แข็ง พึง เลี่ยง ถอยทาง ยุทธศาสตร์ อนุศาสน์ ซุนวู

แข็ง พึง เลี่ยง ถอยทาง ยุทธศาสตร์ อนุศาสน์ ซุนวู

แข็ง พึง เลี่ยง
ถอยทาง ยุทธศาสตร์
อนุศาสน์ ซุนวู

กลยุทธ์ที่ 36 ในมุมของ บุญศักดิ์ แสงระวี ถอดความออกมาเป็น “หนีคือยอดกุลยุทธ์” ต่างกันเล็กน้อยกับ ประดิษฐ์ พีระมาน ที่ระบุ “ถอยทัพยอดยุทธ์”

ยืนยันถึงความใกล้เคียงกันระหว่าง “หนี” กับ “ถอย”

แม้กลยุทธ์เดียวกันนี้ ม.อึ้งอรุณ จะเห็นว่า “เดิน คือ ยอดกระบวนยุทธ์” ขณะที่มองจากด้านของ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย ทุบโต๊ะไปยัง “หนีดีกว่า”

Advertisement

ทั้งหมดนี้มีความโน้มเอียงระหว่าง “หนี” กับ “ถอย” ในลักษณะเป็น “ไวพจน์”

ประดิษฐ์ พีระมาน ยืนยันว่า กลยุทธ์ ถอย ทัพ ยอด ยุทธ์ คือ ปรัชญาสูงสุดของการศึกสงคราม ทั้งนี้ ระหว่างสู้รบกันจะมีทั้งการรุกและการถอยอยู่ตลอดเวลา

แม่ทัพที่ชำนาญศึกจะสามารถพิชิตข้าศึกได้ทั้งยามรุกและยามถอย แม่ทัพที่ชำนาญศึกจะเตรียมอุบายถอยทัพเอาไว้ก่อนการเคลื่อนทัพ เพื่อผลิกผันการสู้รบให้ข้าศึกพ่ายแพ้ได้ทั้งยามรุกและยามถอย

Advertisement

เมื่อถึงคราวจำเป็นจะต้องถอยทัพจริงข้าศึกก็ไม่กล้ารุกไล่ติดตาม

ไม่ว่าจะศึกษาใน “36 กลอุบาย” จากการเรียบเรียงของ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย ไม่ว่าจะศึกษาใน “36 กลยุทธ์ แห่งชัยชนะ ในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล” ของ บุญศักดิ์ แสงระวี

ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันระหว่าง “หนี” กับ “ถอย”

เมื่อถึงคราวคับขันและรู้ว่าถึงอย่างไรก็ไม่มีทางสู้ การหลบหนีหรือหลีกเลี่ยงภาวะคับขันที่จะเป็นอันตรายก็เป็นทางเลือกที่ดี

เป็นการแจกแจงของ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย

เพราะคู่ต่อสู้มีความได้เปรียบมาก ถ้าไม่หนี เราก็จะต้องถูกทำลายพ่ายแพ้อย่างยับเยิน หรือไม่ก็จะต้องยอมจำนน หรือต้องขอเจรจาสงบศึก

โดยที่ฝ่ายตรงข้ามจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขบางประการซึ่งเรายอมไม่ได้

ในกรณีเช่นนี้ การหลีกเลี่ยงหรือหลบหนีไม่คิดต่อสู้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะการหลบหนีไม่ต่อสู้ไม่ใช่การพ่ายแพ้

แต่เป็นการถอยเพื่อสะสมกำลังไว้กลับมาต่อสู้ใหม่ในเวลาข้างหน้า

ย่อมตรงกับที่ “เหมาเจ๋อตง” เน้นหนักแน่นในตอนว่าด้วย “การถอยทางยุทธศาสตร์” ในบทความขนาดยาวเรื่อง “ปัญหายุทธศาสตร์ในสงครามปฏิวัติของจีน” เมื่อเดือนธันวาคม 1936

จำเป็นต้องอ่าน

การถอยทางยุทธศาสตร์เป็นจังหวะก้าวทางยุทธศาสตร์ที่มีแผนการจังหวะหนึ่งซึ่งกองทหารที่มีกำลังด้อยกว่าใช้เพื่อรักษากำลังทหารของตน

และรอคอยโอกาสทำลายข้าศึก

เพราะคำนึงถึงข้อที่ว่าตนไม่สามารถตีการรุกของข้าศึกให้แตกไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญกับการรุกของกองทหารที่มีกำลังเหนือกว่า แต่พวกลัทธิเสี่ยงภัยทางการทหารกลับคัดค้านจังหวะก้าวชนิดนี้อย่างเด็ดเดี่ยว

ความคิดเห็นของพวกเขาคือสิ่งที่เรียกว่า “ตั้งรับข้าศึกที่นอกประตูเมือง”

ใครบ้างไม่รู้ว่า เวลาที่นักมวย 2 คนต่อสู้กัน นักมวยที่ฉลาดมักจะหย่อนมือไว้ก่อน แต่คนโง่กลับทำท่าฮึกเหิม ปล่อยฝีมือเท่าที่มีอยู่ออกมาเสียหมดตั้งแต่เริ่มแรก

ผลสุดท้าย มักถูกผู้หย่อนมือให้ชกคว่ำไป

ครูหุง ในเรื่อง “สุยหู่จ้วน” จะต่อย หลินซุง ที่บ้าน ไฉจิ้น ร้องตะโกนว่า “มา” “มา” “มา” ติดๆ กันหลายคำ

ผลสุดท้าย หลินซุง ผู้หย่อนมือให้มองจุดอ่อนของ ครูหุง ออก เตะทีเดียวครูหุงก็คว่ำไป

อย่าได้แปลกใจหาก บุญศักดิ์ แสงระวี เมื่อเรียบเรียง “36 กลยุทธ์สู่ชัยชนะภาคปฏิบัติ” จะยกตัวอย่าง “เหมาเจ๋อตง นำทัพ 4 ข้ามแม่น้ำฉื้อสุ่ย” มาเป็นตัวอย่าง

จำเป็นต้องอ่านอีกเหมือนกัน

การเดินทัพทางไกลของกองทัพแดง (ค.ศ.1934-1935) ได้ดำเนินการรบ 4 ข้ามแม่น้ำฉื้อสุ่ยซึ่งหนีเพื่อไปสู่ชัยชนะในบั้นปลาย

กองทัพแดงออกจากจุนอี้ขึ้นไปทางเหนือ

ข้ามแม่น้ำฉื้อสุ่ยครั้งแรกเตรียมที่จะข้ามแม่น้ำฉางเจียงที่หลูโจวและอี่ปิงของมณฑลเสฉวนเพื่อไปสมทบกับกลุ่มกองทัพด้านที่ 4 ในฐานที่มั่นเขตแดนต่อแดนเสฉวน-ส่านซี

กองทัพก๊กมินตั๋งรีบไล่มาทั้ง 4 ทิศตั้งเป็นวงล้อมขนาดใหญ่

เมื่อเป็นดังนี้การข้ามแม่น้ำฉางเจียงตามแผนเดิมก็ถูกสกัด เหมาเจ๋อตง ตัดสินใจละทิ้งแผนการเดิมนำทัพหักเหไปทางเจ้าซีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลหยุนหนาน

ชุมนุมทัพรอคอยโอกาส

เมื่อพบว่า ในมณฑลกุ้ยโจวกำลังทหารข้าศึกว่างเปล่าจึงนำทัพรุกไปทางตะวันออกข้ามแม่น้ำฉื้อสุ่ยเป็นครั้งที่ 2 และรบชนะอย่างใหญ่หลวงในโหลวซานกวนและจุนอี้ในกุ้ยโจว

เพื่อที่จะสร้างความฉงนสนเท่ห์และเคลื่อนย้ายข้าศึกที่ประชิดตามเข้ามา

กองทัพแดงก็ข้ามแม่น้ำฉื้อสุ่ยเป็นครั้งที่ 3 บุกไปยังกู่หลินทางใต้มณฑลเสฉวน จงใจสร้างภาพลวงให้เห็นว่าจะขึ้นเหนือไปข้ามแม่น้ำฉางเจียงอีก

เมื่อทัพข้าศึกระดมมาที่เสฉวนภาคใต้เพื่อสกัดกั้น

กองทัพแดงก็หันหัวรุกไปทางตะวันออกข้ามแม่น้ำฉื้อสุ่ยเป็นครั้งที่ 4 ลงใต้ข้ามแม่น้ำฮูเจียงและประชิดเมืองกุยหยางเข้าไป จากนั้นนำทัพฝ่าข้ามถนนหลวงสายหูหนาน-กุ้ยโจวพุ่งเข้าสู่หยุนหนาน ข้ามแม่น้ำจินซาเจียง

ในที่สุดก็สามารถสะบัดหลุดจากการโอบล้อมสกัดกั้นของข้าศึกหลายสิบหมื่นคนโดยที่ตัวเองมีกำลังอยู่เพียง 3 หมื่นคนเท่านั้น

เดินทัพดั้นด้นไปจนถึงเอี๋ยนอันตามแผนที่กำหนดวาง

ถามว่ารากฐานของ “หนีคือยอดกลยุทธ์” หรือ “ถอย ทัพ ยอด ยุทธ์” หรือ “หนี เป็นดีที่สุด” หรือ “หนีดีกว่า” กระทั่งรวมรวบยอดเป็น “ถอยทางยุทธศาสตร์”

มี “รากฐาน” ในทาง “ความคิด” มาอย่างไร

จากหนังสือ “36 กลยุทธ์สู่ชัยชนะภาคปฏิบัติ” ระบุว่า แนวคิดดั้งเดิมของกลยุทธ์นี้มาจาก “ตำราพิชัยสงครามซุนวู”

โดยซุนวูได้เขียนไว้หลายแห่ง

เช่น ในประเมินศึกบทที่ 1 เขียนไว้ว่า “ข้าศึกแข็งให้หลีกเลี่ยง” ในกลวิธีรุก บทที่ 3 เขียนไว้ว่า “มีน้อยกว่าก็เลี่ยงหนี มีไม่ทัดเทียมก็หลบหลีก”

ขณะเดียวกัน เมื่อเขียน “36 กลยุทธ์แห่งชัยชนะในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล”

กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า เมื่อรบกับข้าศึก หากข้าศึกแข็งเราอ่อน อาจจะถอยร่นอย่างรวดเร็วเพื่อหลบเลี่ยงการปะทะเสียก่อน

ดังคำกล่าวใน “คัมภีร์อี้จิง แม่ทัพ” ว่า “ถอยหนีมิผิดเป็นวิสัยซึ่งสงคราม”

เท่ากับชี้ชัดว่า การถอยหนีในการทำสงครามนั้นมิใช่ความผิดพลาด หากแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในการรบที่มักจะพบเห็นเสมอ

อะไรคือ เหตุผลที่รองรับต่อการถอย

เหตุผล 1 เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายในยามที่เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ขณะเดียวกัน เหตุผล 1 เพื่อชิงโอกาสตอบโต้ในภายหลัง

มิใช่ถอยหนีอย่างพ่ายแพ้หมดรูป ตีโต้กลับมิได้อีก

บุญศักดิ์ แสงระวี เน้นว่า นี่เป็นกลยุทธ์ที่ฝ่ายซึ่งอยู่ในฐานะเลวกว่าใช้รูปแบบถอยหนีเพื่อหาโอกาสพิชิตข้าศึกอย่างหนึ่ง

ตำราพิชัยสงคราม “ไหวหนานจื่อ ฝึกการยุทธทหาร” เคยกล่าวไว้ว่า “แข็งจึงสู้ อ่อนก็หนี”

ตำราพิชัยสงครามอีกเล่ม “ปิงฝ่าหยวนจีไต้” กล่าวไว้ว่า “แม้นหลบแล้วรักษาไว้ได้ ก็พึงหลบ”

เช่นเดียวกับ “ซุนจื่อ (ซุนวู) บทกลยุทธ์” กล่าวว่า “แข็งพึงเลี่ยงเสีย”

กลยุทธ์นี้จึงมีผู้สรุปว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดีจะต้องหลีกเลี่ยงกับการสู้รบขั้นแตกหักกับข้าศึก

ทางออกจึงมี 3 ทาง คือ ยอมจำนน เจรจาสงบศึก ถอยหนี
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การยอมจำนนคือการพ่ายแพ้อย่างถึงที่สุด การขอเจรจาสงบศึกคือการพ่ายแพ้ครึ่งหนึ่ง

ถอยหนีอาจจะแปรเปลี่ยนมาเป็นชัยชนะได้

มีบทสรุปอย่างรวบรัดว่า แม่ทัพที่รบชนะอย่างต่อเนื่องมักฮึกเหิมลำพองใจ ขณะที่แม่ทัพที่รบแพ้ก็นำไปสู่ความสุขุมรอบคอบมากยิ่งขึ้น

การต่อสู้มักจะลงเอยด้วย 2 ทางเสมอ

หากไม่ได้รับชัยชนะ ก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ 2 ความจริงนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถ่องถ้วน

แม่ทัพที่เก่งกาจล้วนแล้วแต่เคยรบแพ้มาแล้วทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image