่เกิดเหตุ

จากนั้นเป็นต้นมา เธอก็ได้ทำการค้ดค้านต่อต้านประเทศจีน และสนับสนุนไต้หวันมาโดยตลอด

ปีนี้ เดือนเมษายนมีข่าวว่า เธอมีแผนเยือนไต้หวัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงรัฐสภาสหรัฐได้อนุมัติ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” ครบรอบ 43 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ระคายเคืองต่อจีน ทว่า เธอได้ติดเชื้อโควิค จึงยังไม่บรรลุผลตามปณิธาน แต่คณะทำงานของเธอได้มีการเตรียมการอยู่อย่างต่อเนื่องและพร้อมเดินทาง

หากประเด็นมีอยู่ว่า แผนการเยือนไต้หวันได้รับการแจ้งเตือนจากจีนอย่างแข็งกร้าวและเข้มข้น และในทางตรงกันข้ามก็ได้รับแรงกดดันจากพรรครีพับลิกันและสื่อในสหรัฐมิใช่น้อย จึงโดนทั้งขึ้นและล่อง เธอและ “ไบเดน” จึงเสมือนอยู่บนหลังเสือ ถ้าเยือนไต้หวันถือเป็นการเพิ่มอุณหภูมิทางการเมือง สร้างความเสี่ยงในการปะทะกันที่ช่องแคบไต้หวันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง หากยกเลิกการเดินทาง ก็จะต้องนำมาซึ่งข้อครหาว่า เมื่อจีนเอาจริงเข้าก็ยอมอ่อนข้อ ท่ามกลางสภาพการณ์ทางการเมืองในสหรัฐปัจจุบัน ไม่ว่านักการเมืองใด หากได้รับการตำหนิว่ายอมอ่อนข้อให้แก่จีน ย่อมต้องถือเป็น “จุดตาย”

การแจ้งเตือนเกี่ยวกับการคัดค้านการเยือนไต้หวันของ “เพโลซี” ได้กระทำโดยกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของจีน ทั้งนี้ มีข้อความอันแหลมคมยิ่ง

เช่นว่า “พูดแล้วทำ” “ไม่นิ่งดูดาย” เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม เป็นการตักเตือนที่เข้มข้นและจริงจังยิ่ง โดย “สี จิ้นผิง” กล่าวว่า “การธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศจีนเป็นเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประชาชนจีน 1,400 ล้านคน อันเป็นเจตนารมณ์ที่ฝ่าฝืนมิได้ ผู้ใดเล่นกับไฟย่อมต้องพินาศไปกับไฟ”

ในที่สุด “เพโลซี” ก็ยังไปเยือนไต้หวันโดยไม่มีความยำเกรง

อันประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐถือเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองหมายเลข 3 ซึ่งหมายถึงเป็นผู้สืบแทนตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 รองจากรองประธานาธิบดี

การเยือนไต้หวันของ “เพโลซี” ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1997 สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน “นิวต์ กิงริช” ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ไปเยือนไต้หวัน แต่ไปเยือนจีนก่อน ดูประหนึ่งว่าเป็นการสร้างดุลยภาพความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบ ทว่า “กิงริช” กับ “คลินตัน” อยู่ต่างพรรคการเมืองกัน จึงไม่มีพรรคใดคัดค้าน แต่กรณี “เพโลซี” ซึ่งอยู่พรรคเดียวกับ “ไบเดน” คือพรรคเดโมแครต

ดังนั้น “ไบเดน” จึงดูเหมือนกินปูนร้อนท้อง ทั้งนี้ โดยนำเอาคำกล่าวของกองทัพที่ว่า การเยือนไต้หวันในยามนี้ “มิใช่การตัดสินใจที่ดี” มาเป็นข้ออ้างและโดยอาศัยเหตุผลที่ไม่มีสิทธิไปก้าวก่ายมาเป็นทางออกอีกด้วย

หากมองผ่านปักกิ่ง เมื่อ 25 ปีก่อน ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ และสถานการณ์โลก เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ปัจจุบันความขัดแย้งจีน-สหรัฐนับวันจริงจังและเข้มข้น

จากรายงานการสนทนาระหว่าง “สี จิ้นผิง” กับ “โจ ไบเดน” พอสรุปได้ว่า สหรัฐพยายามปลอบใจจีน โดยยืนยันสหรัฐยึดถือ “นโยบายจีนเดียว” ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วน “เพโลซี” ก็เปิดเผยว่า “ไม่สนับสนุนเอกราชไต้หวัน”

เป็นที่ประจักษ์ว่าสหรัฐก็ตระหนักถึงซึ่งผลร้ายจะต้องมาเยือน

แม้กระทั่งสื่อฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างวอชิงตันโพสต์ ก็ได้มีบทวิจารณ์เกี่ยวกับ “การเยือนไต้หวันของเพโลซี” ว่า หากมองในแง่สัจนิยมการเยือนไต้หวันของเพโลซี ไม่ต้องด้วยกาลเทศะ (especially inopportune)

ไม่ว่าจะมองผ่านปักกิ่งหรือวอชิงตัน แผนการเยือนไต้หวันคือการแข่งขันชิงชัยที่สำคัญที่สุดระหว่างจีน-สหรัฐ หากเกิดการปะทะกันที่ช่องแคบไต้หวัน ไม่ว่าฝ่ายใดชนะหรือแพ้ ไต้หวันคือผู้รับเคราะห์ที่สาหัสที่สุด

ทั้งที่รู้ว่าทุกข์จะต้องมาเยือน แต่รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไต้หวันของ “ไช่ อิงเหวิน” ก็ไม่ปฏิเสธการเยือนไต้หวันของเพโลซี ปัญหาจึงเกิด

หากย้อนมองประวัติศาสตร์จีนเมื่อ 200 ปี ล้วนถวิลหาให้จีนเป็นประเทศที่ทันสมัย ไม่ว่าความเคลื่อนไหวเสริมสร้างความเข้มแข็ง ไม่ว่าการปฏิวัติร้อยวัน ไม่ว่าการปกครองระบอบราชาธิปไตย ไม่ว่าการปฏิวัติซินไฮ่

ล้วนประสบความล้มเหลว

ล่าสุด พรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของ “เหมา เจ๋อตง” ประธานพรรคและผู้รักชาติกลุ่มหนึ่ง ร่วมการต่อสู้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง และได้ร่วมการก่อตั้ง “ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน” วันที่ 1 ตุลาคม 1949 ทหารและนักการเมืองที่พ่ายแพ้จากการสู้รบจึงหนีไปไต้หวัน

ต่อมา ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ ได้ใช้อาวุธเป็นกำลังแบ่งแยกเกาะไต้หวัน โดยปราศจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์ ปัญหาช่องแคบไต้หวันก็อุบัติขึ้น

พรรคประชาชาติจีน ภายใต้ชื่อรัฐบาล “ประเทศสาธารณรัฐจีน” ภายใต้การนำของ “เจียง ไคเช็ค” ทำการบริหารไต้หวัน และได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

เมื่อปี 1971 “ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน”เข้าเป็นสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ สมาชิกภาพของ “ประเทศสาธารณรัฐจีน” ก็สิ้นสุดโดยพลัน เหตุผลคือ

“ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน” จึงไม่มีอธิปไตย

หากย้อนมองแถลงการณ์ร่วมแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-สหรัฐเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1979 พอสรุปสาระสำคัญได้ว่า

“ทั้งสองประเทศยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อความสัมพันธ์ทางการทูตโดยห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสวงหาอำนาจอันไม่ชอบธรรมในแถบเอเชียแปซิฟิก สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ประเทศอื่นไม่มีสิทธิแทรกแซง บรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐที่ติดตั้งอยู่ในฐานทัพไต้หวันต้องถอนกลับไปทั้งหมด ทั้งสองประเทศยินยอมให้สหรัฐและไต้หวันมีความสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรม การค้า และธุรกิจอื่นที่มิใช่เป็นนิติกรรมสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ”

ฉะนั้น การที่ “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ จึงเป็นการฝ่าฝืนแถลงการณ์ร่วมในประการที่ขัดต่อ “นโยบายจีนเดียว” ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดต่ออธิปไตยของประเทศจีน อีกทั้งขัดต่อหลักการขั้นพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ คือประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นผู้รู้กฎหมาย บัญญัติกฎหมาย และใช้กฎหมาย แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา จึงไม่สอดคล้องกับฐานานุรูป

ฉะนั้น จึงเห็นว่า “คุณป้า” วัย 82 ควรต้องดำรงตนให้เป็นปูชนียบุคคลในสภาอันทรงเกียรติ และน่าจะทำสิ่งที่ดีงามเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่นักการเมืองรุ่นลูกรุ่นหลาน มิใช่สร้างปัญหาให้สังคมเดือดร้อน

เหตุการณ์ตึงเครียดที่ช่องแคบไต้หวัน แม้การซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของกองทัพจีนมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 7 สิงหาคม แต่ดูเหมือนว่า “ปฏิกิริยาลูกโซ่” ก็ยังคุกรุ่นต่อเนื่อง ถึงขั้นเรียกกันว่าสงครามเย็นจีน-สหรัฐ และพอจะอนุมานได้ว่า การซ้อมรบของจีนก็คงจะดำเนินเป็นกิจวัตรต่อไปตามสถานการณ์การเมือง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ช่องแคบไต้หวันได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว ต่างกับเมื่อวันวานก่อน 2 สิงหาคม คือวันที่ “เพโลซี” เยือนไต้หวัน ต่อแต่นี้ไป ไม่ว่าความสันติสุข ไม่ว่าความสงบสุข ไม่ต้องถวิลหาอีกแล้ว

กรณีจึงเป็นบททดสอบอัจฉริยภาพและวิริยภาพทางการเมืองของปักกิ่งและวอชิงตันควบคู่กันไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image