เดินหน้าชน : กะเผลก

เดินหน้าชน : กะเผลก การเมืองผ่านความอึมครึมไปอีกเปลาะ

เดินหน้าชน : กะเผลก

การเมืองผ่านความอึมครึมไปอีกเปลาะ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังนั่งเก้าอี้นายกฯไม่ครบ 8 ปี โดยเริ่มนับการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับใช้ “บิ๊กตู่” จึงกลับมานั่งเก้าอี้นายกฯต่อ หลังถูกสั่งให้เว้นวรรคชั่วคราวตั้งแต่ 24 สิงหาคม

ขณะที่การเมืองในภาพรวมเริ่มเข้าสู่โหมดเตรียมเลือกตั้งใหม่ อย่างช้าสุดวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากสภาอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566

แต่มีการประเมินกันว่า อาจจะมีการเลือกตั้งเร็วกว่านั้น คาดกันว่าหลังการประชุมผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน จะมีการยุบสภาในเดือนธันวาคม แล้วมีการเลือกตั้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 บนเงื่อนไขที่รัฐบาลได้เปรียบในการจัดองคาพยพต่างๆ อีกทั้งปั๊มผลงาน ฟื้น “กระแส” บวก และตุน “กระสุน” ไว้พร้อม

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การคัมแบ๊กเก้าอี้นายกฯของ “บิ๊กตู่” ก็เป็นชนวนให้ผู้ชุมนุมนัดรวมตัวต่อต้านอีกครั้ง

อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลเกิดร้อยร้าวเล็กๆ จากความขัดแย้งเรื่องร่าง พ.ร.บ.กัญชา และร่างกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่โหวตกันไปคนละทาง

ต้องรอดูว่า “บิ๊กตู่” จะ “กะเผลก” นำรัฐบาลไปสู่จุดไหนก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

Advertisement

ส่วนภาคเศรษฐกิจ ที่เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว ก็ยังอยู่ในภาวะความผันผวน ยากจะคาดเดา จาก “มือที่มองไม่เห็น” ของกลไกตลาด ในระบบทุนนิยม ที่บิดเบี้ยวไปจากภาวะปกติ ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งการระบาดของโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ทุกประเทศทั่วโลกถูกแรงกระแทกไปตามๆ กัน

เศรษฐกิจไทยก็ตกอยู่ในห่วงโซ่วิกฤตนี้ ราคาน้ำมันตลาดโลกแม้จะอ่อนตัวลงมาต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังอยู่ในระดับสูง 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าช่วงฤดูหนาวในแถบยุโรป ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นอีกครั้งเพราะมีความต้องการใช้มากขึ้น

นอกจากนี้ หลายประเทศเจอกับวิกฤตเงินเฟ้อ ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดไม่ให้พุ่งเกินไป ส่งผลให้เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย กำลังซื้อก็จะลดลง อาจทำให้การส่งออกไทยหดตัวลง

แม้เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากจะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ก็เป็นผลลบกับการนำเข้า โดยเฉพาะวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่ราคาจะแพงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและจะส่งผ่านมายังสินค้าต่างๆ ที่อาจต้องปรับราคาขึ้น

เมื่อต้นทุนสูงและสินค้าแพงขึ้น ก็จะดันให้เงินเฟ้อสูงอีก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ล่าสุด ขึ้นอีก 0.25% ไปสู่ระดับ 1% และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก

ขณะที่แบงก์พาณิชย์ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยตามแล้วทั้งเงินฝากและเงินกู้…คนมีเงินฝากอาจจะยิ้มบ้าง แต่คนกู้คงร่ำไห้หนัก

นั่นเป็นผลจากค่าเงิน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ที่ผูกโยงกันด้วย “มือที่มองไม่เห็น”

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ที่ได้อานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่าช่วยหนุนให้ต่างชาติสนใจเข้ามาไทยมากขึ้น หลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ล่าสุด เข้ามากว่า 5 ล้านคน คาดว่าทั้งปีนี้ถึงเป้า 10 ล้านคนแน่

แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังห่างไกลจากก่อนโควิดระบาดเมื่อปี 2562 ที่มีต่างชาติมาไทยเกือบ 40 ล้านคน

ขณะที่ภาคธุรกิจต่อเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์และอื่นๆ แม้จะเริ่มกลับมาคึกคักขึ้น แต่ก็ยังฟื้นไม่เต็มที่ อีกทั้งแรงงานก็ยังขาดแคลน หลังจากหายไปตั้งแต่ช่วงโควิด

ภาพ “การเมือง” และ “เศรษฐกิจ” ไทยในขณะนี้จึงอยู่ในอาการ “กะโผลกกะเผลก” จะหกล้มหรือจะแข็งแรงขึ้น ต้องรอดู

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image