ที่เห็นและเป็นไป : ขึ้นกับ ‘เชื่อในอำนาจใคร’

ที่เห็นและเป็นไป : ขึ้นกับ ‘เชื่อในอำนาจใคร’

การเมืองจะไปทางไหน เป็นคำถามที่ไม่มีใครตอบอย่างมั่นใจได้สักคนเดียว

เพราะการเมืองบ้านเราผู้กำหนดชะตากรรมไม่เหมือนประเทศอื่นที่รู้กันเลยว่า ใครมีอิทธิพลใครมีบทบาทที่แท้จริง ประเทศไหนเป็นประชาธิปไตย กระแสประชาชนชี้ขาด ประเทศไหนขึ้นอยู่กับอำนาจของบุคคล หรือคณะบุคคลอยากรู้ความเป็นไปก็แค่อ่านใจ หรือว่ากันให้ตรงๆ คือ “อ่านผลประโยชน์ของคนเหล่านั้น” จะเห็นแนวโน้มได้ไม่ยาก

แต่เมื่อประเทศไทยเรา ทางหนึ่งเลือกที่จะฟังเสียงประชาชน แต่อีกทางหนึ่งพยายามหาทางควบคุมว่าจะให้เสียงประชาชนไปทางไหน กระทั่งที่สุดแล้วเสียงประชาชนไม่เป็นไปตามที่ต้องการให้เป็น ก็ใช้กระบวนการตีความเบี่ยงเบนให้เป็นไปตามที่อยากให้เป็น แล้วอ้างว่าเป็นเสียงประชาชน

Advertisement

การมองเพื่อประเมินว่าที่สุดแล้วการเมืองจะเป็นอย่างไร จึงต้องพยายามให้เห็นในทุกมิติ

มิติหนึ่งที่ให้ความสำคัญกันตอนนี้คือ การสืบทอดอำนาจต่อไปของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ถ้ามองกันในปัจจัยที่ไม่ซับซ้อน แทบมองไม่เห็นทางเลยว่าจะ “ไปต่อได้อย่างไร”

Advertisement

หนึ่ง หลังเลือกตั้งได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นต่อได้ไม่เกิน 2 ปี อันเป็นคุณสมบัติที่ยากสำหรับพรรคการเมืองจะใช้หาเสียงกับประชาชนแข่งกับแคนดิเดตอื่น ใครจะอยากเลือกนายกรัฐมนตรีที่ทำงานได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ

สอง กระแสความนิยมของ “บิ๊กตู่” ถูกตั้งคำถามมากว่ายังเหลืออยู่แค่ไหน ท่ามกลางความเป็นไปที่เห็นได้ชัดว่าอะไรก็ตามที่ออกมาในทางไม่เอาด้วยจะได้รับการสนับสนุนท่วมท้น อย่าง “เดี่ยว 13” ของ “โน้ส อุดม” ที่คนแห่กันเข้าไปดูท่วมท้น หรือ “ลุงที่ต่อยนักร้อง” เพราะทนไม่ไหวกับการประกาศจะฟ้องร้องผู้ชุมนุมต่อต้านนายกฯเกิน 8 ปี มีผู้บริจาคเงินช่วยค่าปรับ และค่าประกันตัวล้นหลาม อันสะท้อนถึงความเบื่อหน่าย

สาม ในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นฐานหลักสนับสนุน มีความเคลื่อนไหวกดดันด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไปชัดเจน

สี่ เสียงเรียกร้อง วิงวอนให้รับเป็นหัวขบวนพรรคไม่ค่อยได้ยินแล้ว แถมพรรคที่เชื่อว่าน่าจะเป็นพันธมิตรกลับแสดงออกชัดเจนในเชิงต่อต้าน

อีกหลายเรื่องที่สะท้อนว่า หากเอา “การเลือกตั้ง” หรือ “อำนาจประชาชน” เป็นดัชนีชี้วัด

ไม่มีทางเลยที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะสืบทอดอำนาจต่อไปได้

ทว่า ในความเชื่อของผู้คนกลับไม่เป็นเช่นนั้น การเมืองในมิติอื่น ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปอย่างปกติของ “อำนาจประชาชน”

หากเจาะลึกไปที่ความเชื่อของผู้สันทัดกรณีการเมืองไทย จะพบว่าที่ยังยืนยันว่า “ตู่จะอยู่ต่อ” มีอยู่มากมาย และเป็นความเห็นที่หนักแน่น ระดับไม่คิดว่าจะเป็นอื่นไปได้

แน่นอน ในความเชื่อนี้ “อำนาจประชาชน” ไม่มีน้ำหนัก เป็นความคิดในเชิงที่ว่า “ผลการเลือกตั้ง” จะเป็นไปอย่างที่ “ถูกออกแบบไว้”

หรือหาก “ไม่เป็นไปตามนั้น” จะมีกระบวนการจัดการให้เป็น โดยไม่สนใจว่าจะด้วยวิธีพิลึกกึกกือแค่ไหน

ที่หนักไปกว่านั้น คือหากการจัดการกับการเลือกตั้ง มีความยุ่งยากเกินไป มีคนคิดถึงวิธี “อยู่ยาว” โดยไม่ให้มีการเลือกตั้ง

ทั้งวิธีใช้กฎหมาย คือหาทางยื้อการเลือกตั้งออกไปเท่าที่อยากจะอยู่ต่อ

และวิธีล้มกระดานไปเลย ยุติการเลือกตั้งไปเลย

ความน่าสนใจอยู่ที่ระหว่างความเชื่อว่า “การเมืองต้องกลับไปที่อำนาจประชาชนอย่างแท้จริง” กับ “ต้องอยู่กับอำนาจที่ดีไซน์โครงสร้างไว้รอรับแล้ว”

ความเชื่อไหนมีแนวโน้มเป็นไปได้มากกว่า

อย่าว่าแต่ “ผู้ได้รับประโยชน์จากการสืบทอดอำนาจเลย”

กระทั่ง “นักการเมือง” ที่อำนาจมาจากประชาชน ยังอึกอักที่จะตอบอย่างเต็มปากเต็มคำ

การเมืองไทยจะไปทางไหน?

คำตอบจึงยังเป็นความสับสน ไม่มีใครเชื่อการฟันธงของใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image