ที่เห็นและเป็นไป : ‘อยู่ยาว’ไม่ได้อย่างที่‘อยาก’

ที่เห็นและเป็นไป : ‘อยู่ยาว’ไม่ได้อย่างที่‘อยาก’

หลังสภาคว่ำ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ด้วยผลงานแหกมติพรรคร่วมรัฐบาลของ “ประชาธิปัตย์” พร้อมกับการโหวตของพรรคร่วม ใน พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปคนละทิศละทาง

ทุกเสียงจากนักวิเคราะห์การเมืองประเมินไปในทางเดียวกัน “รัฐบาลอยู่ต่อยากแล้ว”

ไม่ว่าในวันที่ 30 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาอย่างไร สถานะของรัฐบาลพ้นจากเรื่องนี้ไปแล้ว

Advertisement

แรงกดดันของสถานการณ์นำไปสู่การเตรียมการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว อย่างไม่มีทางเลือกอื่น

แน่นอนว่าพรรคที่ปรารถนาจะเข้าสู่การเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเป็นพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคอย่าง “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ที่เตรียมความพร้อมมาเต็มที่

เช่นเดียวกับ “พรรคเกิดใหม่” ทั้งหลาย

Advertisement

แต่นั่นไม่ใช่แรงกดดันนำการเมืองให้เป็นอะไรขึ้นมา แม้โดยหลักแล้วความยุ่งเหยิงของสภาผู้แทนราษฎรที่ถือเป็นเหตุผลให้ “นายกรัฐมนตรี” ประกาศ “ยุบสภา”

แต่เป็นที่รู้กันว่า “การยุบสภา” จะเกิดขึ้นเมื่อผู้นำรัฐบาลควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ ความโกลาหลที่เป็นเหตุให้ต้อง “ยุบสภา” เกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลหมดความอดทนที่จะอยู่ร่วมกัน

และวันนี้ “พรรคประชาธิปัตย์” ถูกบีบคั้นให้มาถึงจุดที่จะต้องเล่นบทแตกหักแล้ว

เพื่อ “อนาคตของพรรคหลังการเลือกตั้ง”

พรรคประชาธิปัตย์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นพรรคที่ยิ่งใหญ่ ทุกการเลือกตั้งต้องถือเป็นแคนดิเดตสำคัญในฐานะ “พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” อยู่ในสถานะพรรคอันดับ 1 หรือพรรคอันดับ 2 ที่เชื่อว่าจะมี ส.ส.ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด

แม้ในช่วงหลังส่วนใหญ่จะพ่ายแพ้ ได้มาเป็นที่อันดับ 2 แต่ยังเป็นตัวเลือกของ “อำนาจเผด็จการ” ที่จะใช้เป็นภาพลวง “ประชาธิปไตย” เชิดขึ้นมาเป็น “พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” ได้เสมอ

“พรรคประชาธิปัตย์” ไม่เคยหลุดจากประวัติศาสตร์ผู้นำการเมือง

ทว่ามาถึงยุคสมัยเช่นนี้ สถานภาพของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว และหากปล่อยไว้นานโดยไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย ย่อมยิ่งดิ่งลึกลงไปอีก

หากประเมินผลการเลือกตั้งครั้งหน้า แล้วถามว่า “ประชาธิปัตย์” จะเหลือกี่เสียง

แม้จะตอบอย่างชัดเจนไม่ได้ แต่ทุกคนที่ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดย่อมรู้ดีว่าหมดหนทางที่จะเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญใน “สนามพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” แล้ว

เหลือเพียงการดิ้นรนหาโอกาสให้ได้เข้าร่วมกับ “พรรคใหญ่” เพื่อมีส่วนร่วมในอำนาจ โดยพลังต่อรองลดลงมามากมาย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะฐานสำคัญของ “ประชาธิปัตย์” คือ “กทม.” และ “ปักษ์ใต้” ถูกทำลายยับเยิน โดยเฉพาะ “ปักษ์ใต้” กลายเป็นพื้นที่ที่ทุกพรรคตั้งเป้าจะไปยึดครอง ด้วยรับรู้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ “เจ้าที่” ไม่เหลือศรัทธา บารมีเพื่อครอบครองคะแนนเสียงอีกต่อไป

ทุกพื้นที่ที่เคยเป็นเครือข่ายอันแข็งแกร่งของ “ประชาธิปัตย์” ถึงวันนี้แตกกันเองเละ พร้อมกับการขยับตัวเข้าไปแทรกของพรรคการเมืองที่เห็นโอกาส

และแน่นอนด้วยวัฒนธรรมที่สร้างความเกลียดชัง ทักษิณ ชินวัตร มาอย่างลึกซึ้งยาวนาน

โอกาสที่จะเป็นไปได้จึงแค่เพียง “พรรคร่วมรัฐบาล” ซึ่งขณะนี้ข่าวจากพื้นที่ประเมินว่าเป็น “ภูมิใจไทย” และ “พลังประชารัฐ”

แต่เพราะ “พลังประชารัฐ” ที่อาศัยภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขับเคลื่อนความนิยมเริ่มส่งผลในทางตรงกันข้าม

เนื่องจากยิ่ง “อยู่ยาว” เรื่องราวที่ใช้มารักษาอำนาจยิ่ง “พิลึก” เกินกว่าวิญญูชนจะเข้าใจได้ เพื่อให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในอำนาจได้ มีการใช้วิธีการที่ทำให้แม้แต่ “ปรมาจารย์ทางกฎหมาย” ที่ควรเป็นหลักให้คนในประเทศอยู่ร่วมกันได้ โดยระดับ “ความยุติธรรม” ที่ไม่น่าเกลียดจนเกินไป

กลับทำให้ “ปรมาจารย์พวกนี้” ถูกประณามหยามเหยียดจากคนในสังคม จนแหลกเละในภาพลักษณ์อย่างน่าเสียดาย

เมื่อเป็นที่รับรู้กันว่า “ประชาชนในปักษ์ใต้” นั้น ถึงอย่างไรสำนึกในความยึดมั่นต่อความถูกความควร ความยุติธรรม อยู่ร่วมกันด้วยหลักการที่อธิบายต่อจิตสำนึกได้ ย่อมหวั่นไหวต่อวิธีการ “เหลือจะรับ” ในการรักษาอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไว้

และเพื่อ “พลังประชารัฐ” หล่อเลี้ยงอยู่ด้วยการเชิดชู “พล.อ.ประยุทธ์” ว่ากันว่าโอกาสที่ผู้สมัครของพรรคในพื้นที่ภาคใต้จะริบหรี่ลงเรื่อยๆ

เมื่อ “เพื่อไทย” โอกาสน้อยด้วยทัศนคติที่ฝังลึกในความคิดของคนในพื้นที่ต่อ “ทักษิณ ชินวัตร” และผลจากความพยายามอุ้ม “พล.อ.ประยุทธ์” ต่อคะแนนนิยมของ “พรรคพลังประชารัฐ” ดังกล่าว

ท่ามกลางความแตกกระจายของเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่โดดเด่นขึ้นมาจึงเป็น “พรรคภูมิใจไทย” ที่มีความพร้อม และไม่มีจุดอ่อนอันจะทำให้คนในพื้นที่ปักษ์ใต้เกิดข้อรังเกียจ

เสียงที่จะสะท้อนมาจากคนในพื้นที่ด้ามขวานไทย “ภูมิใจไทย” จึงโดดเด่นอย่างยิ่ง

หาก “ประชาธิปัตย์” จะรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ จะต้องหาทางปิดโอกาสของ “ภูมิใจไทย”

และในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะรักษา “อยากอยู่ยาว” ไว้ได้อีกนานแค่ไหน “ประชาธิปัตย์” จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเร็วทุกเรื่องที่มีโอกาสสร้างความเสียหายให้ “ภูมิใจไทย”

และเพราะต่างเป็น “พรรคร่วมรัฐบาล” ด้วยกัน เมื่อเกมการต่อสู้ล้นมาจากเงื่อนไขในพื้นที่ซึ่ง “ประชาธิปัตย์” ตกอยู่ในสภาพตั้งรับอย่างทุลักทุเล

ปฏิบัติการหักในสภาจึงเกิดขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับผู้ที่ไวต่อกลิ่นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงเชื่อว่าไม่ว่าใครจะ “อยาก” แค่ไหน แต่ “ยากจะอยู่ยาว” แล้ว

ยิ่งฝืนอยู่ด้วยวิธีที่ “ไม่แคร์ว่าจะทำให้คนคิดอย่างไร” เช่นนี้ ยิ่งตอกย้ำว่า “ยิ่งอยากอยู่ยาวจะยิ่งสั้น”

เมื่อ “ประชาธิปัตย์” คือพรรคการเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเชี่ยวชาญเกมอำนาจมายาวนาน ย่อมประเมินสถานการณ์ของตัวเองได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับทางที่เลือกเดินแต่ละทาง

โดยประสบการณ์ในเกมอำนาจที่สะสมมายาวนานของ “คนในพรรคประชาธิปัตย์” ย่อมต้องมีคำตอบว่า โอกาสของพรรคที่เหลืออยู่จะต้องเดินแบบไหน

ใครคือ “ศัตรูในเกมอำนาจ” ในยุคสมัยที่หมดสภาพจะเป็นพรรคแคนดิเดตแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือโอกาสที่จะถูกเลือกขึ้นมา “รับใช้อำนาจ” เหมือนที่เป็นมา

ในลมหายใจสุดท้ายของ “อยากอยู่ยาว”

การเลือกที่จะเล่นเกมแรงกับ “คู่แข่งในสถานการณ์จริง” จึงเกิดขึ้น

และนี่เองที่มีการประเมินกันว่า แรงกดดันให้ “ยุบสภา” จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เพราะไม่เพียง “ประชาธิปัตย์” ต้องแสดงอิทธิฤทธิ์เพื่อฟื้นฐานเสียงเท่านั้น

แต่ “ภูมิใจไทย” ก็จะต้อง “ช่วงชิงรักษาโอกาสที่กำลังเอื้อให้นั้นด้วย”

หากวันใดที่ “3 ป.” ตกผลึกในทางออกว่า จะกลับมา “อยู่ยาวหลังเลือกตั้ง” ด้วยวิธีไหน วันนั้น “วาระของสภาชุดนี้จะจบลง”

แน่นอนคือ แรงกดดันให้ต้องรีบตัดสินใจ “ยุบสภา” จะแรงขึ้นเรื่อยๆ จากทุกฝ่าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image