บทนำ : ห้ามขายเหล้าเบียร์

บทนำ : ห้ามขายเหล้าเบียร์ มีผลสำรวจจากการเปิดเผยของ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์

บทนำ : ห้ามขายเหล้าเบียร์

มีผลสำรวจจากการเปิดเผยของ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ซึ่งทำโพลสอบถามจากบุคคลใน Gen Z (ช่วงอายุ 18-25 ปี ทั้งประเทศมี 6.86 ล้านคน) ศึกษาระดับปริญญาตรีต่อคำถามว่า “วันพระสำคัญของศาสนาพุทธ ควรยังต้องมีหรือควรยกเลิก ข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ของประชาชนทั้งประเทศ” สรุปผลดังนี้ Gen Zส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 53.2 รองลงมาเห็นว่า ควรยังต้องมีข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ร้อยละ 30.6 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 16.2 จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก Gen Z ที่เห็นว่าควรยกเลิกข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ให้เหตุผลว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคล, ถ้าจะรักษาศีล ก็ทำไป เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล, ประเทศไทยเป็นรัฐฆราวาส ไม่ใช่รัฐศาสนา, คำอธิบายที่ให้ซ้ำมากที่สุดคือ ประเทศไทยยังมีคนศาสนาอื่นๆ และมีคนที่ไม่ได้มีศาสนา

ส่วน Gen Z ที่เห็นว่าควรยังต้องมีข้อห้ามการขายเหล้าเบียร์ ให้เหตุผลว่า ขัดกับหลักพุทธศาสนา, ทำให้ผู้คนขาดสติ, หยุดกินเหล้าเบียร์ทุกวันพระอาจจะทำให้สุขภาพแข็งแรง, ข้อห้ามขายเหล้าเบียร์ เกิดจากรัฐประหารปี 2514 ที่ข้าราชการกินอาหารกินเหล้าติดลมยาวไม่กลับไปทำงาน จึงมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 กำหนดเวลาซื้อขายเหล้าเบียร์ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. แต่ใช้จริงจังเมื่อสิบกว่าปีมานี้ เมื่อมีร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ สอดรับกับการห้ามซื้อขายเหล้าเบียร์วันพระที่เพิ่มขึ้น การห้ามขายเหล้าเบียร์วันพระ เกิดจากการรัฐประหาร 2549 รัฐบาลออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ต่อมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษาต่อมารัฐประหาร 2557
ห้ามการขายเหล้าเบียร์โดยเพิ่มวันออกพรรษาอีก 1 วัน

ผลสำรวจดังกล่าวเป็นความคิดของคนรุ่นใหม่ และน่าคิดว่า คำสั่งและข้อห้ามต่างๆ ที่มีผลกับประชาชน เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ควรมีที่มาที่ไปอย่างไร ควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะติดตามมา มีลักษณะด้านเดียวและบังคับประชาชนเกินไปหรือไม่ น่าสังเกตว่า ข้อห้ามต่างๆ เกิดในช่วงรัฐประหาร ซึ่งประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพอยู่แล้ว การทักท้วงโต้แย้งด้วยเหตุผลจึงไม่เกิดขึ้น และน่าคิดว่า หากประเทศอยู่ห้วงเวลาปกติ น่าจะมีการทบทวน และถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image