‘4-3-3-1 KK-Model’ รูปแบบการทำงานระดับจังหวัดเพื่อสร้างโอกาส สำหรับผู้เรียนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา

‘4-3-3-1 KK-Model’ รูปแบบการทำงานระดับจังหวัดเพื่อสร้างโอกาส สำหรับผู้เรียน

‘4-3-3-1 KK-Model’ รูปแบบการทำงานระดับจังหวัดเพื่อสร้างโอกาส สำหรับผู้เรียนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ภาวะวิกฤตทางการศึกษาของเด็กไทยหลายๆ คนก็เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น อาจกล่าวได้ว่าการเกิดภาวะวิกฤตทางการศึกษาของเด็กไทยเป็นปรากฏการณ์ที่ซ่อนเร้นในสังคมไทยมาแต่เนิ่นนานแล้ว เพียงแต่ปรากฏกรณีศึกษาอย่างชัดเจนมากขึ้นจนสังคมไม่อาจเลี่ยงหลบสายตาได้อีกต่อไป

ภาวะวิกฤตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยกินความหมายกว้างถึงการเกิดเหตุการณ์ ปัจจัย หรือสภาวะอื่นใดที่ส่งผลกระทบให้กระบวนการอุปการะทางด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนไม่อาจดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จนอาจเป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษา หรือขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในกรณีนี้อาจจำแนกเหตุการณ์ออกได้เป็น 3 กรณีย่อย กรณีแรกเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่แต่เดิมไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเปราะบางต่อการได้รับการศึกษาในระบบการศึกษา แต่ต่อมาภายหลังเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่จะเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอันเนื่องมาจากการขาดการอุปการะทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ให้การอุปการะที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน หรือผู้อุปการะประสบอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้กระบวนการอุปการะต้องหยุดชะงักหรือมีอุปสรรคโดยไม่มีผู้รับช่วงอุปการะต่อ หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จะทำให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาได้

อีกกรณีหนึ่งคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มเปราะบางที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เช่น เด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่มีภาวะยากจน เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลหรือบนพื้นที่สูงเด็กและเยาวชนที่อยู่ร่วมกับความพิการ เป็นต้น แต่ยังเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับการศึกษาตามกฎหมาย ซึ่งกลุ่มนี้แบ่งออกได้เป็นกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือ หรือการสนับสนุนทางการศึกษาเพื่อให้สามารถเข้ารับการศึกษาในระบบได้เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเด็กที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางการศึกษาอย่างเป็นทางการ เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา จึงมักจะตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตอยู่เสมอ

Advertisement

กรณีสุดท้ายคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาไปแล้ว แต่ยังมีแนวโน้มพากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ โดยเสริมกระบวนการสนับสนุนและส่งเสริมปัจจัยและความต้องการจำเป็นต่างๆ ให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมก่อนส่งกลับเข้าสู่โรงเรียน

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมเด็กกลุ่มนี้ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายเดียวกัน

การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการศึกษาสามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาได้นับเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาในรูปแบบเชิงป้องกัน (prevention model) เพื่อลดโอกาสการเกิดวิกฤตการณ์ทางการศึกษารูปแบบหนึ่ง ที่ออกแบบโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้โครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินงานอยู่ในระยะที่ 2 ซึ่งสามารถเข้าถึงและให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษากว่า 300 คนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดยะลา อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือน้องๆ ในแต่ละพื้นที่ต่างก็มีสภาพบริบทและปัจจัยในการทำงานที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่บริบทของเมืองใหญ่ที่มีความซับซ้อนทางสังคมและปัจจัยทางการศึกษาสูง ในขณะที่จังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

Advertisement

ส่วนขอนแก่นมีลักษณะที่ระบบราชการในจังหวัดมีความพร้อมและสามารถทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ทางศูนย์ต้องถอดบทเรียนการทำงานในแต่ละพื้นที่ไปพร้อมๆ กับการให้ความช่วยเหลือน้องๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินงานในระยะขยายผลได้อย่างมีรูปแบบที่สอดคล้องกับสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยอย่างแท้จริงและจะนำไปสู่กระบวนการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

จากการลงพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้คณะทำงานสามารถถอดรูปแบบการดำเนินงานระดับจังหวัดที่น่าสนใจได้ประการหนึ่งซึ่งในที่นี้จะขอเรียกว่า “4-3-3-1 KK-Model” ลักษณะการทำงานดังกล่าวประกอบด้วยกลไก 4 ส่วนสำคัญ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

“4” หมายถึง กลไกการบูรณาการระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัด จาก 4 กระทรวง ได้แก่ ส่วนงานปกครอง (ผู้ว่าราชการจังหวัด และท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น) ศึกษาธิการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทำงานร่วมกันในเชิงการสนับสนุนพื้นที่และโอกาสการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นที่เต็มเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์และความต้องการสร้าง SMART CITY โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้ประชาชนชาวขอนแก่นเป็น SMART CIVIL ที่เริ่มจากการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ แม้ว่าผู้นำจาก 4 ภาคส่วนจะมีที่มาต่างสังกัดกัน แต่มีเป้าหมายเดียวร่วมกันคือทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองน่าอยู่ที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยยึดถือคอนเซ็ปต์ที่ว่า “เพราะเราต่างก็เป็นคนขอนแก่นเช่นกัน” ทำให้การบูรณาการระบบกลไกการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือน้องๆ ในภาวะวิกฤตทางการศึกษามีความเป็นไปได้สูง

“3” ตัวต่อมา หมายถึง กลไกการทำงานขององค์ประกอบระดับผู้ปฏิบัติการที่ใกล้ชิดและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทันท่วงที ประกอบด้วยผู้จัดการรายกรณี (case manager: CM) ชุมชน และภาคเอกชน

แต่ละส่วนจะมีกลไกการทำงานเฉพาะตนตามแต่บทบาทหน้าที่การทำงานของภาคส่วนนั้นๆ ผู้จัดการรายกรณีทำหน้าที่บริหารจัดการและประสานงานกับส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงเด็กและเยาวชนให้ได้เร็วที่สุด ในขณะที่ชุมชนซึ่งหมายรวมถึงบ้าน-วัด-โรงเรียนด้วย จะทำหน้าที่สอดส่องดูแล และทำงานร่วมกับ CM เพื่อเฝ้าระวังภาวะวิกฤตทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน และไม่ให้เกิดการหลุดออกจากการศึกษาซ้ำซ้อน ส่วนภาคเอกชนทำหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรการทำงานในรูปแบบของทุนการศึกษา วัสดุอุปกรณ์การเรียน หรือของใช้จำเป็นที่เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายจำเป็นต้องได้รับเพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤต ทั้งนี้ องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนต้องมีส่วนร่วมกับการทำงานระดับจังหวัดอยู่เป็นประจำเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้อยู่เสมอ

“3” อีกตัวหนึ่ง หมายถึง กลไกการดำเนินงานที่เป็นวัฏจักรของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ประกอบด้วย 3 กลไกสำคัญ ได้แก่ การค้นหา การช่วยเหลือเบื้องต้น และการส่งต่อ แต่ละกลไกมีกระบวนการที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบกันเพื่อให้สามารถระบุตัวตนของกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งอาจเริ่มต้นได้จาก “ข้อมูลของครูประจำชั้น” จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์และระบุความต้องการของเด็ก เพื่อนำมาใช้วางแผนและออกแบบการให้ความช่วยเหลือจนความวิกฤตนั้นเริ่มบรรเทา แล้วจึงส่งต่อไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมให้เข้าเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนในเครือข่าย เหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น มูลนิธิบ้านบอยส์ทาวน์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนและการดำรงชีวิตไปได้อย่างมาก

“1” ตัวสุดท้าย หมายถึง แกนนำระดับจังหวัด หรือ Core Team ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดของโมเดลนี้ เปรียบเสมือนเพลาล้อที่ผลักดันให้กระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในจังหวัดขอนแก่นนี้มีกลุ่มแกนนำสำคัญคือ กลุ่มศึกษานิเทศก์ ศธจ.ขอนแก่น และคณะ ที่ทำหน้าที่ในการส่งต่อข้อมูลความช่วยเหลือไปยังกลไกระดับปฏิบัติการ เพื่อให้กลไกการค้นหาเริ่มต้นขึ้น จากนั้นจึงดำเนินการเชิงประสาน-ติดตาม-สนับสนุนการทำงาน กับหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ (CM-ชุมชน-ภาคเอกชน) ให้สามารถขับเคลื่อนกลไกการทำงานของตนเองได้ นอกจากนี้กลุ่ม Core Team ยังต้องมีบทบาทเป็นผู้เสริมกำลังใจและการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงการมองหาปัจจัยของความยั่งยืนของการทำงาน

จังหวัดขอนแก่นออกแบบกลยุทธ์เสริมความยั่งยืนด้านการเงินด้วย ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้มี “กองทุน 10 บาทสร้างโอกาสให้น้อง” โดยให้ผู้ใช้บริการหน่วยงานของรัฐร่วมบริจาคคนละ 10 บาท เพื่อนำไปใช้เป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น หรือการกำหนดโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เป็นวาระของจังหวัด เพื่อให้มีงบประมาณดำเนินการของจังหวัดเอง เป็นต้น

ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า “4-3-3-1 KK-Model” ของจังหวัดขอนแก่น เป็นการออกแบบที่สามารถตอบโจทย์การทำงานในรูปแบบที่หน่วยงานราชการระดับจังหวัดมีความพร้อมและมุ่งเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดด้วยการสร้างโอกาสให้ประชาชนในจังหวัดได้รับการพัฒนาผ่านการศึกษา ประหนึ่งดั่งแผนการเล่นในเกมฟุตบอลที่ผู้เล่นต้องเอาชนะคู่ต่อสู้ หากแต่คู่ต่อสู้ในที่นี้คือ

การหลุดออกจากระบบการศึกษาที่เด็กและเยาวชนในจังหวัดกำลังเผชิญอยู่นั่นเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image