บทนำ : การแบ่งเขต

บทนำ : การแบ่งเขต

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ว่าด้วยการ เลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมือง บังคับใช้ 29 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ กกต.สามารถนับหนึ่ง แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ 400 เขตได้ รองรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ สำนักงาน กกต.เสนอให้คณะกรรมการ กกต.พิจารณากำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตที่แต่ละจังหวัดพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัด โดยพิจารณาจากจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวน 66,090,475 คน เฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อ ส.ส. 1 คน และเสนอร่างประกาศการเลือกตั้งว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … และแนวทางการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการ กกต.พิจารณา และได้รับความเห็นชอบทั้ง 2 เรื่อง ครม.ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบเรื่องดังกล่าวตามที่ กกต.เสนอแล้ว และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พร้อมกับ เป็นประกาศ กกต.เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต และเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 แก้ไขจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต จาก 350 คนเป็น 400 คน การแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น ทำให้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต และเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัดที่ กกต.ได้ประกาศกำหนดไว้แต่เดิม เปลี่ยนแปลงไปต้องแบ่งเขตใหม่การแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นอีกขั้นตอนสำคัญ สำหรับการเลือกตั้งทันทีที่ ร่างระเบียบว่าด้วยการแบ่งเขตบังคับใช้ กกต.จังหวัดทุกจังหวัด ต้องนำรูปแบบแบ่งเขตที่เตรียมไว้อย่างน้อย 3 รูปแบบ ไปปิดประกาศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจาก พรรคการเมือง ประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว นำความคิดเห็นนั้นมาประมวล และส่งให้ กกต.พิจารณาตัดสินใจ เลือกรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป

การแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้มีหลักเกณฑ์ชัดเจน แต่การขีดเส้นแบ่งของ กกต.มักตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ซึ่งมีผลต่อการแพ้หรือชนะเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งของ จ.สุโขทัย ปี 2562 เขตที่ 2 มีการรวม อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.บ้านด่านลานหอย มาเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน ทั้งที่ไม่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อถึงกัน ส่วนที่พอติดกัน ที่มีอยู่บ้างนั้น เป็นพื้นที่บนเขาแคบๆ เพียงไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้น

Advertisement

ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ส.ส.และพรรคการเมือง ผู้มีส่วนได้เสีย ได้เรียกร้องให้ กกต.ที่กำลังดำเนินการ ได้แบ่งเขตอย่างเป็นธรรม ยึดหลักเกณฑ์ และความสมเหตุสมผลโดยเคร่งครัด เนื่องจากหวั่นเกรงว่าซ้ำรอยปี 2562 ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแบ่งเขตแบบพิสดาร และข้อครหา เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้ กกต.มีกระบวนการขั้นตอน ในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ แต่อำนาจตัดสินใจขั้นตอนสุดท้าย ยังเป็นของ กกต.ทำให้บางพื้นที่ดังที่ยกตัวอย่างมา การรับฟังความคิดเห็นเป็นเสมอเพียงพิธีกรรม สร้างความชอบธรรมการแบ่งเขตเท่านั้น ฉะนั้น กกต.จึงควรที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา การแบ่งเขตอย่างเป็นธรรมนั้น จะยังประโยชน์ต่อประชาชนและการทำหน้าที่ ส.ส.และทำให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image