อย่ายุบสภา…ถ้า พ.ร.บ.การศึกษายังไม่ผ่าน (2)

ครับ มาว่ากันต่อว่าด้วยข้อเสนอ อย่ายุบสภา ถ้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมรัฐสภาออกมาใช้บังคับ

ตามกำหนดการที่วางไว้ หลังจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว

จากที่มีข่าวว่าจะถูกบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาปลายเดือนพฤศจิกายน ข่าวล่าสุดแจ้งว่า วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันที่กรรมาธิการจะยื่นผลสรุปการพิจารณาต่อคุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่วนจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเมื่อไหร่นั้นยังไม่กำหนดแน่นอน

ถ้าวันเวลาเป็นเช่นนี้ ข่าวดีที่ว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาก่อนกฎหมายที่มีปัญหาขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย คือ พ.ร.บ.กัญชาเสรี ก็กลายเป็นข่าวร้าย

Advertisement

ล่าสุด นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 7 ธันวาคมนี้

เป็นอันว่าแนวโน้มที่กฎหมายกัญชาจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาก่อนกฎหมายการศึกษาจึงค่อนข้างสูง

ความหวังเลยกลับกลายเป็นความหวั่นวิตกว่า หากกฎหมายกัญชาเป็นชนวนให้เกิดอุบัติเหตุการเมืองขึ้นเสียก่อน กฎหมายการศึกษาก็อาจมีอันเป็นไป

Advertisement

ใครจะรับผิดชอบ เมื่อกฎหมายสำคัญที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษา ประสบชะตากรรมล้มเหลวไม่เป็นท่า

ทั้งๆ ที่เป็นบทบังคับตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 261 ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสองปี

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ใช้เวลา 2 ปี ยกร่างกฎหมายเสร็จเสนอต่อรัฐบาล จนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป

สรุปรัฐบาลและรัฐสภาใช้เวลาพิจารณาตั้งแต่ 2562-2565 รวม 4 ปี ผ่านที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา จะเข้าที่ประชุมใหญ่ต่อไป ผลจะออกมาอย่างไรต้องติดตาม

แค่พิจารณาจากวัน เวลา ที่เสียไปกับการยกร่างกฎหมาย 5 ปีเต็ม ถ้ากฎหมายมีอันเป็นไป ไม่สามารถทำคลอดออกมาบังคับใช้ได้สำเร็จด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะเป็นความสูญเปล่าทั้งเวลาและงบประมาณจำนวนหลักพันล้านที่ใช้ไปในการดำเนินงานของ กอปศ.

ที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ เนื้อหากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และปฏิรูปครูทั้งระบบ

ความในมาตราที่ 38 และ 39 ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ กำหนดให้มีกลไกและกระบวนการปฏิรูป ตั้งแต่การผลิต การใช้และการพัฒนา ทั้งครูประจำการที่ทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้ และครูใหม่ที่จะผ่านกระบวนการหล่อหลอม กลั่นกรอง เพื่อนำไปสู่การผลิตครูระบบปิดในที่สุด เพื่อแก้ปัญหาการผลิตเฟ้อ ล้นตลาด ด้อยคุณภาพ และขาดจิตวิญญาณความเป็นครูเท่าที่ควร กลไกและกระบวนการปฏิรูปครูทั้งระบบที่จะต้องจัดให้มีขึ้นนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดการปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษาอีกเช่นกัน

“กำหนดให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู”

กล่าวโดยสรุปก็คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่จะต้องมีกลไก กระบวนการปฏิรูปครูอยู่ในกฎหมายนี้ เป็นภาคบังคับตามรัฐธรรมนูญ 2560

ด้วยเหตุนี้ เมื่อกระบวนการยกร่างผ่านมาตามขั้นตอนจนถึงลำดับสุดท้ายการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา หากกฎหมายสำคัญนี้ต้องจบเห่ ไม่สามารถเข็นออกมาบังคับใช้ได้ จึงนับเป็นความผิดพลาด ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และให้อภัยไม่ได้ทั้งของรัฐบาลและรัฐสภา

ไม่มีศักยภาพทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวดปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

แม้ตัวบทบัญญัติบางมาตรายังมีเนื้อหาที่ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ บางส่วนไม่สบายใจ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทน และความก้าวหน้าทางวิชาชีพก็ตาม

หลักคิดในการตัดสินใจต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมทั้งสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน หรือผู้เรียน เป็นสำคัญมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว

ปิดท้ายวันนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกท่าน ทุกฝ่ายติดตามความเป็นไปในรัฐบาลและรัฐสภาจะให้ความสำคัญกับกฎหมายอะไรมากกว่ากัน ระหว่างกฎหมายกัญชาเสรีกับกฎหมายการศึกษา

ผลทางกฎหมายและทางการเมืองจะปรากฏออกมาในเวลาอีกไม่นาน เลือกตั้งรอบหน้าค่อยตัดสินใจจะให้ใครมาทำหน้าที่แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image