ไม่มีสันติภาพอีกต่อไปในรัฐกะฉิ่น โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในระหว่างที่คนทั่วโลกกำลังไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในคืนวันฮาโลวีน ที่ย่านอิแทวอนในกรุงโซล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ก่อนหน้านั้นเพียง 1 สัปดาห์ก็เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า เมื่อกองทัพอากาศพม่าเปิดฉากโจมตีหมู่บ้านกันซี (Kansi) ในเมืองปะกัน (Hpakant) เมืองหลักของรัฐ และทิ้งระเบิดอย่างน้อย 4 ลูก ในช่วงเวลาที่ชาวกะฉิ่นกำลังเฉลิมฉลองงานวันชาติของตนอย่างสนุกสนาน ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการพุ่งสูงกว่า 60 คน และคาดกันว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บมากนับร้อยคน ในจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว มีผู้บัญชาการกองทัพ KIA หรือกองทัพปลดปล่อยกะฉิ่น รวมอยู่ด้วยหลายคน และยังมีศิลปินนักร้องจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิต รวมทั้งออราลี (Aurali) นักร้องกะฉิ่นชื่อดัง และนักแสดง หล่าตอ จาว ดิง (Lahtaw Zau Ding) ด้วย

กองทัพพม่าออกมาประกาศว่าเป้าหมายการโจมตีมีเพียงผู้นำของ KIA เท่านั้น แต่หากมองตามเนื้อผ้า ตามวีรกรรมที่กองทัพพม่าเคยก่อไว้ ก็คงจะเดาไม่ยากว่าเป้าหมายของกองทัพพม่า คือ การล้างแค้นชาวกะฉิ่นทั้งหมด ในฐานที่ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลคู่ขนาน NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF เพื่อต่อสู้กับกองทัพของคณะรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน ที่ต้องบอกว่าการทิ้งระเบิดในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเหตุบังเอิญ หรือเพื่อโจมตีเฉพาะกลุ่มติดอาวุธ ก็เพราะเมื่อเกิดการโจมตีขึ้นแล้ว กองทัพนำคนมาปิดทางเพื่อไม่ให้ทีมแพทย์ขนผู้บาดเจ็บราว 100 คนออกจากพื้นที่ เพื่อต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นในเมืองปะกัน และมยิตจีนา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะฉิ่นได้

ที่แย่ไปกว่านั้น คือ กองทัพยังข่มขู่ประชาชนเพื่อไม่ให้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอีกด้วย จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์การโจมตีรัฐกะฉิ่นครั้งนี้มีมากกว่าครั้งใดนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว จนกองทัพต้องออกแถลงการณ์โจมตีสื่อว่าตีพิมพ์แต่ข่าวลือและพยายามดิสเครดิตกองทัพ โฆษกกองทัพให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายของกองทัพในครั้งนี้มีเพียงการโจมตีกองกำลังฝ่าย KIA และ “ผู้ก่อการร้าย” ในนาม PDF เท่านั้น นักวิเคราะห์มองว่ากองทัพพม่ารีบโจมตีฐานที่มั่นของ KIA ทั้งๆ ที่มีประชาชนอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก เพราะ KIA กำลังระดมพลและช่วยฝึกกองกำลังฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหาร เรียกว่า KIA เป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล NUG และกองกำลัง PDF มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ก็ได้

หลังเกิดเหตุการณ์สุดสลดที่ปะกัน สถานเอกอัครราชทูตและองค์กรหลายแห่งในพม่าร่วมใจกันประณามการโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์ สถานเอกอัครราชทูต 15 แห่งในพม่า ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอีกหลายชาติในยุโรป ร่วมกันประณาม และยังกล่าวว่าการโจมตีครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าคณะรัฐประหารต้องรับผิดชอบกับวิกฤตการณ์และความไร้เสถียรภาพที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าในขณะนี้ นอกจากสถานเอกอัครราชทูตหลายแห่งจะออกแถลงการณ์มาแล้ว สิ่งที่ดูผิดหูผิดตาคือกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เช่น KNU ของกะเหรี่ยง AA ของอาระกัน

Advertisement

และที่สำคัญคือ UWSA ของว้า ที่ตามปกติไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในพม่ามากนัก ก็ออกแถลงการณ์แสดงความ “ช็อก” และห่วงใยสถานการณ์ในรัฐกะฉิ่น

ในอันที่จริง สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐกะฉิ่นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะนี่คือการบุกเข้าไปโจมตีในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก บางแหล่งอ้างว่าอาจมีผู้เสียชีวิตมากเกิน 100 คนในการโจมตีแค่ครั้งเดียว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในขณะนี้กองทัพพม่าไม่ได้สนใจอีกต่อไปแล้วว่าจะใช้วิธีใดปราบปรามกองกำลังฝ่ายต่อต้าน เราอาจจะได้เห็นการโจมตีประเภท airstrikes นี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

หลังเหตุการณ์ที่รัฐกะฉิ่นไม่นาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนนัดรวมตัวกันในการประชุมนัดด่วนที่จาการ์ตา ซึ่งเกิดขึ้นเพียง 2 สัปดาห์ก่อนจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ แน่นอนว่าประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาหารือย่อมเกี่ยวกับพม่า อาเซียนยังคงยึดหลัก “ฉันทามติห้าข้อ” (Five-Point Consensus) และพยายามหาทางให้พม่ากลับมายึดแนวทางการเจรจา และเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากอาเซียนเข้าไปร่วมหาทางออก และพูดคุยกับคู่ขัดแย้งหลายฝ่าย แต่ฉันทามติทั้งห้าข้อถูกแช่แข็งมายาวนาน เพราะคณะรัฐประหารพม่าแสดงออกชัดเจนว่าไม่ต้องการให้อาเซียนเข้าไปข้องเกี่ยวกับกิจการภายในของตน มติจากการหารือของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าอาเซียนยังคงยึดหลักของการพูดคุยภายในผู้นำอาเซียน และไม่ว่ามติ หรือแถลงการณ์ใดๆ ที่ออกในนามอาเซียนต้องผ่านการเห็นชอบจากชาติสมาชิกส่วนใหญ่เสมอ

Advertisement

ในครั้งนี้ อาเซียนส่งจดหมายเชิญไปให้คณะรัฐประหารเพื่อส่งตัวแทนที่ไม่มาจากฝ่ายการเมือง หรือเป็นคนของคณะรัฐประหารเข้าร่วมการประชุมได้ 1 คน แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ กลับมา ท่าทีอันแข็งกร้าวของพม่าชี้ว่าพม่าไม่ต้องการพูดคุยใดๆ กับอาเซียนอีกต่อไปแล้ว ตราบใดที่อาเซียนยังยืนยันว่าต้องการหารือกับด่อ ออง ซาน ซูจี และผู้นำพรรค NLD อีกหลายคนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ คณะรัฐประหารก็ไม่สามารถตอบสนองได้

Global New Light of Myanmar หนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของคณะรัฐประหาร ถึงกลับกล่าวว่าพม่าจะไม่รับรู้และรับฟังมติของอาเซียนที่เกิดจากการหารือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรอบล่าสุด และยังขู่ด้วยว่า หากอาเซียนเลือกกดดันพม่าเพิ่มเติมโดยใช้ “เดดไลน์” เพื่อให้พม่าทำตามฉันทามติห้าข้อ ก็ย่อมจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีตามมาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ท่าทีของอาเซียนที่มีต่อพม่า ซึ่งในปัจจุบันมีสิงคโปร์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นหัวเรือหลัก (อาจจะรวมกัมพูชาเข้าไปด้วยก็ได้) คืออาเซียนต้องเลิกโอ๋พม่า และออกมาจากคอมฟอร์ทโซนของตนเอง นั่นแปลว่าอาเซียนต้องกดดันพม่าเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาพม่าไม่เคยมีปฏิกิริยาตอบสนองใดๆ และทำให้อาเซียนดูเป็นองค์กรที่ไร้น้ำยาในการสร้างสันติภาพภายในภูมิภาค

ในการแก้ไขปัญหาพม่า อาเซียนกำลังจะนำรัฐบาล NUG เข้ามาร่วมเจรจา ก่อนหน้านี้คณะรัฐประหารกล่าวกับอาเซียนชัดว่า หากอาเซียนจะหารือกับ NUG จะต้องได้รับความเห็นชอบจากตนก่อนเท่านั้น แต่ผู้นำอาเซียน เช่น สิทธารโต สุรโยดิปูโร (Sidharto Suryodipuro) มองว่าอาเซียนไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐประหารพม่าก่อน ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นเล็กน้อยของอินโดนีเซียอาจเป็นหมุดหมายให้เราเข้าใจบทบาทของอาเซียนในการเป็นผู้นำสร้างสันติภาพในพม่าในปีหน้า ซึ่งอินโดนีเซียจะเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากกัมพูชา ก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image