รับมือกับ7วิกฤตทางการแพทย์ในปีพ.ศ.2566

หลังเหตุการณ์โรคระบาด จะเห็นจุดแข็งจุดอ่อน ของระบบการแพทย์ชัดขึ้น การทบทวนเพื่อรับมือกับวิกฤตทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น มีความจำเป็น และจะทำให้ระบบสาธารณสุขมีความเจริญก้าวหน้า เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างยั่งยืน
7 วิกฤตทางการแพทย์ที่ต้องรับมือในปีต่อไปมีดังนี้
1.ปัญหาสุขภาพจาก กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ที่มีอยู่แล้วจะทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากโรคระบาดจากไวรัสที่จะคงระบาดเป็นครั้งคราวแล้ว สังคมไทยจะผจญกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองหัวใจ ถุงลมปอดโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง ภูมิแพ้ ไขข้อ กระดูกเสื่อม โรคจากสูงวัย มะเร็ง รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต การเสพติด โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงในครอบครัว
ภาวะเหล่านี้เกิดรุนแรงขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจสังคม และการเข้าไม่ถึงทางการแพทย์ในช่วงมีโรคระบาด
โรคยาก ซับซ้อน ใช้การรักษาราคาแพง มีมากขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างในการรักษาและเข้าถึง ส่งผลกระทบกับผู้หญิงเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้อ่อนแอ ผู้ด้อยโอกาสอย่างรุนแรง
เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ทำให้ประชากรเจ็บป่วย เสื่อมถอย คุณภาพชีวิตลดลง ประเทศชาติอ่อนแอต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูง

วิธีรับมือมีดังนี้
1.เพิ่มประสิทธิภาพการบริการปฐมภูมิ รักษาที่บ้าน ชุมชน ใช้ระบบการส่งตัวจากหมอประจำตัว การจ่ายยาก็เช่นกัน อาจจะกระจายการส่งยาไปตามร้านขายยาในชุมชน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เทเล (Tele) จุดนัดพบ ฯลฯ อาการหนักจึงเข้าโรงพยาบาล
2.เน้นการป้องกันโรค และการดูแลแบบสหสาขา ไม่เป็นการแพทย์เฉพาะทาง แยกส่วน
3.สนับสนุน การแพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทย จีน ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน ควบคุมให้มีมาตรฐาน ไม่เป็นการค้า มาตรฐานการรักษาพยาบาล อาศัยเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน (Evidence-based Medicine) ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับวัฒนธรรม นวัตกรรม สื่อสาร
4.ให้ข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอ ให้คนไข้และญาติมีส่วนตัดสินใจร่วมในการรักษาพยาบาล
5.สนับสนุนให้มีความรู้ด้านสุขภาพรอบด้านอย่างถ่องแท้ (Health literacy)
6.ดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home health care) รวมถึงการดูแลระยะสุดท้าย (End of life care) โดยมีองค์กรที่เกี่ยวข้อง บุคลากรสาธารณสุข ชุมชน องค์กรศาสนา ช่วยสนับสนุน

2.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการแพทย์ มีการนำเทคโนโลยีการแพทย์มาใช้อย่างกว้างขวาง เช่น ตรวจยีนทำนายโรคจากพันธุกรรม การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence:AI) วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย วินิจฉัย ทดแทนมนุษย์ ในการตรวจทางรังสีวิทยา ทางพยาธิวิทยา เซลล์วิทยา มะเร็ง ฯลฯ ใช้ Digital health ปรึกษาผ่านระบบประชุมทางไกล (video conference) สื่อสารรักษาแบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ดูแลคนไข้เรื้อรังตามโปรแกรมต่างๆ (virtual disease management program) สร้างสื่อให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ผ่านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี (chatbot) ใช้เครื่องมือสวมใส่ (wearable Device) สำหรับตรวจสารเคมีในเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ สัญญาณชีพต่างๆ มอนิเตอร์โรค ความแข็งแรงของร่างกาย ผ่านการสั่งทางไกล (fitness monitors and remote sensors) เป็นต้น

วิธีรับมือมีดังนี้
1.ตรวจรักษาผสมผสาน ความเจริญทางเทคโนโลยี เป็นเรื่องของการพัฒนาตามกระแสโลกที่ดี แต่อาจเป็นดาบสองคม หากใช้เป็นธุรกิจการแพทย์ เพราะอาจจะมีปัญหาความคุ้มค่า ทุน-กำไร ควรใช้การตรวจรักษาผสมผสานด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized health care) ร่วมกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ส่งตรวจพิเศษ วินิจฉัย รักษา ควรสัมผัสหัวใจด้วยความเมตตากรุณา เอาใจเขามาใส่ใจเรา
2.สร้างกฎเกณฑ์ทางมาตรฐาน และจริยธรรม มีข้อบ่งชี้ ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง อย่างชัดเจน เพื่อให้การเกิดความสมดุลระหว่างการใช้เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ได้ป่วย กับการใช้ในด้านธุรกิจ

Advertisement

3.ความขัดแย้งระหว่างแพทย์และประชาชน ความศรัทธาในตัวแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ลดลง มีความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ มีการลงข่าวประณามตามสื่อโซเชียลต่างๆ มีการฟ้องร้องทั้งอาญาและแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นดังคาดหวัง เป็นเงินจำนวนสูง
มีการไล่เบี้ยแพทย์ เมื่อต้องจ่ายค่าเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นจากการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการไล่เบี้ยตาม ม.42 พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ และเมื่อหน่วยงานสาธารณสุขแพ้คดีแพ่ง

วิธีรับมือมีดังนี้
1.ปรับปรุงหลักสูตรผลิตแพทย์ นอกจากความรู้ทางการแพทย์ (Hard skill) แพทย์ต้องผ่านการฝึกฝนทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft skill) เพื่อให้มีทักษะการสื่อสาร จูงใจ โน้มน้าว ต่อรอง การปรับตัว บริหารเวลา ทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นสหสาขา มีความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งทำให้มีความสุขในการทำงาน และเป็นพื้นฐานลดการฟ้องร้อง
2.คดีทางการแพทย์ (ยกเว้นเสริมสวย) ไม่ควรเป็นคดีผู้บริโภค เพราะโรคภัยไข้เจ็บไม่ใช่สินค้าที่แพทย์ผลิต และมีปัจจัยจากผู้ป่วย เชื้อโรค และสิ่งแวดล้อมมากมาย ที่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้เป็นดังต้องการ
3.มีประกันวิชาชีพ เพื่อให้นักกฎหมายมืออาชีพมาช่วยดูแล เมื่อเกิดการฟ้องร้อง ในหลายกรณีสามารถไกล่เกลี่ยให้ตกลง เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย
4.สื่อต้องรับผิดชอบสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการรักษา มีจรรยาบรรณ ไม่ขาย ขยายความขัดแย้งเพื่อเพิ่มยอดการเข้าถึงข่าว
5.ประชาชนต้องดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
แยกแยะข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ระหว่างจริงกับปลอมได้

4.วิกฤตผู้สูงอายุ ประเทศไทยเข้าสู่ประเทศผู้สูงอายุเต็มตัว คำจำกัดความคือมีประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งเป็นวัยที่ถดถอยสมรรถนะร่างกาย มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอ ขาดบุคลากรที่ช่วยพัฒนาประเทศชาติ ครอบครัวและประเทศชาติรับภาระในค่าใช้จ่ายและการดูแล รักษาพยาบาล

Advertisement

วิธีรับมือมีดังนี้
1.ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการดูแลสุขภาพ (Health literacy) โดยมีการสนับสนุนจากเครือข่ายสุขภาพ (social support networks) สามารถแยกแยะสื่อออนไลน์ และสื่ออื่นๆ ที่หลอกลวง ทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพแย่ลง ทั้งคำแนะนำการปฏิบัติตัว ชักชวนซื้ออาหารเสริม สมุนไพร ยาบำรุงต่างๆ
2.จัดงบประมาณ จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศ ให้มีบริการพิเศษอย่างครอบคลุม การส่งเสริมสุขภาพ การฉีดวัคซีนป้องกันโรค โปรแกรมการตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ การคัดกรองโรค รักษาโรคเฉพาะ การใช้ยาเฉพาะของผู้สูงวัย มีสวัสดิการ ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ มีการบริการผู้สูงอายุในชุมชน เยี่ยมบ้าน ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย
3.ส่งเสริมการสร้างครอบครัว คือการสร้างเสริมสุขภาพทางเพศ และส่งเสริมการเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมเท่านั้น แต่หมายถึง ส่งเสริมการสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์เพิ่มจำนวนประชากรที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยแก้วิกฤตผู้สูงอายุ และสร้างประเทศชาติให้เจริญ
4.ความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุทุกมิติ เนื่องจากการดูแลสุขภาพ โรคและการใช้ยาในผู้สูงอายุ เป็นการดูแลเฉพาะ แพทย์ทุกสาขาควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุทุกมิติ

5.สิทธิการรักษาพยาบาล ขอกล่าวเฉพาะสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งยังมีความจำเป็นช่วยลดการล้มละลายเมื่อป่วยหนัก เนื่องจากสิทธิข้าราชการ แม้ยอดรวมจะสูงมาก แต่มีการปรับลดจำนวนข้าราชการลง ส่วนสิทธิประกันสังคม มีการปรับสวัสดิการตามค่าใช้จ่ายและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ปัญหาของสิทธิประกันสุขภาพ คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่างๆ จะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนคนไข้ทั่วไป กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง ผู้พิการ กลุ่มเสี่ยงต่างๆ มีจำนวนมากขึ้น ความถี่ของการใช้บริการทางการแพทย์สูงขึ้น มีการระบาดของโรคต่างๆ โรคภัยไข้เจ็บซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้น
งบที่จ่ายให้สถานพยาบาลต่างๆ ในการดูแลคนไข้ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริง ทำให้คุณภาพการบริการลดลง

วิธีรับมือมีดังนี้
1.เน้นการบริการปฐมภูมิให้เป็นจริง รักษาใกล้บ้าน มีการดูแลในชุมชน ดูแลเยี่ยมบ้าน งบประมาณเพียงพอในการป้องกันโรค คัดกรองโรคตามกลุ่มวัย สนับสนุนการฉีดวัคซีนที่จำเป็นทุกชนิดทั้งในกลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป
2.เสริมสร้างองค์ความรู้ ในการดูแลสุขภาพ แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย ป้องกันภาวะรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากโรคและการรักษาพยาบาล
3.มีงบประมาณเพียงพอ จ่ายให้สถานพยาบาลต่างๆ ตามค่าใช้จ่ายจริง จ่ายตามผลงานการตรวจรักษา การเพิ่มคุณภาพการดูแล การป้องกันภาวะแทรกซ้อน ป้องกันการนอนโรงพยาบาลซ้ำ หากงบประมาณไม่เพียงพอ ควรหาวิธีจ่ายร่วม ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม
4.ใช้หลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพอนามัยประชาชน มาประกอบการตัดสินใจใช้งบประมาณ และจัดสรรทรัพยากร เช่น เรียงลำดับความสำคัญงานบริการที่ส่งผลช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสุขภาพดี มากกว่าโรคที่หายาก ใช้ค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา เป็นต้น
5.ยึดหลักเกณฑ์ วัตถุประสงค์ของการจ่ายเงินเยียวยาค่าเสียหายเบื้องต้นจากการรักษาพยาบาลตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ควรจ่ายตามวัตถุประสงค์จริงๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนการไล่เบี้ยแพทย์ ตามมาตรา 42 ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษา ภาวะวิสัย และพฤติการณ์ของผู้ให้บริการเข้ามาประกอบ

6.คุณภาพและความสุขในการทำงานของแพทย์
คุณภาพและความสุขในการทำงานของแพทย์ลดลง มีภาวะหมดไฟ (Burn out) ในการทำงาน ส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของระบบสุขภาพโดยตรง

ปัญหา
1.คุณภาพการผลิตแพทย์ ข้อมูล เดือน ก.ย.2565 ประเทศไทย มีโรงเรียนแพทย์ของทั้งรัฐและเอกชน รวมจำนวน 25 แห่ง เนื่องจาก พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ตัดบทบาท
สภาวิชาชีพรับรองหลักสูตรการศึกษา และไม่มีการจำกัดจำนวนผลิตแพทย์ จึงมีการเปิดโรงเรียนแพทย์ใหม่จากสถาบันต่างๆ
การรับนักเรียนแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ใหม่ ไม่ได้เลือกเด็กเก่ง คะแนนสอบสูงดังแต่ก่อน โรงเรียนแพทย์ใหม่หลายแห่ง ไม่พร้อมในการเรียนการสอน จำนวนคนไข้ก็ไม่เพียงพอต่อการฝึกทักษะ ค่าเล่าเรียนมีราคาสูง เมื่อจบแพทย์ ต้องคืนทุนในเวลาที่สั้นที่สุด ขณะที่มีแพทย์จบใหม่ปีละ 2,800 คน กระทรวงสาธารณสุขรับได้ 1,500 คน กระทรวงและหน่วยงานอื่นรับทำงานได้ ประมาณ 500 คน
ประเทศไทยปัจจุบัน จึงไม่ได้ขาดแคลนแพทย์ทั่วไปจนต้องเร่งผลิต แต่ขาดแคลนบางสาขาที่ภาระงานมาก รวมถึงมีปัญหาการกระจายแพทย์ที่ยังแก้ไม่ได้มาตลอดเวลากว่า 50 ปี การเร่งผลิตอาจส่งผลให้เกิดปัญหาคุณภาพและจริยธรรมของแพทย์
2.รายได้ของแพทย์และภาระงาน เงินเดือนของแพทย์ไม่ต่างจากข้าราชการอื่นๆ ในระดับเดียวกัน หากอยากมีรายได้มากขึ้นต้องทำงานหนัก แม้มีการเพิ่มค่าทำงานนอกเวลา แต่ก็เป็นจำนวนน้อย ไม่สอดคล้องกับภาระงาน และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ลักษณะงานที่เครียด อ่อนเพลีย ไม่ได้พักผ่อน รายได้น้อย ไม่มีเวลาเป็นส่วนตน ขาดความสุข
ทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งมีปัญหาสุขภาพ (กายและจิต) เกิดหมดไฟทำงาน
3.การฟ้องร้องทางการแพทย์ ร่วมกับภาระงานที่หนัก ปัญหาสุขภาพ (กายและจิต) และสังคมโซเชียลที่เปลี่ยนไป เพิ่มความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง ไม่มีความสุขในการปฏิบัติงาน แพทย์ส่วนหนึ่งลาออกหรือย้ายสายงาน

วิธีรับมือมีดังนี้
1.ต้องมีกฎหมายควบคุมเวลาทำงาน เช่นเดียวกับกฎหมายแรงงาน
2.มีรายได้ที่เหมาะสมต่อภาระการทำงาน
3.แพทย์ไม่จำเป็นต้องมีเส้นทางสายอาชีพ (Career path) แบบเดียว แต่เดิมจบมา รับราชการใช้ทุนโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลในหน่วยงานอื่น เรียนต่อเฉพาะทาง ฯลฯ ให้แพทย์สามารถเลือกสายอาชีพตามความชอบและความถนัด เป็นอาจารย์แพทย์ แพทย์เสริมสวย บริหาร วิชาการ นักวิจัย นักระบาดวิทยา แพทย์อิสระ แพทย์วิศวะ แพทย์ไอที แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการแพทย์ ฯลฯ
4.แก้ไขเรื่องการกระจายแพทย์ โดยเพิ่มแรงจูงใจต่างๆ
5.มีระบบสนับสนุนให้แพทย์ทำงานง่ายขึ้น เช่น เพิ่มพูนความรู้ทางการแพทย์ มีการศึกษาต่อเนื่อง มีหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาว มีตำแหน่งเรียนต่อเพียงพอ มีแนวทางปฏิบัติแต่ละโรค มีที่ปรึกษากฎหมาย มีจิตแพทย์ประจำตัว มีการตรวจสุขภาพกายสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ มีผู้ช่วยด้านไอที
6.รณรงค์วัฒนธรรม แพทย์ดูแลกันแบบพี่ดูแลน้อง เสนอความเห็นอย่างสร้างสรรค์ (Constructive comment) ไม่ทำลาย (Destructive comment) ลดบูลลี่
7.มีระบบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและระบบส่งต่อ อย่างไร้รอยต่อ

7.นโยบายการแพทย์และสาธารณสุขของพรรคการเมือง นโยบายการแพทย์และสาธารณสุขของพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง สามารถสร้างคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองที่ทำให้ประชาชนพึงพอใจ การเมืองจึงเกี่ยวข้องกับทิศทางนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและวงการแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิธีรับมือมีดังนี้
1.นโยบายพรรคการเมือง ต้องมีนโยบายสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนอย่างจริงใจ ควรนำความถูกต้องมาก่อนความถูกใจ
2.นโยบายผู้บริหารระบบสาธารณสุข ควรมั่นคง ทันเหตุการณ์ มุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ มีจุดยืน ทำเพื่อประโยชน์สุดของส่วนรวม ใช้หลักธรรมาภิบาล ไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพลการเมือง สร้างระบบสุขภาพผ่านการวิเคราะห์วิจัย รวบรวมข้อมูล บทเรียน จุดแข็งจุดอ่อน ทบทวน แก้ไข เพื่อให้บรรลุ จุดมุ่งหมาย ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า เจ้าหน้าที่มีความสุขและปลอดภัยในการทำงาน ระบบสุขภาพที่ยั่งยืนจึงจะปรากฏเป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image