วิธีแก้ปัญหากรณีไม่ได้รับการประกันตัว ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในขณะนี้ คือแก้กฎหมาย (ป.วิอาญา)

วิธีแก้ปัญหากรณีไม่ได้รับการประกันตัว ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในขณะนี้ คือแก้กฎหมาย (ป.วิอาญา)

วิธีแก้ปัญหากรณีไม่ได้รับการประกันตัว
ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในขณะนี้
คือแก้กฎหมาย (ป.วิอาญา)

ปัญหานี้เกิดขึ้นและสืบเนื่องติดต่อกันมานานแล้วในอดีตจนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางเป็นรอยด่างในกระบวนการยุติธรรมของไทยเราเสมอมา ตัวอย่างเช่นคดี “การจับแพะในคดีฆาตกรรม เชอรี่แอน ดันแคน” เด็กสาวลูกครึ่งไทย-อเมริกัน เป็นนางแบบหน้าตาดี เหตุเกิดเมื่อ 22 กรกฎาคม 2529 คดีนี้ช่วงนั้นครึกโครมมาก จำเลยหรือแพะทั้งสี่ที่ถูกจับให้การปฏิเสธ และที่สำคัญคือทุกคนมิได้ประกันตัว เพราะข้อหาหนัก (ป.อ.มาตรา 289) ศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดจริง พิพากษาประหารชีวิต จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 เสียชีวิตขณะถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวาง หลังจากนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้คุมขังจำเลยทั้งสามระหว่างฎีกา (ฝ่ายโจทก์ฎีกา) ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2536 ศาลฎีกาพิพากษายืนปล่อยตัวจำเลย ที่ 2,3,4 หลังจากถูกควบคุมหรือขังคุกมานาน 6 ปี 7 เดือนเศษ และจำเลยที่ 2,4 มาเสียชีวิตหลังจากถูกปล่อยตัวได้ไม่นานเพราะติดโรคร้ายจากเรือนจำ ส่วนจำเลยที่ 3 ใช้ชีวิตลำบากเหมือนคนพิการเนื่องจากถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2536)

ปัญหาไม่ได้รับการประกันตัวนี้เกิดมาแต่อดีตจนปัจจุบันตามที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันทั่วไป การถูกคุมขังระหว่างพิจารณานานๆ เป็นเดือนเป็นปีหรือ 6 ปีเศษ เช่น จำเลยในคดีเชอรี่แอน ดันแคน ต้องรับเคราะห์กรรมในคุกไม่ต่างไปจากนักโทษเด็ดขาดทั่วไป การไม่ได้ประกันตัวเหมือนถูกจำคุกในคดีนั้นไปแล้วครึ่งตัวค่อนตัว บางคดีมีการวิ่งเต้นมีนอกมีในด้วยเงินทองจำนวนมาก กับผู้ที่เป็นญาติของผู้ต้องหาหรือจำเลยเชื่อหรือหลงเชื่อว่า จะช่วยให้เขาได้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เรื่องประกันตัวจึงเป็นเรื่องใหญ่มากและสร้างปัญหาเสมอมา การไม่ได้ประกันตัวโดยชอบนี้ผู้เขียนไม่อยากโทษใครหรือโยนความผิดให้หน่วยงานใด แต่เห็นว่าเราต้องมาร่วมกันพิจารณาปัญหานี้อย่างถ่องแท้และเป็นธรรมต่อสังคม อีกทั้งเราต้องยอมรับว่าตัวบทกฎหมายบางเรื่องบางบทบางมาตราต้องปรับปรุงแก้ไขให้ทันความเจริญก้าวหน้าในโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน ท่านจะเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่โปรดติดตาม

ขอกราบเรียนว่า “กฎหมาย” มนุษย์สร้างขึ้นได้ มนุษย์ก็ต้องยกเลิกเพิกถอนหรือแก้ไขได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) หมวดเจ้าปัญหาคือ หมวด 3 “ปล่อยชั่วคราว” หรือ “การประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย” (มาตรา 106-119) ที่ใช้บังคับอยู่ขณะนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์หรือเหมาะสมในมุมมองของบุคคลบางกลุ่มบางคณะที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้เขียนด้วย คำว่า “ปล่อยคนผิด 10 คน ยังดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์ 1 คน” ฉันใดก็ฉันนั้นเมื่อเทียบกับ “ปล่อยคนหนีประกันไป 10 คน ยังดีกว่าขังคนบริสุทธิ์ 1 คน โดยไม่ให้เขาประกันตัว” หลักกฎหมายหลักเปรียบเทียบนี้เป็นสากล ซึ่งผู้เขียนเองสมัยก่อนที่จะมาเป็นผู้พิพากษา (อดีตผู้พิพากษาอาวุโส) ก็ได้ยินได้ฟังมาจากท่านขุนศาลตุลาการมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้ว

Advertisement

เมื่อมาเป็นผู้พิพากษาก็ยึดถือและปฏิบัติไปตามนั้น แต่ก็พอจะมองข้อกฎหมายออกว่า กฎหมายให้อำนาจผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจในการสั่งประกันหรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยมากเกินไป โดยเฉพาะกรณีที่ท่านจะสั่งยกคำร้องหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ในทางปฏิบัติในศาลชั้นต้นที่ปฏิบัติอยู่ขณะนี้ ผู้พิพากษานายเดียวหรือผู้พิพากษาคนเดียว (อาจจะเป็นรองอธิบดีที่อธิบดีมอบหมาย ศาลต่างจังหวัดอาจจะเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้ที่ท่านหัวหน้าศาลมอบหมาย) แต่ก็ยังเป็นผู้พิพากษานายเดียวหรือคนเดียวอยู่ดี ทั้งนี้ ตาม “พระธรรมนูญศาลยุติธรรม” มาตรา 24,25 บัญญัติถึงผู้พิพากษานายเดียวหรือคนเดียวที่กฎหมายให้อำนาจเช่นนั้น เราน่าจะนำมาพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ท่านนายเดียวหรือคนเดียวจะมีอำนาจเต็มที่ที่จะสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าวมา ประโยชน์ขององค์คณะผู้พิพากษาหลายคน ในชั้นพิจารณาพิพากษา ป.วิอาญา มาตรา 184 วางหลักไว้ว่า ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษา หรือคำสั่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในศาลนั้นหรือเจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาที่ละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า

เราจะปรับแก้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24,25 และนำ ป.วิอาญา ลักษณะ 2 ว่าด้วยการพิจารณา และลักษณะ 3 ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง โดยเฉพาะมาตรา 184 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ได้หรือไม่หรือควรหรือไม่ และหรือจะปรับแก้อย่างไร

Advertisement

สำหรับผู้มีอำนาจพิจารณาควบคุมตัวหรือให้ประกันตัว “ผู้ถูกจับ” หรือ “จำเลย” ของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ก็ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับศาล ตาม ป.วิอาญา หมวด 3 “ปล่อยชั่วคราว” และก็ยังมี มาตรา 87 มาตีกรอบให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องนำตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาส่งศาลเพื่อขอหมายขังครั้งแรกในระยะสั้นที่นิยมเรียกกันว่า “ฝากขัง” ปัญหานี้ก็มีอยู่เหมือนกันแต่ไม่มาก

ข้อเสนอลำดับต่อไป คือ กรณีเช่นการพิจารณาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันโดยให้เหตุผลเพราะ “มีเหตุอันควรเชื่อว่า” ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีก็ดี กรณีเช่นการพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดจริงและลงโทษประหารชีวิตก็ดี ผู้พิพากษาผู้พิจารณาท่านมิใช่เทพที่มีตาทิพย์หูทิพย์ที่จะรู้เห็นเหตุการณ์ไปทั้งหมด ดังในเทพนิยายแล้วมีคำวินิจฉัยพิพากษาคดีไปตามนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง (ชั้นพิจารณาพิพากษา) เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย เป็นต้น (ป.วิอาญา มาตรา 227 วรรคสอง)

ตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

“เหตุอันควรเชื่อ” ว่าตาม (1)(2)(3) ก็บัญญัติขึ้นมาลอยๆ การใช้ดุลพินิจว่ามีเหตุอันควรเชื่อไม่มีกรอบหรือหลักเกณฑ์อะไรเลย
มาตรา 108/1 เพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 แต่ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 29 วรรคสองบัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคท้าย “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ” ผู้เขียนเห็นว่า มาตรา 108/1 (ตามที่กฎหมายบัญญัติ) ประกาศใช้เมื่อปี 2547 กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยว่าด้วยคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา กฎหมายมาตรานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้ ปี พ.ศ.2560 จึงใช้บังคับมิได้

ดังนั้น เรามาช่วยกันหาหลักการและเหตุผลเพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหมวด 3 ว่าด้วยปล่อยชั่วคราว (บางมาตรา) ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ให้สอดรับกับความต้องการของบุคคลทุกคนทุกฝ่ายเท่าที่จะทำได้ต่อไป

ผู้เขียนขออนุญาตปรารภส่งท้ายว่า ข้อผิดพลาดหรือเข้าใจผิดในการนำเสนอคงจะมีไม่มากก็น้อย ต้องขออภัยท่านไว้ด้วย และเมื่อท่านพิจารณาแล้วเห็นว่าบทความนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคม ต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยบ้าง ก็ขอให้ท่านเสนอแนะหรือดำเนินการสานต่อได้ตามอัธยาศัยครับ

นคร พจนวรพงษ์
อดีตกรรมการเนติบัณฑิตยสถา (2559-2563)
หัวหน้าสำนักกฎหมายตราสามดวง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image