ฤๅสังคมไทยจะเป็นสังคม‘วัวหายล้อมคอก’

ฤๅสังคมไทยจะเป็นสังคม‘วัวหายล้อมคอก’

ฤๅสังคมไทยจะเป็นสังคม‘วัวหายล้อมคอก’

โ ดยภาพรวมของทุกสังคมปรารถนาให้สังคมของตนเองมีลักษณะ “อยู่ดีมีสุข” โดยมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นปริบทพื้นฐานทั่วไป แต่ทั้งนี้บางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาบนการพัฒนาที่สุดโต่งหรืออาจจะถูกมองว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก สังคมนั้นจะถูกเรียกว่าสังคมยูโทเปีย (Utopia) ที่โทมัส มอร์ (Thomas More) นักปรัชญามานุษยนิยมชาวอังกฤษเขียนเป็นแนวคิดเชิงอุดมคติ เกี่ยวกับโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์หรือความผาสุกในทุกมิติ ทั้งนี้ ฐานคติของสังคมยูโทเปียของโทมัส มอร์ได้แรงบันดาลใจและฐานคิดจากหนังสืออุดมรัฐ (The Republic) ของเพลโตที่ว่าด้วยการปกครองบ้านเมืองที่ดีและให้มีความผาสุกรุ่งเรือง ในช่วงที่มอร์เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้คือช่วงปี ค.ศ.1516 ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษมีความโกลาหลมาก ด้วยเหตุนี้มอร์จึงส่งผ่านงานเขียนถึงสังคมในอุดมคติที่มีชื่อว่ายูโทเปีย (Utopia) ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่เสียดสีล้อเลียนความโง่เขลาและความเลวร้ายของสังคมในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามรากศัพท์ของคำว่ายูโทเปีย จะมาจากคำภาษากรีกคือ ou แปลว่าไม่ และคำว่า topos แปลว่าสถานที่ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจากการตีความตามทฤษฎีตีความ (Hermeneutics) สามารถตีความ (Connote) ได้ว่า “สังคมไม่มีทุกข์ แต่เป็นสุขบนความเพ้อฝัน

วัวหายล้อมคอก: หลายเหตุการณ์เชิงประจักษ์

วัวหายล้อมคอกเป็นชุดข้อคิดอีกลักษณะหนึ่งของคำสุภาษิตคำพังเพยไทย (Thai Proverbs) ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับการเกิดเรื่องหรือเหตุการณ์เสียหายขึ้นแล้วจึงพยายามคิดหาวิธีการป้องกัน นอกจากนี้ ยังแสดงความเปรียบเปรยว่าเหมือนมีสมบัติล้ำค่าหรือมีสิ่งดีๆ แต่ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ แต่พอเกิดการสูญเสียไปจึงหาทางที่จะเก็บรักษาสมบัตินั้นไว้ สังคมไทยถือว่ามีเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าวัวหายล้อมคอกหลายครั้งที่ซึ่งแสดงให้เห็นพอสังเขปมีดังนี้

Advertisement

1.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน เช่น กรณีลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่งจนทำให้นักเรียนเสียชีวิตหลายครั้งซึ่งมาจากความไม่รอบคอบในการตรวจสอบความเรียบร้อยในการรับส่งนักเรียน เหตุการณ์ถัดมาคือการกราดยิงเด็กนักเรียนอนุบาลที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภูในปีนี้ (พ.ศ.2565) เหตุการณ์นี้มีผลมาจากการติดยาเสพติดของผู้ก่อการ นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์อื่นที่เกิดขึ้นกับนักเรียนมากมาย เช่น การลงโทษนักเรียนที่มีความโหดร้ายมากกว่าพฤติกรรมครูที่ดีพึงกระทำ การกระทำชำเราที่ครูมีต่อนักเรียน

2.เหตุการณ์เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่ถูกเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 ซึ่งมีระยะเวลานานพอสมควร แต่การเบ่งบานประชาธิปไตยดูเหมือนจะเป็น “ดอกไม้ที่บานแต่เหี่ยวเฉา” จนทำให้เกิดเหตุการณ์เรียกร้องความประชาธิปไตยจากเหล่านักศึกษาขึ้นมาในปี พ.ศ.2516 หรือที่เรียกว่า “14 ตุลามหาวิปโยค” มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย สิ่งที่เป็นสุภาษิตที่วัวหายล้อมคอกที่กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2519 และเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี พ.ศ.2535

3.เหตุการณ์ที่เกิดจากสภาพธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าประเทศไทยมีความโชคดีมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ค่อนข้างประสบภัยจากธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ภัยธรรมชาติที่เห็นได้ชัดเจนคือภัยจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑลรวมทั้งต่างจังหวัด เหตุการณ์ที่เกิดจากสภาพธรรมชาติที่สอดคล้องกับสุภาษิตวัวหายล้อมคอกแล้วยังมีสุภาษิตอื่นอีกที่เกิดตามมา เช่น ไฟไหม้ฟางคือการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องและมีความรับผิดแบบปรากฏการณ์นิยม ขาดการป้องกัน แบบคงทนและถาวร นอกจากนี้ ยังพบว่าบางพื้นที่ถูกแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบผักชีโรยหน้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสุภาษิตไทยที่หลายหน่วยงานเอามาใช้เป็นประจำแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “การกระทำแห่งชาติ”

Advertisement

4.เหตุการณ์จากโรคระบาดโควิด-19 จนกลายเป็นโรคธรรมดาหรือโรคประจำถิ่น ความเป็นสุภาษิตของวัวหายล้อมคอกของเหตุการณ์คือ ความไม่ใส่ใจและไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมส่วนรวม จึงทำให้สภาวะของระบาดโรคเป็นไปในวงกว้าง กว่าจะหันมาตระหนักก็มีการสูญเสียเกิดขึ้นกับชีวิตมากมาย หรือแม้แต่เหตุการณ์สูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ ซึ่งการเกิดของโรคระบาดโควิด-19 มีหลายระลอก เหตุการณ์เหล่านี้มีการทบทวนเพื่อการป้องกันแบบไม่ให้กลับมา แต่สุดท้ายก็เป็นไปวัวหายล้อมคอกเช่นเดิม

ถอดบทเรียน: วาทกรรมที่ไร้ความหมาย

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสังคมไทยนิยมและชื่นชอบกับคำว่าถอดบทเรียน (Learned from) ซึ่งคำนี้ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาหรือการหากระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การถอดบทเรียนที่ดีนั้นจะต้องพิจารณาในปริบทและปริมณฑลของเหตุการณ์นั้นที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การวิเคราะห์ถึงปัจจัยผลักและปัจจัยดึงที่ส่งผลทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นั้น บทเรียนที่สามารถถอดออกมาเพื่อการหากระบวนการในการแก้ไขมีดังนี้

1.โลกระทมทุกข์ด้วยเสพติด จะเห็นได้ว่าปัจจุบันปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ของประเทศ โศกนาฏกรรมและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวมีจำนวนมาก สิ่งที่เป็นบทเรียนคือการปราบปรามที่เป็นไปในลักษณะ “ถอนรากสิ้นโคน” ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซ้ำร้ายบางพื้นที่ยังมีอำนาจแฝงของมือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) ให้การสนับสนุนในการจำหน่าย หากพอเข้าไปเพื่อทำการ ทำลายล้างก็ไม่อาจทำได้เพราะพบ “ตอ” อีกต่างหาก

2.อาวุธปืนซื้อง่ายขายคล่อง หากเปรียบเทียบจำนวนผู้ครอบครองอาวุธปืนกับประเทศเพื่อน บ้านหรือในต่างประทศจะพบว่าจำนวนการครอบครองอาวุธปืนของผู้คนในประเทศมีจำนวนมากถึงสิบกว่าล้านคน สิ่งที่เป็นบทเรียนคือโศกนาฏกรรมหลายครั้งและเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต มาจากการใช้อาวุธปืนที่ครอบครอง ยิ่งไปกว่านั้นการสนับสนุนที่มาจากหน่วยงานของรัฐที่ทำให้มีโอกาสครอบครองดูค่อนข้างง่ายดาย ดังนั้น รัฐต้องใช้อำนาจที่มาจากการพิจารณาอย่างถ้วนถี่ถึงการครอบครอง เช่น อายุ วุฒิภาวะ หน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งนี้ห้ามใช้วาทกรรมอำพรางที่ว่ามีอาวุธปืนครอบครองเพื่อป้องกันตนเองเป็นเด็ดขาด

3.สถาบันครอบครัวล้มเหลว สถาบันการศึกษาอ่อนแอ ภาพฉายของสังคมไทยที่ปรากฏ ออกมาภายใต้สุภาษิตวัวหายล้อมคอกของเหตุการณ์สูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะมีผลมาจากสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาที่การขัดเกลาและอบรมไม่ได้ผลและไม่มีประสิทธิภาพ แต่หากจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนคงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นนิสัยถาวรของผู้ก่อเหตุต่างหาก

4.บริหารงานของประเทศตามการพัฒนาหรือตามยถากรรม บทเรียนของรัฐชาติอีกประการหนึ่งที่สังคมไทยต้องนำมาเพื่อพิจารณาในการถอดบทเรียนคือการบริหารจัดการบ้านเมือง ศาสตร์ทางการบริหารจัดการที่ดีทั้งที่เขียนเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศดูเหมือนจะถูกนำมาวางโชว์ไว้ในห้องทํางานของผู้นำในทุกระดับ แต่ทั้งนี้เนื้อหาของหนังสือเหล่านั้นไม่ถูกนำมาบรรจุไว้ในสมอง หรือแม้แต่การนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด การถอดบทเรียนของการ บริหารแบบนี้จึงดูไร้ความหมายไปโดยปริยาย

ไม่มีวัวไม่มีคอกและการกระทำเชิงสังคม

ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันถือว่าเป็นการกระทำทางสังคมทั้งสิ้น บางเหตุการณ์ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพง บางบทเรียนคือประวัติศาสาตร์ของสังคมโลก ผู้เขียนมีความเชื่อประการหนึ่งว่า สังคมจะมีความเจริญงอกงามได้ขึ้นอยู่กับผู้นำที่ชาญฉลาดและมีผู้ตามที่มีปัญญามีความรู้ สังคมที่จะพัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ หากขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของผู้คนที่อยู่ในประเทศ มีผู้นำที่สามารถเปลี่ยน (Transitional) การกระทําเชิงสังคมไทย ต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น มีการพิจารณาถึงปัจจัยหลักที่มีความสําคัญในการเกิดเหตุการณ์นั้นและมีการถอดบทเรียนเพื่อหาทางแก้ไข สุดท้ายคงจะไม่มีวัวให้เห็นและคงไม่มีคอก ในอนาคตข้างหน้าสังคมไทยคงจะไม่สมยอมให้อยู่ในคอกและสุดท้ายผู้นําคงไม่หาวัวมาให้ล้อมคอกกันวุ่นวายอีกแน่นอน!!!!

..สังคมไทยคือคนป่วย    ต้องรีบช่วยกันรักษา
สังคมจะพัฒนา        สร้างคุณค่าในภาพรวม

..เศรษฐกิจต้องดีขึ้น     คือหวานชื่นเกษตรกรรม
ปลูกข้าวผลิตนำ       เทคโนโลยีล้ำต้องใส่ใจ

..การเมืองอย่าสร้างขั้ว   อย่าหมองมัวกับผู้นำ
การเมืองต้องลึกล้ำ     ทุกด้านนําในการพัฒน์

..วัฒนธรรมต้องดีเลิศ    ต้องประเสริฐกันทั่วหน้า
สร้างรักสร้างศรัทธา     สร้างคุณค่าอัตลักษณ์ไทย

..ภาพรวมนั้นคือชาติ     ป่าวประกาศให้ยิ่งใหญ่
รวมคนคือรวมไทย      ร่วมแก้ไขชาติยั่งยืน

ธงชัย สมบูรณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image