สะพานแห่งกาลเวลา : ทำความรู้จัก‘แชตจีพีที’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Pixabay)

“แชตจีพีที” (ChatGPT) ใช้เวลาเพียงเดือนเศษๆ ทำให้คนพูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง แล้วก็ทั่วโลก

หลายคนพูดถึงด้วยความทึ่ง แปลกใจ ในศักยภาพของมัน อีกหลายคนพูดถึงมันด้วยความกังวล วิตก ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ “โลกใหม่” ที่มี “เทคโนโลยี” เป็นหัวใจของทุกสิ่งทุกอย่าง

แล้ว “คน” จะไปทำมาหากินอะไรกัน?

จริงๆ แล้ว “แชตจีพีที” คืออะไรกันแน่

Advertisement

“แชตจีพีที” ก็คือ “แชตบอต” ชนิดหนึ่ง แต่เป็นชนิดที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา เพราะตอบสนองคำสั่งของเราด้วยการประมวลผลภาษาแบบก้าวหน้า ซึ่งไม่เพียงแค่ตอบคำถามเท่านั้น ยังเจเนอเรต หรือสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ขึ้นมาได้โดยอาศัย “คีย์เวิร์ด” ที่เราป้อนให้กับมัน

จะว่าไปแล้ว แชตจีพีที ส่วนหนึ่งก็เป็นพัฒนาของแชตบอต ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน

ในปี 1964 ทีมวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังทำงานอยู่กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์โปรแกรมหนึ่ง แล้วพบว่ามันมีความสามารถที่น่าทึ่ง คือแทบเรียกได้ว่าตัวโปรแกรมช่วยให้เครื่องจักรสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ (แม้จะจำกัดอยู่มากก็ตาม)

Advertisement

พอถึงปี 1966 ทีมวิจัยเอ็มไอทีทีมนั้นก็สร้าง “เอลิซา” (ELIZA) แอพพลิเคชั่นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “รากฐาน” ของแชตบอต ทุกชนิดในเวลาต่อมาขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ

“เอลิซา” สร้างความประหลาดใจ ความทึ่ง ขึ้นได้เมื่อสามารถตอบคำถามโดยใช้คำตอบที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดที่ปรากฏอยู่ในคำถามได้ ทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนกำลัง “พูดคุย” อยู่กับใครสักคนที่ “เข้าใจ” (อยู่บ้าง) ในสิ่งที่พวกเขาสื่อสารออกไป

ปี 1995 โปรแกรมประมวลผลภาษา (language processing) เริ่มพัฒนาขึ้น ปรากฏแชตบอตใหม่ๆ ขึ้นมาเรียกว่า A.L.I.C.E (อลิซ) ต่อด้วยสมาร์เตอร์ไชลด์
(SmarterChild) ในปี 2001

แชตบอต เสื่อมความนิยมลง ไม่มีใครตื่นเต้นอีกต่อไป แต่เทคโนโลยียังพัฒนาไม่หยุดยั้ง ทำให้อีก 10 ปีต่อมาก็เกิดแชตบอตรูปแบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดอย่าง “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) อยู่เบื้องหลัง

เอไอ แชตบอต (AI chatbots) เหล่านี้พวกเรารู้จักกันดี อย่างเช่น อเล็กซา ของอเมซอน (Amazon Alexa) กูเกิล นาว (Google Now) หรือสิริ (Siri) ที่อาจบางทีบางคนเพิ่งใช้งานไปเมื่อวานนี้นี่เอง

แล้วก็มาถึงยุคของ “แชตจีพีที” ซึ่งพัฒนาโดย “โอเพ่นเอไอ” (OpenAI) บริษัทวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครซานฟรานซิสโก ก่อตั้งโดย แซม อัลท์แมน ซึ่งทำหน้าที่เป็นซีอีโอของบริษัทอยู่ในเวลานี้

แชตจีพีที เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แค่ 5 วันมีผู้สนใจเข้าไปเปิดบัญชีเพื่อใช้งานแชตจีพีทีมากกว่า 1 ล้านคน

โดยพื้นฐานแล้วเราสามารถพูดได้ว่า แชตจีพีที ก็คือเครื่องมือในการใช้งานเอไออย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ใช้งานสร้าง “ข้อเขียน” ที่เป็นของตัวเองได้

วิธีการก็คือ ป้อนคำถามแล้วก็เป้าหมายในการสร้างสรรค์ของมัน แล้วก็ปล่อยให้แชตจีพีทีทำงานเพื่อสร้างสิ่งที่เราต้องการออกมา ไม่ว่าจะเป็นบทกวี, เพลง, บทความ, หรือเรื่องสั้น

เสน่ห์อย่างหนึ่งของแชตจีพีทีก็คือ เข้าไปใช้งานได้ง่ายมาก แค่กรอกข้อมูล ใส่ที่อยู่ อีเมล์ แล้วก็หมายเลขโทรศัพท์ เท่านั้นก็สามารถเปิดบัญชีผู้ใช้ได้แล้ว รวมไปถึงเครื่องมือเอไออื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งของบริษัท เช่น ดอลล์ อี2 หรือเอไอ อาร์ท ทูล ซึ่งใช้เอไอสร้างสรรค์งานศิลปะ

หลังจากเปิดใช้งานเราสามารถป้อนคำถาม หรือคำสั่ง แล้วก็ปล่อยให้มันทำงานให้เราเท่านั้นเอง

แชตจีพีที มีอัลกอริธึมที่มีศักยภาพสูงอยู่ในตัว เรียกว่า “ลาร์จ แลงเกวจ โมเดล” (large language model) ซึ่งได้รับการป้อนข้อมูลด้านภาษาเข้าไว้ล่วงหน้าเป็นปริมาณมหาศาลมาก เจ้าเอไออาศัยฐานข้อมูลภาษาเหล่านี้นี่เองสำหรับนำมาประมวลแล้วกลายเป็น “คำตอบ” ตามคำสั่ง หรือคำถามที่เราพิมพ์ป้อนให้มันไป

ที่แตกต่างไปจากแชตบอตก่อนหน้านี้ก็คือ แชตจีพีที ตอบสนองคำถาม หรือคำสั่งของเราด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่รู้จักกันในชื่อ “ระบบประมวลผลภาษาแบบธรรมชาติ” (natural language processing) ซึ่งทำหน้าที่ทำให้คำตอบที่เราได้ “เป็นภาษามนุษย์” และ “มีเหตุมีผลสอดคล้องกับความเป็นจริง” อยู่มากกว่าคำตอบที่เราเคยได้จากแชตบอตอื่นๆ ที่ผ่านมา

แต่ “ภาษามนุษย์” กับ “ความเป็นเหตุเป็นผล” (ในบริบทที่เอไอเขียน) ไม่จำเป็นต้องถูกต้อง หรือตรงกับความเป็นจริงเสมอไป

ใครที่ต้องการนำมันมาใช้สร้างสรรค์งานอย่างจริงจัง คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการเรียนรู้วิธีการป้อนคำถาม หรือคำสั่ง เพื่อให้ได้คำตอบ

เราเรียนรู้มัน แชตจีพีทีก็เรียนรู้เราไปพร้อมกันครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image