ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : ท่องเที่ยวไทย ขอให้ (ไม่) เหมือนเดิม

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไทยกลับมาเร็วและมามากกว่าที่คิดแล้วค่ะ แถมคนจีนก็จะเริ่มเดินทางมาได้แล้ว ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัวและหวังว่าจะฟันฝ่าโควิด-19 ในระลอกเล็กจนไปถึงฝันได้ หลายคนตั้งความหวังว่าท่องเที่ยวไทยจะกลับมาเหมือนเดิมในเชิงรายได้ เทียบกับปี 2562 เรื่องนี้คงต้องใช้เวลา เพราะการฟื้นตัวต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างทั้งในด้านดีมานด์ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ในด้านสายการบินโรงแรมและสถานบริการต่างๆ ก็ค่อยๆ ทยอยเปิด เพราะต้องกู้เงินมาตกแต่งใหม่และต้องตามบุคลากรกลับมา ทำให้ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากเราเปิดช้ากว่าประเทศอื่นบุคลากรบางส่วน โดยเฉพาะสปาก็ถูกต่างประเทศซื้อตัวไปกว่าจะฟื้นตัวไปใกล้เคียงปี 2562 ก็คงประมาณปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568

แต่เราอยากกลับไปเหมือนเดิมจริงหรือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาถึงกับตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวถึง 80 ล้านคนในปี 2570 เราก็คงอยากมีรายได้มากเช่นนั้นอีก แต่สถานการณ์ด้านการรองรับในช่วงปี 2562 หรือมากกว่านั้นต้องใช้คำว่าตะเข็บปริหรือตะเข็บแตกกันทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่นสนามบินเชียงใหม่ซึ่งมีหลุมจอดอยู่เพียง 8 หลุม แต่จริงๆ แล้วในปี 2562 ต้องการหลุมจอดถึง 26 หลุม การจราจรหนาแน่นคับคั่ง เรือบินจนแทบจะบินทั้งคืน ร้านรวงต่างๆ ก็แย่งกันกินแย่งที่จอดรถ ทรัพยากรธรรมชาติก็ทรุดโทรมลงไปมาก ซึ่งทรัพยากรทางทะเลต่างๆ ที่กลับคืนมาอย่างสวยงามหลังโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าเราได้ทำลายธรรมชาติไปมากแค่ไหน ส่วนขยะที่เราซุกเอาไว้ในที่ต่างๆ ก็ค่อยๆ ทยอยออกมาให้เห็นด้วย

เราทุกคนล้วนอยากให้การท่องเที่ยวของเรากลับไปดีกว่าเดิมไม่ใช่ในแง่รายได้ แต่ในแง่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable tourism) ที่ไม่ใช่การปล้นสะดมสิ่งแวดล้อม ไม่ฉกฉวยเอาทรัพยากรส่วนรวมมาสร้างรายได้ส่วนตัว ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวต้องทำตัวเป็นผู้เข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมอย่างมีความรับผิดชอบ ความแตกต่างระหว่างเป้าหมายท่องเที่ยวที่รับผิดชอบ (Responsible tourism) กับเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable tourism) กล่าวคือเป้าหมายแรกเน้นที่ตัวผู้เล่นหลักทั้งในด้านดีมานด์และซัพพลายให้ประกอบและใช้กิจกรรมท่องเที่ยวอย่างไม่เบียดบังสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนเป้าหมายที่สองนั้นเน้นถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่จะส่งต่อทรัพยากรท่องเที่ยวไปยังรุ่นถัดๆ ไปให้มีความยั่งยืน แต่ทั้งสองเป้าหมายก็คือเรื่องและทิศทางเดียวกัน

อีกหลักการหนึ่งที่เราจะต้องนำมาใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่กลับมาใหม่ก็คือ หลักการมีส่วนร่วมและการกระจายผลประโยชน์ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก การท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องทำตัวเป็นเรือโยงลากจูงให้เรือลำเล็กลำน้อยเคลื่อนที่ตามไปได้ และยังต้องมีการกระจายรายได้แบบน้ำไหลรินแทรกซึมลงไปยังรากหญ้า ก่อให้เกิดอานิสงส์ถ้วนหน้าไม่กระจุกตัวอยู่ในเพียงบางจังหวัดและในบางกลุ่มอุตสาหกรรม

Advertisement

การท่องเที่ยวในหลายจังหวัดอาจจะต้องมีการรีเซต หรือตั้งหลักใหม่ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจังหวัดที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่คือ จังหวัดเชียงใหม่จะต้องมีการทำยุทธศาสตร์ใหม่ให้ไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ลองดูเชียงใหม่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดยอดนิยมด้านการท่องเที่ยวและมีสิ่งดึงดูดใจมากมายที่สามารถรวมกลุ่มเรียกกันเป็น 5 เสาหลักแห่งเชียงใหม่ หรือ Big Five ได้แก่ 1) Folk Art and Crafts and the Walled City ซึ่งเชียงใหม่เคยได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมื่อปี 2560 แล้ว และตั้งเป้าหมายว่าจะรื้อฟื้นกระบวนการที่จะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกภายใน 5 ปีข้างหน้า 2) Festivals and MICE Destination ซึ่ง เชียงใหม่ได้รับรางวัลระดับโลกในฐานะเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านเทศกาลในระดับนานาชาติประจำปี 2565 3) World Food Heritage Hub เชียงใหม่มีความหลากหลายเรื่องอาหารมากเพราะมีชนเผ่ามากกว่า 65 ชนเผ่าจากการวิจัย DNA ซึ่งมีนัยว่า จะต้องมีอาหารถึง 65 สกุลในเชียงใหม่ อาหารพื้นถิ่น เช่น ข้าวซอยก็ดังระดับโลกแล้ว 4) เชียงใหม่ได้รับรางวัลในฐานะซึ่งมีสถานบริการสุขภาพที่ดีที่สุดในโลกและนวดไทยก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว สุดท้ายก็คือเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวธรรมชาติและสันทนาการ (Fun Destination for Friends and Families) เพราะเชียงใหม่มีอุทยานแห่งชาติถึง 13 แห่ง

คำถามที่ตามมาก็คือว่า แม้ว่าเชียงใหม่จะมี 5 เสาหลัก และเชียงใหม่จะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่เป็นยอดนิยมลำดับต้นๆ แต่ทำไมไม่รวยสักที ตำแหน่งของเชียงใหม่ในการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวก็ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ 1 ของประเทศวันนี้ก็ตกลงเป็นลำดับ 5 ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของประเทศ ยืนยันว่าการท่องเที่ยวที่ผ่านมายังไม่ได้สร้างอานิสงส์อย่างถ้วนทั่วและลงลึกถึงฐานราก รายได้จากการท่องเที่ยวเชียงใหม่นั้นคงจะกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งหรือในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกคำตอบก็คือ แม้ว่าเรามีการใช้ทรัพยากรท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ แต่เราไม่ได้ผลตอบแทนขึ้นมาคุ้มค่ากับที่เสียไปหมายความว่าเราอาจจะตั้งราคากิจกรรมท่องเที่ยวของเราต่ำไป (underprice) อีกทั้งยังไม่ได้คิดถึงต้นทุนสังคมและต้นทุนทางธรรมชาติที่นำออกไปใช้พร้อมกับกิจกรรมท่องเที่ยว ดังนั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่จึงจะต้องตั้งหลักใหม่

ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สำหรับเชียงใหม่โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานคนไทย 4.0 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ประชาคมผู้รักเชียงใหม่ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยมีวิสัยทัศน์ในอนาคตว่าจากรากสู่โลก หมายความว่าเราจะยกระดับจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นที่รับรู้ของคนทั้งโลกโดยเชิดชูอัตลักษณ์ของเราและดึงเอาเศรษฐกิจ

Advertisement

ฐานรากให้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปด้วย ซึ่งเราได้เสนอยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ที่จะใช้ ส่งเสริมและกำกับเสาหลักทั้ง 5 อย่างชาญฉลาด โดยในเป้าหมายที่ 1 ซึ่งจะรื้อฟื้นกระบวนการเข้าสู่มรดกโลกของเชียงใหม่ เป้าหมายที่ 2 เราต้องการให้เทศกาลหลักของเชียงใหม่ ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง และไม้ดอกไม้ประดับให้เป็นกิจกรรมที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก หรือเป็น World Events ส่วนเป้าหมายที่ 3 ก็พยายามจะผลักดันให้เชียงใหม่เป็น Gastronomy Hub และผลักดันให้ไส้อั่วและขนมจีนน้ำเงี้ยวดังปังในระดับโลกเดินตามรอยของข้าวซอย ส่วนในเป้าหมายที่ 4 ก็คือเรื่องการรักษาตำแหน่งสถานบริการสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก รักษาและขยายชื่อเสียงด้านมรดกโลกเรื่องนวดไทย เป้าหมายที่ 5 ต้องรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เพื่อให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางด้านสันทนาการทางธรรมชาติที่ปลอดภัยและยั่งยืน

การท่องเที่ยวระดับชาติก็เหมือนกันต้องตั้งหลักใหม่ มีแผนที่รองรับอนาคตให้ดีและยั่งยืนกว่าเดิม!

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image