วิถีแห่งกลยุทธ์ : ศึกษา ‘หานซิ่น’ พลิก‘จุดอับ’ เป็น‘ชัยชนะ’ วิกฤต คือ โอกาส

เมื่อโป้วอั้งเสาะ (หิมะแดงตระกูลโป้ว) เดินทางไปยังปศุสัตว์โรงหมื่นม้า (บ้วนเบ๊ตึ้ง) ของบ้วนเบ๊จึงจู๊ ณ เมืองเปลี่ยวร้างชายแดน

มันถูกท้าทายและหยามหยันจากบุรุษหนุ่มเหล่าบริวาร “ม้อย่งเม้งจู”

กระทั่งถึงขนาด “หากท่านมีขวัญกล้าแข็งจริง จงมาฆ่าข้าพเจ้า หากท่านไม่มีขวัญนี้อย่าหมายได้เข้าประตูใหญ่”

ท้าทายเพราะมั่นใจใน “วิชาฝีมือ” ของตน

Advertisement

ท้าทายเพราะเห็นว่าโป้งอั้งเสาะเป็นคนพิการ เท้าขวาของมันพิการ ยามเดินเท้าซ้ายต้องสาวออกไป 1 ก้าวก่อน เท้าขวาจึงลากตามไปช้าๆ แล้วเท้าซ้ายจึงก้าวอีก เท้าขวาลากตามไปอีก

ข้อเสนอของม้อย่งเม้งจู คือ “ท่านจงคลานลอดใต้รั้วนี้ไปเถิด”

เสียงหัวร่อเย้ยหยันของพวกมันโป้วอั้งเสาะกลับคล้ายมิได้ยินเลย ใบหน้ายังคงไร้ความรู้สึก คลานลอดใต้รั้วไม้อย่างเชื่องช้า ลากฝีเท้าหนักอึ้งเดินตรงไปเบื้องหน้า

Advertisement

ทีละก้าว ทีละก้าว เสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ทราบเปียกชุ่มตั้งแต่เมื่อใด

คอยุทธนิยายกำลังภายในที่ติดตาม “ดาบจอมภพ” ของโกวเล้ง สำนวนแปล ว. ณ เมืองลุง ประทับจิตฝังใจต่อบทบาทนี้ของโป้วอั้งเสาะ

เนื่องจากพลันเสียงหัวร่อของบุรุษหนุ่มทั้งปวงก็หยุดชะงักลงพร้อมกัน

เนื่องจากทั้งปวงต่างพบเห็น แต่ละก้าวของโป้วอั้งเสาะพื้นจะมีรอยเท้าที่ลึกอย่างยิ่งปรากฏอยู่ เป็นรอยเท้าซึ่งคล้ายใช้มีดสลักขึ้น แสดงว่ามันต้องใช้พละกำลังทั้งปวงเท่าที่มีเข้าสะกดกลั้นความพลุ่งพล่านดาลเดือดของจิตใจไว้

จึงสามารถ “กลั้น” เอาไว้ได้

แรกที่สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นตีพิมพ์ “ดาบจอมภพ” ก็ได้ทำเชิงอรรถบอกให้รู้ว่า สถานการณ์ที่โป้วอั้งเสาะประสบนี้เป็นโกวเล้งนำเอามาจากประวัติศาสตร์

เป็นประวัติศาสตร์ในวัยหนุ่มของ “หานซิ่น” นักรบหาญกล้าแห่งยุคฮั่น

จะเข้าใจเรื่องราวของหานซิ่นให้ถ่องแท้จำเป็นต้องอ่าน “แลหลังแดนมังกร” เล่ม 3 อัน ถาวร สิกขโกศล แปลมาจากภาษาจีน

การชิงอำนาจกันระหว่าง “เล่าปัง” กับ “เซี่ยงอวี่” นั้น

มีชายผู้หนึ่งได้ช่วยเหลือมีคุณต่อเล่าปังมาก ชายผู้นี้ แซ่หาน ชื่อซิ่น ฝึกบุ๋นเรียนบู๊มาตั้งแต่ยังเยาว์ มีความรู้ความสามารถสูงเยี่ยม

แต่ยากจนข้นแค้น ตกปลาเลี้ยงชีพอยู่ที่บ้านหวยยิน

ครั้งหนึ่ง หานซิ่นอดอาหาร แม่เฒ่าซึ่งมาซักผ้าสงสารแบ่งอาหารของตนให้เป็นทาน หานซิ่นกล่าวขอบคุณด้วยความซึ้งใจว่า

“วันหน้าข้าพเจ้าต้องตอบแทนพระคุณท่านให้จงได้”

แม่เฒ่านั้นโกรธมากตอบว่า “เกิดเป็นชายแต่ข้าวไม่มีจะกิน แล้วจะได้ดิบได้ดีอะไร ใครต้องการให้เจ้าตอบแทนบุญคุณ”

หานซิ่นรู้สึกละอายจึงลาจากไป

นักเลงใหญ่ของบ้านหวยยินต้องการเหยียดหยามหานซิ่นจึงขวางทางไว้และสั่งให้ลอดหว่างขาตนไป หานซิ่นดูหน้าตาท่าทางของนักเลงนั้นแล้วยอมทำตามคำสั่ง

ตั้งแต่นั้นคนเรียกหานซิ่นอย่างหยามหยันว่า “ไอ้ลอดหว่างขา”

แรกทีเดียวหานซิ่นทำงานอยู่ในก๊กของเซี่ยงอวี่แต่ไม่ได้รับการขยายบทบาทต่อเมื่อจางเหลียงได้พบและรับรู้ความเก่งจึงชักนำให้ไปอยู่กับเล่าปัง

ในเบื้องต้นเล่าปังมองไม่เห็นคุณค่าความสามารถ

ต่อมา เซียวเหอซึ่งเป็นคนที่เล่าปังวางใจได้ผลักดันและอธิบายต่อเล่าปังจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ สร้างชัยชนะให้กับฝ่ายของเล่าปังอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้จากเมื่อเล่าปังปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าฮั่นโกโจได้มีพระดำรัสดังปรากฏในยุทธนิยายเรื่อง “ไซ่ฮั่น”ว่า

“เรากระทำการใหญ่ได้สำเร็จครั้งนี้ประกอบด้วยกำลังศึก 3 ประการ

คือ จางเหลียง รู้กลอุบายลึกซึ้ง คิดอ่านป้องกันภัยทั้งปวงไปถึงพันโยชน์ก็เป็นกำลังประการหนึ่ง ประการหนึ่ง เซียวเหอซึ่งไปรักษาเมืองเสียนหยาง รู้เกลี้ยกล่อมคนให้ทำไร่ไถนาได้ข้าวปลาอาหารไว้บริบูรณ์ เราทำศึกจึงไม่ขาดเสบียงอาหารก็เป็นกำลังศึกสองประการ

ประการหนึ่ง คือหานซิ่น ชำนาญในพิชัยสงคราม รู้ตั้งค่ายแลจัดแจงกองทัพ จึงมาตรว่าคนสักร้อยหมื่น สองร้อยหมื่นหานซิ่นก็เป็นแม่ทัพคุมไว้ได้

อันคน 3 คนนี้คือกำลังศึกของเรา จึงทำการใหญ่ได้สำเร็จ”

เนื้อความจากยุทธนิยายเรื่องไซ่ฮั่นนี้ตรงกับเมื่อ “เจ้าหยุย” คนในแผ่นดินถังรจนาหนังสือ “ฉางต่วนจิง” แล้ว อธิคม สวัสดิญาณ แปลมาเป็น “ฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นและพลิกแพลง”

นั่นก็คือ

“ข้าไม่อาจเทียบกับจางเหลียงในด้าน “วางแผนในกระโจมคว้าชัยไกลพันลี้” ข้าไม่อาจเทียบกับเซียวเหอในด้านทำนุบำรุงสุขราษฎร สนองธัญญาหารแก่แนวหน้าและรักษาความสงบของประเทศชาติ

ข้าไม่อาจเทียบกับหานซิ่นในด้านศิลปะแห่งการนำทัพ คุมกำลังพลนับล้าน รบทุกครั้งชนะทุกครั้ง

จางเหลียง เซียวเหอและหานซิ่น

ล้วนเป็นยอดคนในแผ่นดิน แต่ข้าสามารถช่วงใช้พวกเขา นี่คือ สาเหตุที่ข้าสามารถยึดครองแผ่นดิน”

จึงอาจกล่าวได้ว่า ใช้ปราชญ์เป็นคือวิถีแห่งขัตติยราช ทำงานเป็นคือวิถีแห่งขุนนาง”

ถามว่าอะไรคือยุทธวิธีการนำทัพและประสบชัยชนะของหานซิ่นกระทั่งได้รับคำชมเชยยกย่องจากบรรดานักรบรุ่นหลัง

คำตอบนี้เห็นได้จากที่ปรากฏในหนังสือ “พิชัยยุทธ์ซุนวู ฉบับหัวซาน”

แน่นอน ย่อมเป็นการรจนาโดย “หัวซาน” และได้รับการแปลเรียบเรียงมาเป็นภาษาไทยโดย ชาญ ธนประกอบ

นั่นคือ

หานซิ่นตั้งทัพ 1 หมื่นคนที่ริมน้ำก่อน จากนั้น ให้ทหารที่จะใช้เป็นเหยื่อออกรบ ใครคือเหยื่อหรือ ใครคือเหยื่อหรือ เขาใช้ตัวเองเป็นเหยื่อล่อ

นี่ทำให้ทัพจ้าวไม่งับเหยื่อก็ไม่ได้ เห็นหานซิ่นไม่งับแล้วจะไปงับใคร

หานซิ่นนำทหารที่เป็นเหยื่อออกรบ ธงทิวโอ่อ่า กลองศึกรัวดังสะท้านฟ้า ธงประจำตัวแม่ทัพพลิ้วไสว ทัพจ้าวตื่นเต้นมาก กระเหี้ยนกระหือรือจะตัดหัวหานซิ่นกลางทัพนับหมื่น

รบกันไปครู่หนึ่งหานซิ่นเริ่มถอย-“แสร้งถอย”

ที่พิสดารคือเป็นการหนีจริง สู้ไม่ไหวจริง เสแสร้งจนคล้ายไม่เสแสร้ง ขณะถอยหานซิ่นเริ่มปล่อยเหยื่อและวางเบ็ด สิ่งที่ใช้คือธงประจำตัวแม่ทัพ เครื่องประดับแสดงฐานะและอำนาจ 1 ชุดและกลองศึก

“แสร้งถอยอย่าไล่กระชั้น อย่าฮุบเหยื่อเมื่อทอดให้” ทัพจ้าวละเมิดทั้ง 2 ข้อ

เบื้องหน้าเป็นหานซิ่นที่ถอยถึงริมน้ำแล้ว กำลังสมทบกับทหารหนึ่งหมื่นคนที่ตั้งอยู่แต่แรก และแล้วก็โต้กลับมา ส่วนด้านหลังทัพจ้าว กำลังเสริม 2 พันนายของหานซิ่นลอบเข้ายึด ทัพจ้าวตกอยู่ในสภาพ ข้างหน้ามีข้าศึกกล้าแข็ง ข้างหลังเสียรังเก่าไป

จึงล่มสลายพินาศสิ้น

คำพังเพยว่าไว้ “ถ้าตัดใจทิ้งทารกไม่ได้ ก็ล่อหมาป่าไม่ได้” เราเห็นได้จากตัวของหานซิ่นเอง

ถ้าไม่เอาตัวเองไว้ในจุดอับ หมาคงไม่ยอมมาให้จับแน่

ไม่เพียงแต่จะนำเอาเรื่องราวของ “ไอ้ลอดหว่างขา” มาสอดสวมเข้ากับโป้วอั้งเสาะ หากแต่เมื่อเขียน “นักสู้ผู้พิชิต”

“โกวเล้ง” ก็นำเอากลยุทธ์ “จับตัวเองเข้าอยู่ในที่อับจน” มาแสดงผ่านปึงป้อเง็ก

นั่นเป็นบททดสอบเมื่อปึงป้อเง็กเดินทางเข้าสู่ “วังวารีบริสุทธิ์” (แป๊ะจุ๊ยเก็ง) ณ ยอดเขาไท้ฮั้งซัวซึ่งห่มคลุมด้วยเมฆหมอกขาว

ด่าน 1 ย่อมเป็นด่านหญิงงาม ด่าน 1 ย่อมเป็นด่านกระบี่

เริ่มจาก “กระบี่ไม้ตายพลิกจักรวาล” (นิ่วจ้วงเคี้ยงคุนเซาะซิ่วเกี่ยม) ตามด้วยดกระบี่เพลงเดียวกับของ “บุรุษชุดขาว” ด่านสุดท้ายสำคัญอย่างยิ่ง

พลันที่ประกายกระบี่สว่างวาบ แทงเข้าเบื้องหน้าห่างปลายเท้ามันราว 3 นิ้ว

“ข้าพเจ้าหากไม่แยแสต่อกระบวนท่านี้เลย กระบี่นี้ก็จะแทงสวนจากเบื้องล่างขึ้นมาในบัดดล แต่จากกระบี่ที่แทงมาจากแง่มุมนี้ไม่ทราบว่าควรจะปัดป้องเยี่ยงไร เพราะมิว่าเป็นใต้ฝ่าเท้าของผู้ใดล้วนเป็น “มุมตาย” ของคนผู้นั้น

กระบวนท่าที่แทงจากมุมตายนี้คือกระบวนท่าที่ไม่มีในสำนักค่ายทั้งหลาย จึงเป็นกระบวนท่าที่ไม่มีผู้ใดสามารถต้านทานปัดป้องได้

ความยอดเยี่ยมในกระบวนท่า คือ ต้องจับตัวเองเข้าอยู่ในที่อับจนเสียก่อน”

การนำเอากระบวนท่าอันมากด้วยความอับจนเนื่องจากอยู่ใน “มุมตาย” จึงเท่ากับเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

เรื่องราวของ “หานซิ่น” จึงเป็น “ความบันดาลใจ”

เป็นความบันดาลใจให้โกวเล้งนำมาสอดสวมเข้ากับแต่ละจังหวะก้าวแห่งการทดสอบของปึงป้อเง็กแห่ง “นักสู้ผู้พิชิต” เข้ากับแต่ละจังหวะก้าวของ
โป้วอั้งเสาะแห่ง “ดาบจอมภพ” ที่ต้องการล้างรอยแค้น

ไม่ว่าเรื่องของ “หานซิ่น” ไม่ว่าเรื่องของ “โป้ว อั้งเสาะ” ไม่ว่าเรื่องของ “ปึงป้อเง็ก” ดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ ดำรงอยู่ในยุทธนิยาย

ดำรงอยู่อย่างเป็น “สะพานเชื่อม” ในทางความรับรู้

เป็นการเรียนรู้จาก “อดีต” ปรับประสานเข้ากับความเป็นจริงใน “ปัจจุบัน” และทอดมองไปยัง “อนาคต”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image