เดินหน้าชน : สกัด‘แชร์ลูกโซ่’ โดย สัญญา รัตนสร้อย

ขบวนการฉ้อโกงยื่นข้อเสนอสุดพิเศษยั่วกิเลสเหยื่อ มอบผลประโยชน์สูงลิบในเวลารวดเร็วอย่างเหลือเชื่อจะเป็นไปได้

แต่ก็มีคนเชื่อ จำนวนไม่น้อยเสียด้วย

กลโกงที่ว่าถูกออกแบบล่อลวงในหลายรูปแบบ สุดท้ายมาบรรจบกับคำว่า “แชร์ลูกโซ่” สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล เช่น คดีฟอเร็กซ์-3ดี ที่กำลังไล่เบี้ย
เอาผิดมีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องยาวเหยียด ดารานักร้องนักแสดงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ต้องตกเป็นผู้ต้องหาร่วมขบวนการ มีเหยื่อโดนหลอกลวงกว่า 8 พันคน มูลค่าเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท

อ้างว่าทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา สร้างหลักฐานน่าเชื่อถือ เบื้องหลังคือใช้เงินใหม่ที่เข้ามา (นักลงทุนมักใส่เงินเพิ่มทุกรอบ เพราะเห็นว่าผลตอบแทนสูง) จ่ายผู้ลงทุน เมื่อถึงจุดพีคก็หอบเงินหนี

Advertisement

แน่นอนฟอเร็กซ์-3ดี ไม่ใช่คดีแรก มีผุดขึ้นมาเป็นระยะ

น่าสนใจตรงที่แม้เป็นวิธีเก่าๆ ซ้ำๆ แต่ยังมีผู้หลงเชื่อมาตลอด

อีกหนึ่งของความน่าสนใจคือ ผู้นำเงินไปลงทุนไม่ใช่กลุ่มรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ต้องการหารายได้เพิ่ม รวมถึงกลุ่มฐานะดีที่ต้องการต่อเงินให้มั่งคั่งยิ่งขึ้น จนมองข้ามความเสี่ยง

Advertisement

เข้าใจบ้านเราน่าจะได้ยินคำว่า “แชร์ลูกโซ่” ครั้งแรก เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ซ่อนมาในรูป “แชร์แม่ชม้อย” อ้างทำธุรกิจการซื้อขายน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศ เชิญชวนผู้สนใจร่วมลงขัน ให้ผลตอบแทนสูง

ปิดจ๊อบฉ้อโกงไปกว่า 500 ล้านบาท เทียบปัจจุบันน่าจะตกหลายพันล้านเหมือนกัน

คดีครึกโครม “แม่ชม้อย” ครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายเข้ามากำกับ คือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527

ต่อมามี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

หากคดีมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก วงเงินเสียหายสูงตามเกณฑ์กำหนด จะเข้าไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำหน้าที่ตามยึดอายัดทรัพย์สินจากการกระทำผิด มาเฉลี่ยให้ผู้เสียหาย

แน่นอน เงินที่ได้คืนนับว่าน้อยนิดอย่างยิ่งเทียบกับเงินที่เสียไป

ดังนั้นหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ น่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องปราม

มีข้อเสนอให้หน่วยงานข้างต้นเข้ามาร่วมทำงานเชิงรุกแนวป้องกัน มากกว่าเชิงรับหรือปราบปราม เช่น ความร่วมมืออย่างเข้มข้นจากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในการรายงานธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัยส่งให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำหรับเป็นข้อมูลตรวจสอบ ระงับเหตุก่อนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อาจช่วยสอดส่องขบวนการชักชวนการลงทุนโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ที่ปัจจุบันมิจฉาชีพมีการใช้ช่องทางนี้อย่างแพร่หลาย

หากความร่วมมือเกิดขึ้นได้ ก็น่าจะช่วยสกัดความเสียหายจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ “แชร์ลูกโซ่” ลงไปได้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image