ที่เห็นและเป็นไป : ไปไม่ถึง ‘ประชาธิปไตย’

ที่เห็นและเป็นไป : ไปไม่ถึง ‘ประชาธิปไตย’

เราจะประกาศตัวเองกันไปทำไมว่าเป็น “ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” หากไม่มีสำนึกที่จะรับผิดชอบร่วมกันว่า “อำนาจเป็นของประชาชน ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่”

ทุกภาคส่วนทางการเมืองถูกกำหนดบังคับให้เคลื่อนสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดเดือนมีนาคม และเชื่อกันว่าเร็วที่สุดไม่น่าจะห่างจากนั้นมากนัก ทั้งที่เพราะความไม่พร้อมเรื่องกฎหมายเลือกตั้งที่ยังวุ่นวายไม่รู้จบรู้สิ้น ต้องใช้เวลาจัดการกันอีกระยะหนึ่ง

แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่เสร็จแล้วการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปได้ รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ไม่ว่าใครจะใหญ่มาจากไหนสักเพียงใดก็ตาม รัฐบาลมีหน้าที่ต้องไปหากฎหมายมาใช้เพื่อจัดการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ให้ได้

Advertisement

เว้นเสียแต่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งให้พ้นจากการบังคับให้ต้องทำตามบทบัญญัตตินี้

แต่นั่นก็เรื่องหนึ่ง

ที่อยากจะชวนเสวนามากกว่าคือ “การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีความหมายแค่ไหนกับการพัฒนาประชาธิปไตย หรือเอาเข้าจริงยิ่งเป็นการนำการเมืองการปกครองของประเทศจมลึกสู่ระบอบที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยมากขึ้น”

Advertisement

ลองพิจารณากันที่ “ตัวชี้วัด” ซึ่งตรงไปตรงมาที่สุดว่า การได้มาซึ่งอำนาจหลังการเลือกตั้งเป็นไปในหลักการของประชาธิปไตยที่สากลโลก หรืออารยประเทศที่พัฒนาแล้วเขาเป็นหรือไม่คือ

“พรรคการเมือง” หรือ “นักการเมือง” ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความนิยม ลงคะแนนให้มาบริหารจัดการอำนาจรัฐ สามารถเข้ามามีอำนาจได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่

หรือมีเงื่อนไขปัจจัยอื่นให้การบริหารจัดการอำนาจเบี่ยงเบนไปจากการตัดสินของประชาชน

หากติดตามความเป็นไปทางการเมืองอย่างใกล้ชิด จะรับรู้ว่ามีโอกาสสูงมากที่ “ผู้เข้าควบคุมอำนาจรัฐ” จะไม่ใช่ “พรรคการเมือง” หรือ “นักการเมือง” ที่ประชาชนส่วนใหญ่เทคะแนนนิยมไปให้

มีความเชื่อกันว่า “พรรคที่ชนะเลือกตั้ง” หากอยู่ในฝั่งคนละฝ่ายกับที่ “รัฐธรรมนูญดีไซน์ไว้ให้สืบทอดอำนาจ” โอกาสจะจัดตั้งรัฐบาลทำได้ยากลำบากยิ่ง เพราะกฎกติกาและกลไกที่สร้างไว้โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีศักยภาพสูงยิ่งในการปิดหนทางที่ “พรรคของประชาชน” จะจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่เปิดโอกาสเต็มที่ให้ “พรรคสืบทอดอำนาจ”

ถึงวันนี้ “รัฐธรรมนูญ” ที่ทุกคน ทุกฝ่ายต่างรู้ว่าเป็น “อุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ” ยังใช้บังคับอย่างเข้มข้น พร้อมๆ กับกลุ่มผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งมาจาก “ผู้พร้อมที่จะเลือกข้าง” ซึ่งแน่นอนว่า “ไม่ใช่ข้างอำนาจประชาชน”

ในสภาวะเช่นนี้เอง แม้การเลือกตั้งจะเป็นโอกาสของการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงทำได้ยากเย็นยิ่ง เพราะ “เครื่องมือสืบทอดอำนาจถูกนำไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ” และ “กลไกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “พร้อมที่จะหักดิบอำนาจประชาชน” สานต่อ “การสืบทอดอำนาจเผด็จการ” เต็มที่

เป็นการช่วงชิงอำนาจโดยไม่ต้องยี่หระกับผลงานที่ผ่านมาว่าสร้างประโยชน์สุข หรือถมทุกข์ให้ประชาชนเสียด้วยซ้ำ

กติกาและกลไกถูกดีไซน์เพื่อผูกขาดการยึดครองอำนาจ อย่างไม่ต้องกังวลว่าต้องละอายแก่ใจต่อใคร

และนี่เองที่แม้จะมีการเลือกตั้ง อันเป็นโอกาสของ “อำนาจประชาชน” ที่จะตัดสินใจเลือกเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมและประชาชนส่วนใหญ่

แต่กลับน่าเสียดายยิ่งที่เจตนาผูกขาดอำนาจ ซึ่งสร้างกติกาและกลไกที่เป็นขวากหนามของการพัฒนาประเทศไม่อนุญาตให้ “ประชาชนใช้อำนาจ” ได้เต็มๆ

ว่าไปแล้วก่อนการเลือกตั้งใหม่ “พรรคการเมือง” และ “นักการเมือง” อาศัยอำนาจประชาชนขึ้นสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเคลียร์กติกา และกลไกเจ้าปัญหาเหล่านี้ให้คืนกลับสู่การรองรับประชาธิปไตยเสียก่อน เพื่อให้อำนาจหลังการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนได้

ทว่า “พรรคการเมือง” และ “นักการเมือง” ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กลับมีไม่น้อย หรือจะว่าไปคือส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ ที่ไม่ได้คิดถึง “อำนาจประชาชน” มากกว่า “ผลประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้าที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมในอำนาจ”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รู้กันอยู่ว่าเป็น “พิษต่อประชาธิปไตย” จึงถูกละเลย ไม่มีความจริงใจในการจัดการแก้ไขอย่างจริงจังมาโดยตลอด

ดังนั้น สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ

ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้เป็นไปได้หรือไม่ ที่ประชาชนจะใช้บทบาทที่ผ่านมาของนักการเมืองแต่ละคน พรรคการเมืองแต่ละพรรคมาเป็นบทเรียน ที่จะทำให้รู้ว่า “ใคร หรือพรรคไหนจริงใจต่ออำนาจประชาชน”

และช่วยกันขจัด “นักการเมือง และพรรคการเมือง” ที่แก่นแท้แล้วยอมสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง

อย่างหน้าไหว้หลังหลอกกับการแก้ปัญหาประชาธิปไตยของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image