ศธจ…ต้านพ.ร.บ.การศึกษา ประโยชน์ข้าฯมาก่อน

กลุ่มผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เข้าพบ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขอให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ รัฐสภา

“ศธจ.ได้นำข้อกังวล ในมาตรา 3 เกี่ยวข้องกับการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. อาจส่งผลให้ต้องยกเลิกศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) กระทบต่อการปฏิบัติงานทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาเห็นว่ายังจำเป็นต้องมีหน่วยงานนี้อยู่ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ หากต้องยุบไปก็จะกระทบบุคลากรที่ได้รับความเดือดร้อนหลายพันคน” คุณตรีนุชย้ำ

คอข่าวการศึกษาเห็นข้อเรียกร้องเลยเกิดอาการงุนงง สงสัยกันไปตามๆ ซิครับ ว่า เหตุใดถึงไปไกลขนาดนั้น

ทั้งๆ ที่ถ้าย้อนไปถึงต้นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ของรัฐบาล ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาตามลำดับ จนเข้าที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบวาระแรก วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เขียนไว้ดังนี้

Advertisement

มาตรา 3 ให้ยกเลิก
1 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
2 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545
3 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553
4 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562
5 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546

ไม่มีข้อความใด วงเล็บไหนที่เขียนให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 เลยแม้แต่คำเดียว

การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ ของรัฐสภาครั้งสุดท้าย วันที่ 8 ธันวาคม 2565 ก็มีมติให้คงความในมาตรา 3 ไว้ตามร่างเดิม

Advertisement

เมื่อเกิดข้อเรียกร้องทำนองกลัวล่วงหน้าว่า จะถูกยุบเลิกตำแหน่งทิ้ง ยิ่งเย้ายวน ชวนให้กลับไปทบทวน ความเป็นมาเดิมนับแต่มีคำสั่งฉบับนี้ออกมา เกิดปัญหาการบริหารการศึกษามาตลอด

เหตุจากความทับซ้อนทางบทบาทและอำนาจ ระหว่างศึกษาธิการจังหวัดกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จนถึงขั้นเกิดเสียงเรียกร้องให้ยุบเลิก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ให้เหลือฝ่ายเดียว

กระทั่งคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภานำปัญหานี้เข้าสู่การพิจารณาและเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ระบุในบทสรุปผู้บริหารว่า ศึกษาธิการจังหวัดซึ่งสังกัดสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถประสานสั่งการผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ ด้วยเหตุผลว่าศึกษาธิการจังหวัดไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา จึงก่อให้เกิดปัญหาต่อการปฏิรูปการศึกษาตามภารกิจ

ทำให้การศึกษาไม่ได้รับการปฏิรูปเพื่อพัฒนาเท่าที่ควร โดยเฉพาะงานด้านวิชาการซึ่งถือเป็นงานหลักของการปฏิรูปการศึกษา องค์คณะบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นตามโครงสร้างของ กศจ.ให้ความสำคัญเฉพาะการบริหารงานด้านบุคคลเท่านั้น

อีกด้านหนึ่งจากปัญหาเดียวกันนี้ ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 ที่ประชุมสภาผู้แทนฯลงมติให้ความเห็นชอบ และส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณา

วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และลงมติในการประชุมวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ส่งกลับให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้าย ทั้งหมด 12 มาตรา

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ว่านี้ ก็ไม่ปรากฏข้อความมาตราใด วรรคไหน ให้ยกเลิกตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

ตรงกันข้าม ให้ใช้ข้อความใหม่ในข้อ 12 ดังนี้ ให้มีศึกษาธิการจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศึกษาธิการภาค มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและให้มีรองศึกษาธิการจังหวัดเพื่อช่วยเหลืองานศึกษาธิการจังหวัดจำนวนไม่เกินสามคน

มาตรา 9 องค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ต้องกำหนดให้มีผู้แทน กศจ.อย่างน้อยหนึ่งคนและนายอำเภอหรือผู้แทนอย่างน้อยหนึ่งคนสำหรับกรุงเทพมหานครให้มีผู้อำนวยการเขตหรือผู้แทนอย่างน้อยหนึ่งคนร่วมเป็นองค์ประกอบด้วย

สภาผู้แทนราษฎรรับความเห็นของวุฒิสภามาพิจารณาในการ ประชุมวันที่ 14 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ให้ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว

ฉะนั้นการที่ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด ยกคณะไปร้องว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาขาดองค์ประกอบหลักคือผู้แทนจาก กศจ. ก็ไม่เป็นความจริง
เช่นเดียวกับการยกเลิกตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค กรรมการศึกษาธิการจังหวัด ยังคงอยู่ทั้งหมด

การเคลื่อนเรียกร้องจึงไม่ต่างไปจากตีปลาหน้าไซ กวนน้ำให้ขุ่น อาจกระทบต่อกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา

เหตุผลที่หยิบยกขึ้นมารองรับล้วนเป็นเรื่องของผลประโยชน์เป็นสำคัญ

ถ้าผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา เรียกร้องแต่เรื่องของตนเป็นหลัก แทนที่มุ่งประโยชน์ของผู้เรียน คุณภาพการเรียนของเด็ก คุณภาพการศึกษาและคุณภาพครูต้องมาก่อน แล้วจะให้สังคมมีความหวังกับอนาคตการศึกษาไทย และเด็กไทย วันไหน เมื่อไหร่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image