สถานีคิดเลขที่ 12 : สภาไม่ฟังก์ชั่น

สถานีคิดเลขที่ 12 : สภาไม่ฟังก์ชั่น ปัญหาองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบ

สถานีคิดเลขที่ 12 : สภาไม่ฟังก์ชั่น

ปัญหาองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ครบ หรือที่เข้าใจกันง่ายๆ คือ องค์ประชุมสภาล่ม ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ที่มีวาระการทำหน้าที่ตั้งปี 2562-2566

ปัจจุบันแม้จะมี ส.ส.ทำหน้าที่ได้ไม่เป็นจำนวน 500 คน เนื่องจากถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ แต่เรื่องจำนวน ส.ส.ที่ทำหน้าที่ได้ ไม่สำคัญเท่ากับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามบทบาทและหน้าที่ได้แค่ไหน ตัวเลของค์ประชุมสภาล่ม ที่เป็นเรื่องไม่น่ายินดี สะท้อนการทำหน้าที่ของผู้ทรงเกียรติ

หากไล่เรียงสถิติองค์ประชุมสภาล่ม นับจากเปิดประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มาจนถึงปัจจุบันข้อมูลล่าสุด คือ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 คือสถิติล่าสุด

Advertisement

ที่สภาล่มไปแล้วถึง 20 ครั้ง กว่าสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ยังคงต้องลุ้นกันว่าจะมีเหตุการณ์สภาล่มเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง

แม้สาเหตุขององค์ประชุมสภาล่ม นอกจากเกม ชิงไหวชิงพริบกันในทางการเมือง ของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ยังมีเหตุผลที่ ส.ส.อ้างว่าติดงานลงพื้นที่ การนัดประชุมสภาเพิ่มวันศุกร์ ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมประชุมสภา แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นข้ออ้างเรื่องลงพื้นที่วันศุกร์อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้องค์ประชุมสภาล่ม

เพราะเหตุการณ์องค์ประชุมสภาล่มที่ผ่านมา เกิดขึ้นได้ในทุกวันประชุมสภา ทั้งวันพุธวันพฤหัสบดี รวมทั้งวันประชุมรัฐสภา ที่มีสมาชิกวุฒิสภา ร่วมประชุมด้วยก็เกิดเหตุองค์ประชุมล่มมาแล้ว

Advertisement

ไล่เรียงจาก ปี 2562 องค์ประชุมสภาล่มไป 3 ครั้ง ขณะที่ปี 2563 มีเหตุการณ์สภาล่มเพียงแค่หนึ่งครั้ง คือการประชุมสภาวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ระหว่างการพิจารณารายงานความคืบหน้าแผนปฏิรูปประเทศ (ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์) ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานสภาทุก 3 เดือน แต่กลับไม่มีการดำเนินการ อีกทั้งยังไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมตามตัวชี้วัด ตามกฎหมาย หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้

ข้ามมาที่ปี 2564 มีเหตุการณ์สภาล่มบ่อยมากขึ้น จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า สภาอับปาง มีมากถึง 8 ครั้ง ที่สภาไม่สามารถทำงานจนจบการประชุมได้ ในจำนวนนี้มีการล่ม 2 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมของรัฐสภาระหว่าง ส.ส.และ ส.ว. พร้อมกันในช่วงเดือนกันยายน ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ส่วนการประชุมสภาประจำปี 2565 ตั้งแต่เปิดประชุมมาจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์ประชุมสภาล่มไปแล้ว 8 ครั้ง สะท้อนว่าผู้ทรงเกียรติที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติว่า ไม่ฟังก์ชั่น แม้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะประชุมเพื่อหามาตรการได้เพียงแค่ขอความร่วมมือ ส.ส.เข้าร่วมประชุมสภา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่มไม่ได้

จนมีบางฝ่ายถึงกับเสนอทางออกแบบกำปั้นทุบดินออกมาว่า หากมีสภาแล้วยังไม่ทำหน้าที่ ก็ควรยุบสภา แล้วให้ประชาชนเลือกตั้ง ส.ส.ที่พร้อมเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้เต็มศักยภาพมากกว่านี้

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image