ที่เห็นและเป็นไป : เครื่องมือของ ‘ชัยชนะ’

ที่เห็นและเป็นไป : เครื่องมือของ ‘ชัยชนะ’

ชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม อีก 3 เดือนข้างหน้าจะรู้ว่า “พรรคไหนชนะการเลือกตั้ง”

มีผู้สรุปว่า “พรรคไหนจะได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด” นั้น คาดการณ์ได้ไม่ยาก แต่ที่ยากคือ “การจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนั้น”

ที่ประเมินกันเช่นนี้เพราะประเพณีการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งถูกทำให้เปลี่ยนไป

Advertisement

ก่อนหน้านั้น “พรรคที่ได้รับสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” คือ “พรรคที่ชนะเลือกตั้ง” ในนิยามว่าคือ “พรรคที่ได้ ส.ส.เข้ามามากที่สุด”

ประเพณีที่ว่า “พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.น้อยกว่า แม้แต่เก้าอี้เดียว” จะไม่ไปแสดงเจตนาจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคที่ได้รับชัยชนะที่ยืดถือกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยนั้น ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่มีความซับซ้อน หลังรู้ผลเลือกตั้งไม่กี่วันก็ฟอร์มรัฐบาลกันได้แล้ว

แต่ถึงวันนี้ประเพณีที่ตรงไปตรงมาในการเคารพการตัดสินใจของประชาชน ให้เครดิตกับเสียงส่วนใหญ่นั้นเปลี่ยนไปแล้ว

Advertisement

มีการกำหนดให้ “ชัยชนะที่แท้จริง” คือ “การได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ” โดยไม่ขึ้นกับชัยชนะในการเลือกตั้ง

ทำให้การไม่เคารพในเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนกลายเป็นความปกติ ด้วยการสร้างมาตรฐานใหม่ว่า “คนชนะคือผู้รวบรวมเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่ให้มาสนับสนุนได้สำเร็จ” ไม่ว่าวิธีการรวบรวมนั้นจะชวนให้สะอิดสะเอียนในความรู้สึกว่าไม่ชอบธรรมสักเพียงใด

พฤติกรรมการฟอร์มรัฐบาลที่ไม่สนใจเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ แต่ใช้ทุกอย่างมาเป็น “เครื่องมือเพื่อชัยชนะ” ใช้กลไกที่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง กำหนดผลในทางที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัว ทำลายฝ่ายตรงกันข้ามทุกวิถีทาง หากยังไม่สำเร็จใช้อำนาจเข้าข่มขู่ให้ย้ายข้าง ใช้เงินซื้อให้มาสนับสนุน

ที่หนักที่สุดคือ ใช้กติกาและกลไกที่ออกแบบให้รับใช้กลุ่มตัวเองมากดดันและเปลี่ยนแปลงไม่ให้ผลการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่

การจัดตั้งรัฐบาลด้วยอิทธิพลของกลไกที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน อย่างการใช้ “วุฒิสภา” ที่พร้อมลงมติแบบ “ฝักถั่ว” รับใช้อำนาจ กลายเป็นประเพณีใหม่ที่ครอบงำความคิดทางการเมืองให้ต้องยอมรับ

เครื่องมือที่ทำลายหลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ ถูกทำให้เป็นสิ่งปกติที่จะใช้กับการกำหนดอำนาจการเมืองของประเทศ

ด้วยเหตุนี้เองที่เชื่อกันว่า “พรรคไหนจะชนะการเลือกตั้งนั้นคาดการณ์ได้ไม่ยาก แต่ที่ยากคือการจัดตั้งรัฐบาล”

ความยากคือไม่ยึดถือประเพณีของระบอบรัฐสภาที่เคยยึดถือ ความรู้แพ้รู้ชนะในสำนึกนักการเมืองหายไป

ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการตัดสินของประชาชนถูกทำลาย ด้วยเครื่องมืออำนาจที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้

เครื่องมือที่สร้างความได้เปรียบให้ฝ่ายหนึ่ง และพร้อมทำลายฝ่ายตรงกันข้ามนี้ สร้างความไม่โปร่งใส และเป็นธรรมให้กับประชาธิปไตยตั้งแต่เริ่มต้น

สาเหตุที่ทำให้การฟอร์มรัฐบาลเป็นเรื่องยากนั้น เพราะถึงที่สุดแล้ว “อำนาจที่ไม่ชอบธรรม” ที่นำมาใช้จัดตั้งรัฐบาล ย่อมไม่ได้รับการยอมรับตั้งแต่เริ่ม

รัฐบาลที่สถาปนาขึ้นมาด้วยเครื่องมือที่ก่อความไม่ชอบธรรม ต้องถูกต่อต้าน และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ได้ด้วยศรัทธาประชาชน

รัฐบาลเช่นนี้ แม้จัดตั้งขึ้นมาได้แต่การดำรงอยู่ย่อมทุลักทุเลเพราะการไม่ยอมรับ และที่สุดแล้วไม่เกิดผลดีอะไรกับประเทศชาติโดยรวม รวมถึงอาจจะส่งผลเลวร้ายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะเป็นอำนาจที่ไม่ได้ให้ราคากับประชาชน แต่รับรู้ในสำนึกว่าเป็นบุญคุณของกลไกที่เป็นเครื่องมืออำนวยชัยชนะให้มากกว่า

หนทางที่จะหลีกสภาพเช่นนี้ นำการเมืองกลับมาเป็นปกติ คือต้องหยุดใช้ “เครื่องมือที่ทำให้เกิดการโกงเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่”

ต้องเริ่มต้นด้วยการสถาปนารัฐบาลที่ “ไม่โกงอำนาจประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image