สถานีคิดเลขที่ 12 : กาบัตรอย่าสะดุด

สถานีคิดเลขที่ 12 : กาบัตรอย่าสะดุด การเตรียมการจัดการเลือกตั้งเป็นไปตามไทม์ไลน์

สถานีคิดเลขที่ 12 : กาบัตรอย่าสะดุด

การเตรียมการจัดการเลือกตั้งเป็นไปตามไทม์ไลน์ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้วางปฏิทินการทำงานไว้

ภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ ในห้วงนี้เป็นกระบวนการที่สำนักงาน กกต.แต่ละจังหวัด ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้ง 400 เขต ใน 77 จังหวัด โดยเริ่มประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ

เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด เป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-13 กุมภาพันธ์ ซึ่งสัดส่วนของ ส.ส. 1 คนต่อจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัด กกต.พิจารณาจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวน 66,090,475 คน ทำให้จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน โดยในห้วงของการเปิดรับฟังรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบของ กกต.

Advertisement

แน่นอนในทางปฏิบัติไม่ว่า กกต.จะเลือกรูปแบบไหนย่อมจะไม่ถูกใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่า กกต.จะยึด ฟรีแอนด์แฟร์ คือ โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้เพียงใด

ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องการคิดสัดส่วน ส.ส.ต่อจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดอาจจะเป็นประเด็นร้อนจนส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

ตามข้อทักท้วงของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย (สร.) และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เรียกร้องให้ กกต.เคลียร์ความชัดเจน

Advertisement

เรื่องการนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมในการแบ่งเขต ส.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.เชียงใหม่ 161,567 คน จ.ตาก 137,410 คน และ จ.เชียงราย 132,515 คน

และหากคำนวณใหม่โดยตัดคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยออก 3 จังหวัดนี้ควรได้ ส.ส.น้อยลงจังหวัดละ 1 คน ขณะที่ จ.อุดรธานี จ.ลพบุรี และ จ.ปัตตานี ควรได้ ส.ส.เพิ่มอีกจังหวัดละ 1 คน

ประเด็นดังกล่าวอาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งมีปัญหาได้หรือไม่ หากมีผู้ไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ซึ่งจำนวน ส.ส.ทั้ง 6 จังหวัดข้างต้น มีจำนวนรวมกัน 40 ที่นั่ง

คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด หากมีปัญหาขึ้นจะไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาได้ เพราะมีไม่ถึงร้อยละ 95 ที่มาตรา 84 รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้

สอดคล้องกับข้อห่วงใยของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ออกมาแนะนำในประเด็นดังกล่าวต่อ กกต.ว่า ความจริงแยกได้ว่าเป็นคนไทยล้วน กับคนต่างด้าว

ขอให้ กกต.ขอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญเอาเองว่าจะต้องรวมหรือไม่รวมจำนวนของคนต่างด้าว

ขณะที่ กกต.ยืนยันว่า ต้องใช้จำนวนราษฎรตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่รวมต่างด้าวไว้ด้วยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งมีแนวปฏิบัติการจัดการเลือกตั้งในวิธีการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2557 และปี 2562 มาแล้ว

ประเด็นเรื่องนำจำนวนคนต่างด้าวมาคิดเป็นสัดส่วนจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัด ถ้าจะไม่ให้บานปลายจนทำให้การเลือกตั้งมีปัญหาภายหลัง

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหาทางออกให้ “เคลียร์” ก่อนที่จะมีการกาบัตร

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image