สบช.ผุดคณะแพทยศาสตร์ มุ่งเป้าผลิตเพื่อชุมชน

สถาบันพระบรมราชชนก จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลิตแพทย์สู่ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการกระจายแพทย์ลงสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือจัดรูปแบบหมอครอบครัวที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 55 มาตรา 258 ซ (5) แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) พ.ศ.2560-2579 พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 มาตรา 15 แผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข 2564 รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 เมษายน 2565 เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม ระยะที่ 2 ตั้งแต่ ปี 2565-2570 ภายใต้กรอบงบประมาณ 50,608.40 ล้านบาท เพื่อผลิตแพทย์จำนวน 13,318 คน และประการสำคัญ คือ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ โรงพยาบาลราชบุรี และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้สถาบันบรมราชชนก แก้ไขปัญหาการจัดหาคณะแพทยศาสตร์ต้นสังกัดให้กับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก การจัดทำหลักสูตรและผลิตบัณฑิตแพทย์ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ของสถาบันรับรองการศึกษาทางการแพทย์ (IMEAc) จำเป็นต้องมีคณะแพทย์ต้นสังกัด

จากเหตุผลต่างๆ สถาบันพระบรมราชชนก จึงไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะตามพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ผลิตและพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข จึงได้รับฟังความคิดเห็นจากปราชญ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดังนี้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวในการปาฐกถาพิเศษในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ ทิศทางและบทบาทของบุคลากรสุขภาพในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ว่า “สถาบันพระบรมราชชนก ต้องเป็นอาศรมความคิดเรื่องระบบสุขภาพ โดยความคิดเรื่องระบบสุขภาพต้องมาก่อนการวิจัย สถาบันพระบรมราชชนกมีแนวคิดในการจัดการศึกษาเพื่อการผลิตบุคลากรที่ตอบสนองระบบสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะในระบบบริการปฐมภูมิซึ่งจะทำให้เกิด Unlimited access to expertise around the world”

สอดคล้องกับ ฯพณฯ ท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ที่ได้กล่าวในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การผลิตบัณฑิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ของโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก วันที่ 19 มกราคม 2565 ว่า “สถาบันพระบรมราชชนก มีฐานที่ดีในการจัดการศึกษา คือ มีวิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยการสาธารณสุข วิทยาลัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ ต้องต่อสู้ มีความเชื่อมั่นต่อการผกผัน ในยุคปัจจุบัน และมุ่งมั่นที่จะสร้างหมอให้กับชาวบ้าน ขอให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ ใช้เวลาสร้างคนเพื่อตอบโจทย์ให้แผ่นดินต่อไป”

Advertisement

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก จึงได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งจากสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กองบริหารการสาธารณสุข กองบริหารทรัพยากรบุคคลปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ขั้นตอนต่อไปจึงดำเนินการขออนุมัติจากสภาสถาบันพระบรมราชชนก โดยครั้งแรกเสนอโครงการจัดตั้งคณะแพทย์ ครั้งที่สองเสนอแผนธุรกิจในการดำเนินการจัดตั้งคณะ ครั้งที่สามเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โดยศึกษาผ่านกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ วิเคราะห์เอกสาร วิเคราะห์จากการรับฟังข้อเสนอจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อข้อมูลครบถ้วนแล้ว สภาสถาบันพระบรมราชชนก อนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เป็นส่วนราชการของสถาบันพระบรมราชชนก ในการประชุมคณะกรรมการสภาสถาบันครั้งที่ 1/2565 วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 และในขณะเดียวกันสถาบันพระบรมราชชนกตระหนักดีว่าการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ตามเป้าหมาย ต้องมีความร่วมมือจากสถาบันที่เคยร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเป็นสถาบันพี่เลี้ยง ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันพระบรมราชชนก วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2565 ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตแพทย์ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันพระบรมราชชนก วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2565

การขับเคลื่อนที่ดำเนินการควบคู่กับการจัดตั้งคณะ คือ การพัฒนาหลักสูตร มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร และคณะกรรมการแพทยสภาอนุมัติให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ อมร ลีลารัศมี เป็นผู้แทนแพทยสภา ร่วมเป็นคณะกรรมการ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สถาบันพระบรมราชชนก พัฒนาโดยยึดตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาวิชาแพทยศาสตร์ และเกณฑ์มาตรฐานสากลสำหรับแพทยศาสตรศึกษา (World Federation for Medical Education : WFME) มีการกำหนดยุทธศาสตร์การจัดการเรียนการสอนในสาขาแพทยศาสตรบัณฑิต ยึดหลักการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ การศึกษาที่เน้นปัญหาเป็นฐาน โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้ที่สร้างความผูกพันกับชุมชน (Community engaged) เรียนรู้ศาสตร์ของระบบสุขภาพ (Health Systems Science) และการเรียนรู้ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ (Interprofessional education) และได้รับการอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2566 จากสภาสถาบันพระบรมราชชนก ในการประชุมคณะกรรมการสภาสถาบันครั้งที่ 5/2565 วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่ตอบสนองระบบปฐมภูมิอย่างแท้จริง

ในระยะแรก รับนักศึกษาจำนวนตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติให้กับสำนักงานโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จากศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ (32 คน) โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช (32 คน) และโรงพยาบาลราชบุรี (32 คน) ผ่านระบบ Thai University Central Admission System (TCAS) พร้อมรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2566

Advertisement

โดยคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก มุ่งมั่นผลิตแพทย์ที่มีคุณลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพแพทยสภา เพื่อปฏิบัติงานในระบบบริการสุขภาพ ระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ ให้เป็นกำลังคนสำคัญด้านสุขภาพในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศได้ต่อไป โดยนักศึกษาเราจะมีคุณลักษณะ สมรรถนะหลัก : 4C : Critical Thinker, Communicator, Collaborator, Creator อัตลักษณ์ : วินัย หน้าที่ สามัคคี เสียสละ สัจจะ กตเวที ปณิธาน : ด้วยมุ่งมั่น คือ ปัญญาเพื่อชุมชน : Wisdom for Community ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image