สถานีคิดเลขที่ 12 : ช่วงชิง 250 ส.ส.

สถานีคิดเลขที่ 12 : ช่วงชิง 250 ส.ส. การเมืองเข้าสู่ปี 2566 ถือเป็นปีสุดท้าย

สถานีคิดเลขที่ 12 : ช่วงชิง 250 ส.ส.

การเมืองเข้าสู่ปี 2566 ถือเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รัฐบาลบริหารงานไปจนครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566

ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถือเป็นไฟต์บังคับให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้

เว้นเสียแต่เงื่อนไขการเมืองเปลี่ยน ถ้ามีการยุบสภา ก่อนรัฐบาลครบวาระ กกต.จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา

Advertisement

แต่ที่ทุกฝ่ายอยากรู้คำตอบ การเมืองภายหลังการเลือกตั้งจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร การเลือกตั้งจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองได้หรือไม่

คำตอบสุดท้ายที่ถูกต้องที่สุด คือ ต้องรอดูผลการเลือกตั้งว่า พรรคการเมืองที่ลงรับสมัครเลือกตั้งจะได้เสียง ส.ส. มาจำนวนเท่าใด ซึ่งจะมีผลชี้ขาดว่า “ใคร” และ “พรรคไหน” จะเป็นรัฐบาล หรือ ฝ่ายค้าน

ที่ผ่านมาจึงมีแนวการวิเคราะห์การเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2566 ภายใต้สมมุติฐาน เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยเฉพาะการโหวตเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

Advertisement

เพราะด้วยเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดไว้ว่า ในช่วงการทำหน้าที่ 5 ปี ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน มีอำนาจร่วมกับ ส.ส.500 คน โหวตเลือกนายกฯ ได้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ด้วยเหตุและปัจจัยทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป กลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน อย่าง “กลุ่ม 3 ป.” แบ่งบทกันเล่น แยกกันไปสร้างดาวคนละดวง ผ่านยุทธศาสตร์แยกกันเดินรวมกันตี หรือไม่ยังไม่มีใครตอบได้

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เลือกที่จะไปต่อด้วยการเป็น แคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยังคงนำทัพการเมือง นั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เหมือนเดิม

ส่วนพรรคพี่และพรรคน้องจะรวมเสียง ส.ส.ให้ไปต่อในทางการเมืองได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพหรือไม่ ก็อยู่ที่จำนวน ส.ส.ในมือ ที่จะได้มาหลังการเลือกตั้ง แม้ด้วยเงื่อนไขการโหวตเลือกนายกฯ ที่กลุ่ม 3 ป. ถือแต้มต่อขั้วการเมืองคู่แข่ง เพราะมี 250 ส.ว.รอไว้อยู่แล้ว

การบ้านข้อใหญ่ที่ทั้งสองขั้วการเมืองจะต้องกลับไปทำให้ได้ตามเป้าหมาย คือ การช่วงชิงรวมเสียงให้ได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 เสียง เพื่อให้เก้าอี้ นายกฯ ที่แต่ละฝ่ายจะเสนอชื่อมาให้รัฐสภาโหวตเลือกนั้น มีความมั่นคง และบริหารงานได้

ยิ่งจากท่าทีและสัญญาณที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้มุมมองถึงการโหวตเลือกนายกฯครั้งหน้าของ ส.ว. ที่ยอมรับความเป็นจริงในทางการเมืองว่า “แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องมีการฟอร์มรัฐบาลให้ได้เร็ว และรัฐบาลต้องมั่นคง ส.ว.คงต้องมีบทบาท เพราะ ส.ว.ต้องคำนึงว่าจะสร้างความมั่นคงได้อย่างไร ถ้าไม่มั่นคงก็ยุบสภากันอีก

“ดังนั้น อายุการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ก็มีส่วน เพราะคนที่จะเป็นนายกฯได้ สมมุติอยู่ในพรรคการเมืองที่ได้เสียง 250 ถึง 255 แล้วมาได้เสียงจาก ส.ว. โหวตนายกฯก็ไม่มั่นคงเท่าไหร่ ถ้าจะให้ดี ส.ส.ที่รวมกันต้องมีเสียงมาก เพราะ ส.ว.เพียงไปช่วยสนับสนุนแค่ตอนโหวตเลือกนายกฯเท่านั้น”

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image