สะพานแห่งกาลเวลา : ถึงเวลาต้องจริงจังกับ‘ลองโควิด’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-ขอบคุณภาพจาก www.rama.mahidol.ac.th/)

เมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถูกลดระดับลงเป็นโรคประจำถิ่น ปริมาณการแพร่ระบาดลดลง ปริมาณผู้ติดเชื้อแล้วล้มป่วยลดลง ปริมาณของผู้เสียชีวิตลดลง ก็ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงปัญหาระยะยาวอย่าง “ลองโควิด” (Long Covid) กันอย่างจริงจังเสียที

“ลองโควิด” หรือ “โควิดเรื้อรัง” เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมานานแล้ว แม้ในช่วงของการแพร่ระบาด หลังจากพบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้วยังคงแสดงอาการบางอย่าง หรือหลายอย่างอยู่นานนับเดือน หรือโดยถาวร แม้จะยังไม่มีการศึกษา หาข้อมูลและวิจัยกันอย่างจริงจังมากนัก แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนเคยเตือนเอาไว้ว่า ภาวะลองโควิดจะกลายเป็นปัญหาใหญ่และร้ายแรงทางด้านสาธารณสุขในระยะยาว

ในสหรัฐอเมริกามีข้อมูลจากการประเมินของหน่วยงานทางการระบุเอาไว้ว่า มีคนอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากภาวะลองโควิดอยู่ระหว่าง 7.7 ล้านคนถึง 23 ล้านคน ซึ่งมากไม่ใช่เล่นๆ

ด้วยเหตุนี้จึงมีหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาที่ออกมารณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรียกร้องให้รัฐบาลรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพทั้งในการผลักดันให้เกิดการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังและกว้างขวางเกี่ยวกับลองโควิด และดำเนินความพยายามหาหนทางทั้งเพื่อป้องกัน, เพื่อการวินิจฉัยและเพื่อการเยียวยารักษาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของภาวะลองโควิดนี้

Advertisement

หน่วยงานที่ว่าคือ สำนักงานบริการมนุษย์และสุขภาพ (เอชเอชเอส) แพทย์หญิง ราเชล แอล. เลวีน ผู้อำนวยการเอชเอชเอส เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์วารสารวิชาการด้านการแพทย์ จามา ไว้เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ย้ำว่า เรื่องนี้มีความสำคัญมากเนื่องจากมีผลกระทบสูง ไม่เพียงด้านสาธารณสุขแต่ยังส่งผลสะเทือนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย

สิ่งที่ ดร.เลวีนเรียกร้องก็คือ รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดการศึกษาวิจัยอย่างเป็นทางการ เพื่อหานิยามที่เหมาะสมและถูกต้องของโรคนี้ ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดกรณี
ผู้ป่วยลองโควิดถูกกีดกันออกไปจากระบบ

ดร.เลวีนเปิดเผยว่า จากข้อมูลที่เคยได้รับที่ผ่านมา ทางเอชเอชเอสค่อนข้างมั่นใจว่าระหว่าง 5-30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโควิด-19 จะเกิดปัญหาภาวะลองโควิดขึ้นตามมา

Advertisement

เว็บไซต์รามาแชนเนลของมหาวิทยาลัยมหิดล เคยจำแนกอาการลองโควิดเอาไว้ว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นระหว่างการติดเชื้อแล้ว ดำเนินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เช่น มีไข้, ปวดหัว, วิงเวียนศีรษะคล้ายเป็นลม, หายใจเหนื่อย, หายใจไม่อิ่ม, แน่นหน้าอก, เพลีย เหนื่อยง่าย, ขาดสมาธิ, ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เป็นอาทิ

กลุ่มที่ 2 เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ จนเนื้อเยื่อบางส่วนของอวัยวะนั้นๆ ถูกทำลายและก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะเหล่านั้นในระยะยาว

กลุ่มที่ 3 เป็นภาวะที่เกิดจากผลกระทบทางด้านจิตใจ ทั้งจากการต้องนอนโรงพยาบาลนานๆ หรือต้องสอดท่อช่วยหายใจ หรือถูกปั๊มหัวใจ จนอาจเกิดภาวะเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการที่มีสาเหตุจากจิตใจขึ้นได้ อย่างเช่น อาการเหนื่อยอ่อน แขนขาอ่อนแรงทั้งๆ ที่ไม่มีเชื้ออยู่ในตัว หรือเกิดภาวะเครียดหลังเผชิญเหตุรุนแรง (post-traumatic stress disorder-PTSD) ได้

ในสหรัฐอเมริกาเพิ่งมีรายงานของทีมวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันบรูกกิงเผยแพร่ออกมาว่า ภาวะลองโควิดจะส่งผลทำให้แรงงานอเมริกันถูกกันออกจากการทำงานหรือตกงานถึงอย่างน้อย 4 ล้านคน และจะก่อให้เกิดผลกระทบจากการสูญเสียรายได้สูงถึงอย่างน้อยปีละ 170,000 ล้านดอลลาร์ โดยยังไม่นับรวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว ชุมชน และต่อสังคมโดยรวม

เอชเอชเอสถึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐทั้งหมดกว่า 200 หน่วยงาน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้พร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนต่อผู้ป่วยลองโควิด

ผมเห็นด้วยกับ ดร.เลวีน ที่ว่ารัฐบาลไม่เพียงแต่ของสหรัฐอเมริกาต้องหันมาใส่ใจทั้งกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะลองโควิดอย่างจริงจัง และในเวลาเดียวกันก็เตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือ หรือสนับสนุนผู้ป่วยลองโควิดที่แท้จริงในอนาคต

เตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่าแน่นอนครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image