เดินหน้าชน : เหว‘พลังงาน’

เดินหน้าชน : เหว‘พลังงาน’ แม้ไทยจะประกาศผ่านพ้นวิกฤตโควิดแล้ว

เดินหน้าชน : เหว‘พลังงาน’

แม้ไทยจะประกาศผ่านพ้นวิกฤตโควิดแล้ว แต่กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ก็เต็มไปด้วยบาดแผลและความสูญเสียอย่างมหาศาล ทั้งชีวิตคน อีกทั้งผลกระทบต่อเนื่องอย่างใหญ่หลวง ทั้งสังคมและเศรษฐกิจ

แต่เมื่อพิษโควิดจางลง กลับมีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นวิกฤตแทรกซ้อนทำให้ทั่วโลกปั่นป่วน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่พุ่งพรวด และยาวนาน เป็นห่วงโซ่วิกฤตกระทบซ้ำเศรษฐกิจอีก

ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้อีกครั้ง อยู่ที่ 3.2% หดตัวลงจาก 6% เมื่อปีก่อน ส่วนปี 2566 ก็คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.7% ลดจาก 2.9% ที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม

Advertisement

โดยเฉพาะเศรษฐกิจ 3 เสาหลักของโลก คือ สหรัฐ จีน และยุโรป ที่มีจีดีพีรวมกันเป็น 1 ใน 3 ของโลก เกิดภาวะชะงักงันและส่อว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ส่วนประเทศไทย ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและภาคเอกชนหลายคนประเมินไปในทางเดียวกันว่าปีหน้าเศรษฐกิจยังจะเจอมรสุมหนักอีก ตอนนี้เริ่มเห็นแววบ้างแล้วจากภาคการส่งออกที่เริ่มแผ่วลง

ช่วงที่ไทยเผชิญวิกฤตโควิด เศรษฐกิจทรุดอย่างมาก ก็ได้ภาคการส่งออกมาช่วยพยุงไว้ได้ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญแย่ลง ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากไทยเริ่มลดลงแล้ว

Advertisement

แต่ยังดีที่ภาคการท่องเที่ยว เริ่มกลับมาฟื้นตัว ที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจทดแทนการส่งออก

อย่างไรก็ตาม วิกฤตราคาพลังงานยังคงอยู่ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังยืดเยื้อ และล่าสุดกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร หรือ “โอเปคพลัส” ก็ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีกวันละ 2 ล้านบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกยังยืนสูงต่อเนื่อง

ประเทศไทยที่ต้องนำเข้าพลังงานเป็นหลักก็ต้องกระอักเลือดต่อ นอกจากราคาพลังงานตลาดโลกสูงขึ้นแล้ว ยังเจอเงินบาทอ่อนค่าลงซ้ำอีก ราคาน้ำมันและก๊าซ จึงเจอสองเด้งพุ่งพรวด ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังเหนื่อยและหนักต่อไป

ขณะที่น้ำมันและก๊าซ เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าและการขนส่ง เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นก็จะส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภค ที่จะดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีกแล้ว กนง.ก็จะต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดไม่ให้เงินเฟ้อสูงเกินไป แล้วปัญหาก็วนลูปเดิม

ดังนั้น ในหนทางข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นปากเหวจากวิกฤตพลังงาน แต่ภาครัฐและเอกชนจะรับมือกันอย่างไร

วันพุธที่ 26 ตุลาคมนี้ กอง บก.มติชนจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Energy For Tomorrow วาระโลก วาระประเทศไทย 2023” เวลา 13.00-16.15 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 (ชั้น 5) ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ โดยมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลังงาน : วาระโลก วาระประเทศไทย 2023”

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Road Map พลังงานไทย” จาก วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

บรรยายพิเศษหัวข้อ “ธุรกิจยั่งยืน ปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero” โดย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ส่งท้ายด้วยวงเสวนาหัวข้อ “มุมมองธุรกิจ ทิศทางพลังงานไทย 2023” จาก สุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซีมอเตอร์-ซีพี จำกัด ค่ายเอ็มจี (MG) และ ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำโครงการหมู่บ้านติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

งานสัมมนาครั้งนี้ น่าจะมีคำตอบว่าประเทศไทยจะฝ่า “หุบเหวพลังงาน” นี้ไปได้อย่างไร ให้บอบช้ำน้อยที่สุด

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image