ศึก ‘หลังฟุตบอลโลก’ ที่อาจต้องดวลถึงฎีกา

ภาพจากรอยเตอร์

ศึก ‘หลังฟุตบอลโลก’ ที่อาจต้องดวลถึงฎีกา

ศึกฟุตบอลโลกกาตาร์ 2022 จบลงด้วยการคว้าแชมป์โลกสมัยที่สามของทีมชาติอาร์เจนตินา เป็นเช่นบทสุดท้ายเพื่อปิดตำนานสุดยอดนักฟุตบอลของ ลิโอเนล เมสซี่ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามว่า “มนุษย์ต่างดาว” ผู้เคยสัมผัสกับแชมป์ฟุตบอลรายการสำคัญของโลกมาแล้วจนครบ ขาดเพียงเกียรติประวัติสูงสุดเท่าที่นักฟุตบอลชาวโลกคนหนึ่งจะทำได้ คือการชูถ้วยฟีฟ่าเวิลด์คัพ ภายใต้เสื้อทีมชาติตัวเอง

ซึ่งเขาก็ได้ทำสำเร็จแล้วในค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา

การต่อสู้อย่างเต็มที่และสมศักดิ์ศรีของผู้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้คือเครื่องขับเน้นความยิ่งใหญ่ของผู้ชนะที่ดีที่สุด ยิ่งไปกว่าการเอาชนะแบบขาดลอยหมดลุ้น เช่นนี้สิ่งที่เป็นส่วนช่วยให้การปิดตำนานของเมสซี่ได้งดงามและยิ่งใหญ่ ก็คือ “ทีมชาติฝรั่งเศส” ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลจากยุโรปที่ยอดเยี่ยมที่สุดในยุค ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของแชมป์เก่าผู้ไม่ยอมแพ้แม้จนถึงช่วงนาทีสุดท้าย พร้อมกับการฉายแสงอย่างเต็มตัวของ คีเลียง เอ็มบัปเป้ ที่จะมาเป็นตำนาน “ท่านประธาน” ลูกหนังคนใหม่

Advertisement

ฟุตบอลโลก กาตาร์ 2022 แม้จะเริ่มต้นด้วยความอื้อฉาว มีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพจนมีการดำเนินคดี ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวในการก่อสร้างสนามแข่งขัน การปรับตารางการดวลแข้งให้สอดคล้องกับภูมิอากาศของประเทศเจ้าภาพจนเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในฤดูหนาว การตั้งคำถามโต้แย้งแม้กระทั่งก่อนเริ่มมหกรรมจนถึงการเตะกันไปนัดแรกๆ ไม่ว่าจะมาจากเรื่องข้อบังคับของทางการกาตาร์ที่ต้องการให้มหกรรมฟุตบอลโลกนี้สอดคล้องกับข้อปฏิบัติทางศาสนา เรื่องสำคัญคือการห้ามขายเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนาม การกีดกันการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม ที่ทำให้ทีมฟุตบอลบางทีมต้องหาช่องทางแสดงออกกันเป็นสีสัน

แต่กระนั้นเกือบหนึ่งเดือนของการแข่งขันก็ต้องยอมรับว่ากาตาร์ 2022 เป็นฟุตบอลโลกที่ยอดเยี่ยมและน่าจดจำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เสียจนกลบฝังข้อโต้แย้งครหายาวเหยียดเมื่อย่อหน้าที่แล้วนั้นลงได้จนสิ้นเชิง เพราะนอกจากการปิดตำนานลงราวกับมหากาพย์ของลิโอเนล เมสซี่ที่กล่าวไปแล้ว เรายังได้เห็นการก้าวขึ้นสู่ความเป็นทีมฟุตบอลระดับโลกอย่างเต็มตัวของญี่ปุ่น ทีมจากทวีปเอเชียที่กลายเป็นอีกหนึ่งทีมที่ยิ่งใหญ่พอที่มีโอกาสจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในอนาคต การเข้ารอบรองชนะเลิศครั้งแรกอย่างสมศักดิ์ศรีของโมร็อกโก ทีมชาติจากแอฟริกา และการแข่งขันที่น่าจดจำอีกหลายนัด

สำหรับประเทศไทย นี่ก็คงเป็นฟุตบอลโลกที่เราจะจดจำไปอีกนาน และสำหรับบางคนอาจจะต้องจดจำถึงวันตาย

Advertisement

เริ่มจากที่ครั้งนี้อาจจะเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่คนไทยเกือบจะไม่มีสิทธิได้ชมการถ่ายทอดสดอย่างถูกต้องเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ด้วยปัญหาที่เกือบไม่มีผู้ได้รับสิทธิถ่ายทอดสดจาก FIFA ด้วยค่าตอบแทนที่ตั้งไว้ในครั้งแรกสูงถึง 1,600 ล้านบาท ที่ในที่สุดจะไปต่อรองมาจนเหลือเกือบ 1,200 ล้านบาท และได้สิทธิมาถ่ายทอดเอาก็ก่อนการแข่งขันเพียงไม่กี่วัน

แถมพอจะได้ดูก็มีปัญหาทั้งคุณภาพของการถ่ายทอดสด การต่อสู้เรื่องลิขสิทธิ์การเผยแพร่ผ่านช่องทาง IPTV การต่อสู้ทางกฎหมายแบบเดือดพอๆ กับฟุตบอลในจอ ว่ากันไปไปจนถึงนัดสุดท้าย

เรื่องมันเริ่มต้นที่การไปขอซื้อสิทธิการถ่ายทอดด้วยวงเงินที่เปิดมาสูงขนาดนั้น ไม่มีเอกชนที่ไหนยอมเสี่ยงลงทุน ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลมาจากกฎ 2 Must คือ Must Have และ Must Carry ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดังนั้นก็เป็น กสทช.เองที่ต้อง “ช่วยออก” โดยอนุมัติเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ วงเงิน 600 ล้านบาท ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ตามที่ของบสนับสนุน และในส่วนที่เหลือ ทาง กกท.ก็จะต้องไปหามาจากผู้สนับสนุนเอกชนรายอื่นๆ

ซึ่งปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อเอกชนรายใหญ่ที่สุดที่สนับสนุนเงินส่วนต่างค่าสิทธิถ่ายทอดฟุตบอลโลก เป็นเอกชนที่ทำกิจการสื่อสาร โทรคมนาคม และกิจการโทรทัศน์ ทั้งแบบฟรีทีวีและแบบบอกรับสมาชิกอยู่ด้วย ได้เข้ามาถือสิทธิสำคัญหลายรายการ เช่น การได้เลือกช่องถ่ายทอดก่อน สิทธิในการนำไปถ่ายทอดแบบความคมชัดสูง (Full HD) ในระบบโทรทัศน์บอกรับสมาชิกของตัวเอง (โดยส่วนที่นำมาถ่ายทอดในฟรีทีวีนั้นเป็นแบบความละเอียดพื้นฐานหรือ SD ซึ่งก็ว่าเขาไม่ได้เพราะเขาได้ใบอนุญาตเฉพาะในระบบนั้น)

แต่สิทธิประโยชน์สำคัญที่สุดคือการถือสิทธิขาดแต่เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดผ่านระบบโทรทัศน์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือ IPTV ซึ่งส่งผลให้โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกของเอกชนรายอื่นที่ใช้การกระจายสัญญาณผ่าน IPTV ไม่สามารถใช้รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกนี้ได้

ซึ่งเรื่องนี้ถ้ากล่าวกันอย่างยุติธรรม ก็จะไปว่ากล่าวเอาโทษเอกชนรายดังกล่าวก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ได้ออกเงินสนับสนุนช่วยค่าซื้อสิทธิถ่ายทอดสดมาจาก FIFA ไปถึง 300 ล้านบาท ซึ่งแม้จะไม่ใช่สัดส่วนที่มากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นจำนวนเงินที่มีนัยสำคัญที่ทำให้การไปซื้อสิทธิมาจาก FIFA นั้นประสบผลสำเร็จ

เงินมหาศาลขนาดนี้ใครเขาจะมาจ่ายเพื่อการกุศลหรือให้ได้แค่โฆษณาช่วงพักครึ่งหรือเอาส่งเสริมการขายอื่น ๆ ดังนั้น ก็ไม่ผิดอะไรที่เอกชนรายนั้นจะต้องแสวงประโยชน์ให้ได้คุ้มค่าสมน้ำสมเนื้อ ทั้งเรื่องที่ถ่ายทอดทางฟรีทีวีต้องเป็นแบบ SD ที่ยุคปัจจุบันถือว่าคุณภาพต่ำเกินไปแล้ว เขาก็ได้แสดงความจำนงขอเพิ่มความละเอียดของช่องตัวเองเป็น HD หรือ Full HD ชั่วคราวต่อทาง กสทช.แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการที่ทางนั้นเองก็ได้ยินยอมให้ช่องโทรทัศน์ระบบ HD อื่น ถ่ายทอดคู่ขนานในบางนัดได้ด้วย

เช่นเดียวกับถ้าจะชี้ว่าเอกชนรายอื่นเห็นแก่ตัว เงินไม่จ่ายแต่อยากช่วยถ่ายฟรีก็ไม่ใช่ เพราะเขาก็คงพิจารณาจากกฎ 2 Must ของ กสทช.ข้างต้นนั่นแหละว่า ต่อให้ได้สิทธิมาก็ไม่อาจหวงกันให้เป็นประโยชน์เต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีข้อสงสัยว่า ถ้าผู้ประกอบการทุกรายรู้ว่าถ้าจ่ายแล้วจะได้สิทธิขนาดนั้น รวมถึงสามารถหวงกันสัญญาณได้เสมือนถือลิขสิทธิ์ไปเต็มๆ เขาก็อาจจะยอมช่วยจ่ายและแบ่งการถ่ายทอดสดไปอย่างเป็นธรรมกว่านี้หรือไม่

เฉพาะประเด็นนี้ จึงเป็นข้อที่ กกท.และผู้ว่าการ กกท. นายก้องศักด ยอดมณี ที่จะต้องตอบคำถามต่อสังคมและกระบวนยุติธรรมในอนาคตให้ได้ว่า การไปทำตกลงสัญญาหรือ MOU ให้สิทธิเอกชนรายดังกล่าวนั้น เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือไม่

ปัญหาของการที่โทรทัศน์ในระบบ IPTV ไม่สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกได้ ซึ่งประเมินว่าจะมีผู้เดือดร้อนเสียหายประมาณ 1 ล้านราย ที่อาจจะต้องแก้ปัญหาด้วยการหา “เสาหนวดกุ้ง” (ซึ่งจริงๆ คือเสารับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล) มาใช้ หรือทนไม่ไหวก็อาจจะต้องไปสมัครแพคเกจโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ตของเอกชนรายที่ได้รับสิทธิ เช่นนี้ “เจ้าของเงิน” ก้อนใหญ่ที่สุด คือ กสทช.ก็ต้องร้อนอาสน์

เพราะเอาเข้าจริง การอนุมัติเงินกองทุน กสทช.นั้น เอาจริงก็ถือว่าอยู่ในโทนเทาตุ่นๆ เพราะถ้าดูตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ซึ่งข้อที่อ้างอำนาจและอนุมัติเงินกองทุนดังกล่าว ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 อนุมาตรา (2) ที่ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อ “…ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง…” แล้ว การเอาเงินกองทุนมาสนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ทีมชาติไทยก็ไม่ได้เข้าร่วม ก็ออกจะเป็นการ “ลากถู” ไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายข้างต้นอยู่พอสมควร

แต่ไหนๆ ก็เมื่อลากถูกันไปแล้วก็ต้องให้สมประโยชน์ตามที่ กสทช.เองได้ประกาศไปว่า การอนุมัติเงินกองทุนดังกล่าวนั้น “…เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 แมตช์ ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึง ฯลฯ …” เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่ามีผู้ใช้โทรทัศน์บางระบบเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญที่ไม่สามารถรับชมการแข่งขันทางฟรีทีวีได้ ก็นับว่าไม่สมประโยชน์ตามที่ได้ประกาศไว้ ทาง กสทช.ก็จำเป็นต้องเรียกเงินดังกล่าวคืน เพราะถ้ามีความรับผิดในตอนหลัง เช่น มีการตรวจสอบแล้วกลายเป็นว่าการอนุมัติเงินกองทุนดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบโดยกฎหมาย ความเสียหายที่อาจต้องมีการชดใช้เป็นการส่วนตัวของกรรมการ กสทช. ผู้เกี่ยวข้องก็คงจะไม่หนักหนาเกินไป

ซึ่งถ้า กกท.จะไม่ยอมคืนเงินดังกล่าว ก็คงจะต้องใช้ช่องทางการฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งการฟ้องคืนเงินก้อนดังกล่าวนี้ตามหลักแล้วควรต้องขึ้นสู่ศาลปกครอง เพราะเป็นสัญญาสนับสนุนเงินกองทุนที่ระบุชัดว่า เป็นกองทุน “เพื่อประโยชน์สาธารณะ” ที่น่าจะเข้าตามนิยามของ “สัญญาทางปกครอง” ที่หมายถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (กรณีนี้คือทั้งสองฝ่าย) เป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ

ข้อที่ต้องระวังคือเรื่องนี้อาจจะมีคู่กรณีฝ่ายหนึ่งโยเยงอแงว่าเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง เพราะเป็นข้อโต้แย้งเรื่องลิขสิทธิ์หรือสิทธิการถ่ายทอดสด ต้องไปอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญา แล้วดำเนินการโต้แย้งเรื่องอำนาจศาลตามกฎหมายชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลกันอีกให้ยุ่งยากซับซ้อนกันไป

ดังนั้นเรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องมองและชี้ให้ขาดว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อพิพาทว่าใครมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดีกว่ากัน หรือสิทธิในการถ่ายทอดสดเป็นของใคร หรือมีสิทธิแสวงประโยชน์ได้แค่ไหนเพียงไร แต่เป็นปัญหาว่านำเงินที่ได้มาจากการสนับสนุนซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองไปใช้โดยถูกต้องตามข้อที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือ MOU ที่ กสทช.ตกลงให้การสนับสนุนต่อ กกท.หรือไม่

ทั้งนี้ ที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมและย้ำกันว่าปัญหาเรื่องนี้ที่ต้นตอที่สุด มาจากการออกกฎ 2 Must ที่ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริงของโลก แทรกแซงการค้าเสรีและการดำเนินกิจการ รวมถึงเรื่องที่ไม่คำนึงถึงปัญหาที่จะเกิดการขัดกันระหว่างกฎหมายของ กสทช.กับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง คือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

ส่วนเรื่องที่จะตามมา กรณีศาลพิพากษาว่า การทำสัญญาหรือข้อตกลงของ กกท.กับเอกชนไม่เป็นไปตามข้อตกลงกับทาง กสทช. และพิพากษาให้ต้องคืนเงิน 600 ล้านบาทดังกล่าว และอาจจะต้องมีดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเอาเงินจากใครหรือที่ไหนมาคืน

การแข่งขันที่แบบลากกันกว่า 120 นาที จนไปจบด้วยการเตะลูกโทษเพื่อหาผู้ชนะในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกครั้งนี้ ถ้าภาษาคอบอลรุ่นเก่า เขาจะเรียกว่าแชมป์ปีนี้ “ดวลถึงฎีกา”

ศึกคดีความที่จะเกิดขึ้นตามหลังฟุตบอลโลกครั้งนี้ จากรอบแรกที่วัดกันไปแล้วนัดหนึ่งในศาลทรัพย์สินทางปัญญา แล้วอาจจะไปต่อกันในรอบตัดเชือกที่ศาลปกครอง แต่จะไปดวล “ลูกโทษ” กันถึงชั้นฎีกาที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ก็ต้องติดตามกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image