เดินหน้าชน : 3 เติม‘ศก.ฐานราก’

เดินหน้าชน : 3 เติม‘ศก.ฐานราก’ หลังผ่านพ้นการประชุมผู้นำเอเปค

เดินหน้าชน : 3 เติม‘ศก.ฐานราก’

หลังผ่านพ้นการประชุมผู้นำเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการเมืองไทยเริ่มขยับเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอีกก้าว
หลายพรรคทยอยปล่อยนโยบายบางส่วนออกมา แต่น้ำหนักที่ประชาชนให้ความสนใจคือเรื่องเศรษฐกิจ ว่าพรรคไหนจะเสนอโดนใจ

สำหรับเศรษฐกิจไทย จากพิษโควิด ทำให้ถอดบทเรียนได้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพิงตลาดส่งออกในสัดส่วนที่มากเกินไป หากมีปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสะดุด จะส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะภาคการเกษตร

ดังนั้น ต้องทบทวนโครงสร้างเศรษฐกิจกันใหม่ โดยหันมาให้น้ำหนักกับตลาดภายในมากขึ้น นั่นคือ “ภาคเกษตร” ซึ่งมีแรงงานมากถึงกว่า 13 ล้านคน นอกจากจะเป็นฐานการผลิตทั้งวัตถุดิบและแปรรูปเพื่อส่งออกแล้ว ยังเป็นกำลังซื้อที่มหาศาล สำหรับการบริโภคภายในประเทศด้วย

Advertisement

แม้หลายรัฐบาลที่ผ่านมาจะให้น้ำหนักการพัฒนาภาคการเกษตร แต่เกษตรกรไทยยังไม่เฉียดใกล้กับความอยู่ดี กินดี หนำซ้ำยังมีหนี้ทั้งในและนอกระบบ ฉุดดึงไม่ให้พ้นความยากจนอีก

จึงรอดูว่าพรรคต่างๆ จะมีนโยบายแก้ปัญหานี้ยังไง

ลองไปส่องเฟซบุ๊ก “ดร.แหม่ม” ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มักมีมุมมองและข้อเสนอเกี่ยวกับเศรษฐกิจด้านต่างๆ

Advertisement

“ดร.แหม่ม” เคยเผยถึงตัวเลขหนี้เสีย (เอ็นพีแอล)ในระบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่าหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2563 เป็น 6.63% ในปี 2564 ถ้าย้อนไปดูคำชี้แจงของผู้บริหารเมื่อสิ้นปีบัญชี 2564 ระบุว่าในปีบัญชี 2565 ตั้งเป้าจะบริหารจัดการให้หนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 4.5% แต่เพียงแค่ครึ่งปีแรกของปี 2565 หนี้เสียพุ่งไปอยู่ที่ 12.5% และคาดว่าสิ้นปีบัญชี 2565 (31 มีนาคม 2566) สัดส่วนหนี้เสียจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 7% ไม่ใช่ 4.5% อย่างที่ตั้งเป้าไว้แต่เดิมแล้ว

เมื่อตัวเลขสินเชื่อสะสมของเกษตรกร เฉพาะที่ ธ.ก.ส. สูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท จึงเห็นนโยบายหาเสียง “พักหนี้เกษตรกร” ทุกครั้ง

แต่ “ดร.แหม่ม” เห็นว่านั่นไม่ใช่วิธีแก้ไขอย่างยั่งยืน โดยเสนอจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชนกับเกษตรกร เป็นบริษัทผู้ผลิตร่วม ลงทุนร่วมกัน ฝ่ายหนึ่งลงเงินทุน อีกฝ่ายหนึ่งลงแรง รับความเสี่ยงร่วมกัน กำไรแบ่งกัน ช่วยกันทำเกษตรอัจฉริยะ ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ซึ่งจะแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน

ผลกระทบโควิด ทำให้รายได้ของประเทศหดหาย ผู้ประกอบการรายย่อยขาดเงินทุน ประชาชนขาดกําลังซื้อเศรษฐกิจฐานรากที่ถือเป็นความมั่นของชาติโยกคลอน

หนทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจึงต้อง “ซ่อม-สร้างเศรษฐกิจฐานราก” ในชุมชนท้องถิ่น ควบคู่กับการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่า ให้กับเศรษฐกิจฐานราก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพภายใต้โมเดล “บีซีจี” รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ

ซ่อม-สร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วย 3 เติม คือ “เติมทุน-เติมทักษะ-เติมรายได้” จึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ หากเติมทุนอย่างเดียว ผ่านธนาคารของรัฐหรือกองทุนหมู่บ้าน แต่ถ้าไม่เติมทักษะใหม่ ก็ไม่สามารถเติมรายได้ให้เศรษฐกิจฐานรากได้

แล้วต้องเพิ่มกำลังซื้อระดับท้องถิ่นและชุมชน ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งมากเป็นอาชีพอิสระ ที่รัฐสามารถเข้าไปดูแลสวัสดิการผู้ประกอบอาชีพอิสระกลุ่มต่างๆ รวมถึงสวัสดิการกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีกำลังซื้อเพียงพอสำหรับสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน

เป็นมุมมองของ “ดร.แหม่ม” ที่หากนำไปสู่การปฏิบัติ จะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งขึ้น

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image