ที่เห็นและเป็นไป : ต่างคิดแค่ ‘เอาตัวรอด’

ที่เห็นและเป็นไป : ต่างคิดแค่ ‘เอาตัวรอด’

นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวบนบัลลังก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีประกาศ “ยุบสภา” ให้รู้แล้วรู้รอดเสียที ด้วยเหตุผลที่ว่าทุกวันนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเบื่อหน่าย เนื่องจาก ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่มาประชุมกันแล้ว รัฐมนตรีไม่สนใจตอบกระทู้ นับองค์ประชุมเมื่อไรก็ล่มเมื่อนั้น

เมื่อไม่ทำงานกันแล้วจะยังมีสภาอยู่ทำไม หรืออะไรทำนองนั้น

ทั้งที่เป็นเหตุเป็นผลสมควรจัดการให้เป็นไปตามร้องขออย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่มีสภาต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรเท่านั้น แต่การทำหน้าที่กันแบบนี้ยังก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่เสียหายต่อศรัทธาในประชาธิปไตย ที่เอื้อที่จะทำให้เกิดความคิดว่าเป็นระบบที่เอื้อต่อการไร้สำนึกในการทำหน้าที่ของผู้แทนประชาชน เป็นระบบที่รองรับกลุ่มคนที่ขาดความรับผิดชอบโดยไม่ต้องรู้สึกละอาย

Advertisement

แต่การจัดการตามสมควรจะเป็นกลับไม่เกิดขึ้น

ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” เหมือนจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาพลักษณ์นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยที่กำหนดหมายที่จะ “ยุบสภา” นั้นเหตผลกลับอยู่ที่ความพร้อมที่จะย้ายพรรคของนักการเมืองที่ขาดสำนึก และความพร้อมของพรรคบางพรรคที่จะดำเนินกิจกรรมการเมืองได้มากกว่า

ต่างจัดการไปตามความอยู่รอดของตัวเองโดยไม่มีใครนึกถึงความอยู่รอดของระบบการปกครองประเทศ

Advertisement

แต่ว่าไป การไม่ให้ราคากับสถาบันผู้แทนประชาชนนั้น ไม่ใช่แค่เมินเฉยต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ทำงานไม่ได้เท่านั้น เพราะหากมองย้อนไปที่ความเป็นมาเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด จะพบว่าชะตากรรมของอำนาจประชาชนถูกกระทำให้น่าเวทนาอย่างยิ่งอยู่แล้วในยุคสมัยเช่นนี้

“ประชาธิปไตย” เป็นแค่ความจำเป็นที่จะต้องสร้างภาพให้เกิดขึ้นว่าเป็นการปกครองของประเทศไทย

แต่สาระที่ดูเหมือนจะไม่ปิดบังซ่อนเร้นเสียด้วยซ้ำ คือกลุ่มผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดโครงสร้างการควบคุมประเทศได้ออกแบบให้มี “ระบบอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจประชาชน” อยู่แล้ว

เรามีรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่ให้อำนาจคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยึดโยงประชาชนมีบทบาทในการกำหนดความเป็นไปทางการเมืองของประเทศเหนือกว่า “ผู้ที่มาจากอำนาจประชาชน”

องค์กร หรือสถาบันที่มาจากการสถาปนาของอำนาจเหนือประชาชน กำหนดความเป็นความตายของผู้ที่มาจากประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หากใช้ความพยายามที่จะมองให้เห็นสักหน่อย จะพบว่า “ความเชื่อมั่นในอำนาจเหนือประชาชน” นี้ สะท้อนมาในการหาวางแผนจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นชัดเจน

ผู้นำพรรคการเมืองที่เชื่อมั่นใน “อำนาจเหนือ” วางแผนให้พรรคได้ ส.ส.แค่พอที่จะเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยไม่สนใจว่าจะสร้างความนิยมจนได้รับฉันทานุมัติในอำนาจจากประชาชนส่วนใหญ่

พวกเขาเชื่อมั่นกลไกที่จัดสร้างไว้จัดการให้พรรคเล็กพรรคน้อยที่แพ้การเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยจัดการให้พรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามาไม่มีโอกาสที่จะได้บริหารประเทศ

อาศัยการแบ่งสรรผลประโยชน์ให้กับพรรคเล็กพรรคน้อยที่หิวกระหาย เป็นเครื่องมือ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไป โดยไม่สนใจที่จะให้ราคากับการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่

ว่าไปเป็นเรื่องน่าเศร้าและชวนละอายยิ่ง ต่อความหน้าไหว้หลังหลอกกับประชาธิปไตยที่ใช้เป็นระบบปกครองประเทศ

แต่ที่น่าเศร้ามากกว่าคือนักการเมืองส่วนใหญ่ยอมรับชะตากรรมนั้น โดยไร้สำนึกว่าจะสร้างความเสียหายอะไรให้กับประเทศชาติ

และส่งผลเป็นความเดือดร้อนต่อชีวิตประชาชนแค่ไหน

เหมือนกับจะคิดว่าไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตยที่ชวนสังเวช” แค่ไหน

ก็ยังดีกว่า “ไม่มีโอกาสมีตัวมีตนในศูนย์กลางอำนาจ”

แม้จะเป็น “อำนาจในศูนย์กลางที่ไม่ให้ราคาประชาชน” ก็ตาม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image