บทนำหนังสือพิมพ์มติชน : ดัชนีพร้อมเกษียณ

บทนำ : ดัชนีพร้อมเกษียณ

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI) เพื่อวัดความพร้อมของประชาชนหลังเกษียณ พบว่าความพร้อมด้านการเงินต่ำกว่า 40% ขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพมีระดับที่สูงกว่า การมีความพร้อมจากการมีความสุขด้านสุขภาพสูงกว่าความพร้อมจากความสุขด้านการเงิน ทำให้ต้องมีเงินเท่าใดถึงจะพอ เป็นอีกโจทย์หนึ่ง การสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่าจำนวนเงินที่เพียงพอหลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน และใช้จ่ายต่อเดือนในระดับ 6,000-7,000 บาท แต่ปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน หมายความว่ามีการใช้เงินมากกว่าที่มีอยู่

นางพรอนงค์กล่าวว่า ผู้มีส่วนด้านการออม อันดับแรก ทุกคนต้องตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออม รองลงมาคือภาครัฐต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชนส่งเสริมให้คนมีทักษะและความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าต้องออม และจะนำไปสู่ความรู้ว่าจะออมอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้มีเครื่องมือการลงทุน ระบบการออมภาคบังคับ รวมถึงฝั่งนายจ้าง ที่ควรมองว่าการดูแลพนักงานไม่ใช่ดูแลเฉพาะเวลาที่ทำงานกับองค์กร แต่มองไปถึงว่าหลังเลิกทำงานควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย แรงงานในระบบใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด 15% ไม่เกิน 500,000 บาท จึงอยากให้ทุกคนออมรูปแบบใดก็ได้ ในสัดส่วน 15% ของรายได้ หากออมต่ำกว่า 10% ต่อไปชีวิตลำบากแน่ ขั้นต่ำต้อง 15% หากใครทำได้ระดับ 30% เรียกว่าดี อยู่ได้ แต่หากสูงกว่า 30% ถือว่าดี ซึ่งการออมต่ำกว่า 10% อนาคตต้องพึ่งพาการถูกลอตเตอรี่ มรดก หรือมีลูกหลานเลี้ยงดู

งานวิจัยระบุว่า ปีนี้ 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ซึ่ง “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” ดังกล่าวชี้แนวโน้มว่าผู้สูงอายุมีปัญหาค่าใช้จ่าย ภาครัฐน่าจะต้องมีนโยบายและมาตรการที่จริงจังมากขึ้นในเรื่องการออม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image