เดินหน้าชน : รฟท.-เอสอาร์ทีฯ

เดินหน้าชน : รฟท.-เอสอาร์ทีฯ ผ่านมาปีกว่าแล้วหลังจดทะเบียนจัดตั้ง

เดินหน้าชน : รฟท.-เอสอาร์ทีฯ

ผ่านมาปีกว่าแล้วหลังจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินที่ดินของ รฟท.ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้วยเพราะ รฟท.นั้นมีภารกิจหลักคือการบริหารจัดการเรื่องการเดินรถไฟ ซึ่งเป็นระบบการขนส่งสาธารณะที่มีราคาถูกที่สุด แม้จะมีต้นทุนการบริหารเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ไม่อาจจะขึ้นค่าบริการได้ตามต้นทุน ถือเป็นบริการสาธารณะเพื่อสังคม

ดังนั้น จึงทำให้ รฟท.มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ รฟท.มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถประมาณ 3.8 หมื่นไร่ มีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่รายได้จากการบริหารสินทรัพย์มีเพียงปีละ 2.4 พันล้านบาทเท่านั้น จึงต้องตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อบริหารทรัพย์สินที่ดินเชิงพาณิชย์เป็นกิจกรรมหลักแทน รฟท.

Advertisement

กิจกรรมที่ให้บริษัทเอสอาร์ทีฯดำเนินการ คือ 1.รับจ้างบริหารจัดการสัญญาเช่า ซึ่งปัจจุบันมีสัญญาเช่าของฝ่ายบริหารสินทรัพย์ รฟท.ที่ยังไม่ครบสัญญาและที่ครบสัญญาแล้ว แต่ยังไม่ได้ต่อสัญญา จำนวน 5,651 สัญญา และสัญญาเช่าที่ฝ่ายปฏิบัติการเดินรถเป็นคู่สัญญา อีก 9,651 สัญญา รวมแล้ว 15,270 สัญญา

2.จัดสรรพื้นที่และเจรจาสัญญากับบุคคลที่สาม หรือการร่วมทุนกับเอกชน เพื่อรับโอนพื้นที่ไปดำเนินการให้เช่าช่วงพื้นที่ เพื่อนำไปพัฒนา หรือนำไปดำเนินการหาผู้ร่วมทุนในการพัฒนาพื้นที่

3.พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยบริษัทเอสอาร์ทีฯเช่าพื้นที่จาก รฟท.นำไปพัฒนาพื้นที่โครงการเพื่อเพิ่มมูลค่า เก็บค่าเช่าและบริหารการดำเนินงานทั้งหมดของโครงการ

Advertisement

สำหรับผลตอบแทนที่ รฟท.จะได้รับคือ 1.ค่าเช่าจากสัญญาเช่าที่ยังไม่หมดอายุ 2.ค่าตอบแทนการได้สิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินเปล่าทั้งหมด

3.เงินปันผลจากการดำเนินงานของบริษัทลูก ตั้งสมมุติฐานที่ 70% ของกำไรสุทธิ โดยมีการประมาณรายได้ ดังนี้ ปี 2563 มีรายได้ 3,070 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้ 9,378 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้ 15,850 ล้านบาทปี 2566 มีรายได้ 13,194 ล้านบาท และปี 2567 มีรายได้10,303 ล้านบาท รวมมีรายได้ 123,797 ล้านบาท

บริษัทเอสอาร์ทีฯมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ตามแผนเดิม รฟท.จะให้เงินทุนเพียง 25% หรือ 50 ล้านบาท แต่ต่อมาก็มาขอเพิ่มอีก 50 ล้านบาท แล้วอีกครั้ง 100 ล้านบาท จนเต็มจำนวน โดยเป็นเงินที่ รฟท.กู้มาที่ต้องมีภาระดอกเบี้ย

แต่ถึงปัจจุบันนี้ผ่านมานานพอสมควรแล้ว บริษัทเอสอาร์ทีฯยังไม่มีอะไรคืบหน้าว่าจะมีรายได้มาช่วย รฟท.อย่างไรบ้าง

ขณะที่บริษัทเอสอาร์ทีฯก็มีค่าใช้จ่ายของตัวเองเพิ่มขึ้นทุกวันและกินทุนเข้าไปทุกที ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าใช้จ่ายเงินเดือนผู้บริหารและพนักงาน และอื่นๆ อีกจิปาถะ

ส่วนหนึ่งที่การขับเคลื่อนของบริษัทเอสอาร์ทีฯเป็นไปได้ช้า เพราะไม่มีคนของ รฟท.ที่รู้เรื่องดีเข้าไปช่วยประสาน

แม้กระทั่งบอร์ดของบริษัทเอสอาร์ทีฯ ซึ่งตามโครงสร้างแล้วจะต้องมีคนของ รฟท.เข้าไปนั่งอยู่ด้วย 1 เก้าอี้ แต่กลับใช้โควต้านี้ไปให้กับบอร์ดของ รฟท. ที่ส่งอดีตข้าราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะบอร์ด รฟท.ไปนั่งแทน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นคนของ รฟท.โดยตรง ทำให้การทำงานของบริษัทเอสอาร์ทีฯไม่ราบรื่นนัก

เมื่อบริษัทเอสอาร์ทีฯดำเนินการล่าช้า ยังไม่มีรายได้มาเลี้ยงตัวเองได้ เป้าประสงค์ที่หวังจะให้หาเงินมาช่วยโปะการขาดทุนของ รฟท.จึงยังลางเลือน

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image