สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ปรับ ครม.’

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ปรับ ครม.’ ยินดีต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ปรับ ครม.’

ยินดีต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีคนสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นนายกฯมาตั้งแต่ปี 2557 นั้น ได้ทำงานในตำแหน่งนายกฯมาถึง พ.ศ.นี้แล้วครบ 8 ปี ซึ่งเป็นข้อห้ามรัฐธรรมนูญหรือไม่

คนที่นับตัวเลขตามปีก็บอกว่าครบแล้ว แต่บทบัญญัตินี้เพิ่งกำหนดขึ้นตอนที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ตอนปี 2560

Advertisement

ตุลาการเสียงข้างมากบอกว่า ต้องเริ่มนับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 ไม่ใช่ปี 2557
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว คำสั่งเดิมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวก็คลายมนตร์

พล.อ.ประยุทธ์กลับมาแอ๊กชั่นในบทบาทนายกฯ ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็ต้องถอยไป
แต่ดูเหมือนหลายคนยังเสียดาย เพราะชอบใจตอนที่ พล.อ.ประวิตร รักษาการนายกฯได้เดินหน้าลุยงานถึงลูกถึงคน

หลายคนประทับใจในลีลา ท่าทาง คำพูด และการให้สนับสนุนคนที่มาขอรับการสนับสนุน

Advertisement

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ คงประทับใจ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค จึงเอ่ยปากสนับสนุนให้เป็นนายกฯสมัยหน้า เล่นเอาสมาชิกคนอื่นๆ ออกมาบอกปัดว่า เป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัว

ส่วนแวดวงการเมือง เริ่มมอง “สถานีต่อไป” ว่าจะมีการปรับ ครม.กันหรือไม่

เรื่องนี้ เดิมทีรัฐบาลขาดรัฐมนตรีไป 2 คน คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

แม้บรรดา ส.ส.ในพรรคอยากให้ปรับ ครม. แต่ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่สนใจ

แต่คราวนี้พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลก็มีโควต้ารัฐมนตรีที่ว่างลง

ในจำนวนนี้คือเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี จากพรรคประชาธิปัตย์ ลาออก

หากพรรคร่วมรัฐบาลต้องการส่งคนไปทำงาน พล.อ.ประยุทธ์จะมีท่าทีอย่างไร

ยิ่งช่วงก่อนสภาครบเทอม 180 วันนี้ กกต.ออกกฎเหล็กห้ามว่าที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองหาเสียงผิดกฎหมายเลือกตั้ง นั่นคือ ห้ามแจกของช่วยเหลือชาวบ้าน

ยิ่งข้อห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงรัฐมนตรีที่ทำงานในหน้าที่

ยิ่งทำให้ตำแหน่งรัฐมนตรีมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งหน้ามากขึ้น

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้โควต้ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ต้น ถ้าไม่มีคนของพรรคไปดำรงตำแหน่ง เท่ากับว่าขาดโอกาสทำงานช่วยเหลือชาวบ้าน

ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนในห้วงเวลาที่พวกเขาลำบาก จึงถือว่าเสียโอกาส

ด้วยเหตุนี้จึงมีความเคลื่อนไหวจากพรรคประชาธิปัตย์ ผลักดันให้ปรับ ครม.

การปรับ ครม.ทำให้คนในพรรคได้เป็นรัฐมนตรี ทำให้ประชาธิปัตย์มีโอกาสเข้าถึงประชาชน
แต่อาจส่งผลให้รัฐบาลแกว่ง อาจทำให้พรรคพลังประชารัฐเสียเปรียบ
อาจช่วยให้พรรคคู่แข่งพรรคที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมีกำลังวังชา

ขณะเดียวกัน ภายในพรรคพลังประชารัฐก็มีคนอยากให้ปรับ ครม. และมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตลอด
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์จะชั่งตวงวัดผลดีผลเสียแล้วตัดสินใจ

ตัดสินใจว่าจะปรับ ครม. หรือไม่ปรับ ครม.
จะปรับใครเข้า จะปรับใครออก
เรื่องนี้ผู้คนแวดวงต่างๆ ให้ความสนใจ

การปรับ ครม. จึงเป็นสถานีต่อไปที่ต้องจับตามอง

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image