บทนำ : คอนเทนต์ปัง

บทนำ : คอนเทนต์ปัง

นายสัตวแพทย์ เกษตร สุเตชะ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวถึงกรณีมีหญิงสาวรายหนึ่งทำคอนเทนต์เสนอผ่านช่องทางออนไลน์ รับประทานค้างคาวสดๆ ว่า เรื่องนี้ออกมาเตือนหลายครั้ง ตั้งแต่เมื่อเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดเพจผู้รู้ทางการแพทย์ ก็ออกมาเตือนอีกว่าเป็นเรื่องไม่สมควรทำ เพราะค้างคาวเป็นต้นตอของโคโรนาไวรัส ก่อโรคโควิด-19

ส.นพ.เกษตร กล่าวอีกว่า การกินค้างคาว อาจก่อให้เกิดโรคระบาดที่มีค้างคาวเป็นต้นตอของโรค เพราะค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคและเป็นสัตว์ที่สะสมเชื้อโรคเยอะมาก มีรายงานการเจอไวรัสมากกว่า 60 ชนิด ในค้างคาว บางชนิดก่อโรคในคนได้ และยังแพร่ระบาดไม่หายถึงทุกวันนี้ เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสอีโบลา ไวรัสซาร์ส ไวรัสเมอร์ส ไวรัสนิปาห์ ที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ และอย่าลืมว่า ต้นตอของโรคโควิด-19 ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ก็มาจากค้างคาวเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การจับค้างคาวมากินยังถือว่าผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อีกด้วย

นักวิชาการสัตวแพทย์ แห่ง ม.เกษตรฯ เตือนว่า พอผิดกฎหมายแล้วก็จะมาบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้ เพราะก่อนนำเสนอคิดเอาไว้แล้วว่า เนื้อหาที่จะเสนอคืออะไร ออกไปแล้วปังแน่นอน ดังนั้น จะมาอ้างไม่ได้ การที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก อาจจะมีผู้หลงไปทำตามได้ จึงอยากให้ลบคลิปเหล่านั้นออก และในเรื่องของการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ นั้น เข้าใจดีว่าคนเรามีสิทธิเสรีภาพ และนำเสนอเนื้อหาต้องการกระแส ต้องการคอนเทนต์ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ และมีเรื่องราวอีกมากมายให้นำมาเสนอ และไม่ทำให้สังคมและประเทศต้องบอบช้ำ 3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เราสูญเสียมากมาย

Advertisement

เป็นคำเตือนด้วยความรู้ทางวิชาการที่ทุกฝ่ายควรรับฟัง ระยะหลัง ช่องทางออนไลน์ เปิดโอกาสให้ผู้ทำคอนเทนต์ได้นำเสนอเนื้อหาต่างๆ บางครั้ง ผู้ทำคอนเทนต์นึกถึงแต่การสร้างความตื่นเต้นน่าสนใจ จนลืมคิดถึงอันตราย ละเลยที่จะรับผิดชอบในเนื้อหาที่ออกไปแล้วอาจสร้างความเข้าใจผิด การรับประทานค้างคาวสด และอาหารพิสดารต่างๆ จึงเป็นเรื่่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ทำคอนเทนต์กับเจ้าหน้าที่รัฐ และหากผู้ทำคอนเทนต์ระมัดระวัง จะช่วยลดอันตรายต่อสังคมได้มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image