สถานีคิดเลขที่ 12 : สภาสูง-สภาเตี้ย

สถานีคิดเลขที่ 12 : สภาสูง-สภาเตี้ย การซักฟอกโดยไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์

สถานีคิดเลขที่ 12 : สภาสูง-สภาเตี้ย

การซักฟอกโดยไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แม้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร

แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วุฒิสภาถูกดึงเข้ามาเกี่ยวพันเป็น “ตัวเอก” ในการซักฟอกอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ทั้งในแง่บุคคล

Advertisement

และในแง่วุฒิสมาชิกโดยตำแหน่ง อันประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

โดยในส่วนบุคคล มีบุคคลอย่างน้อย 2 คน คือ ส.ว.ทรงเอ และ ส.ว.น้องชายของคนใหญ่โตในบ้านเมือง ที่ถูกสปอตไลต์ฉายส่อง

คนแรกเกี่ยวพันกับ “ทุนสีเทา” ที่โยงใยทั้งเรื่องระหว่างประเทศ เรื่องอาชญากรรม ยาเสพติด

Advertisement

และเชื่อมโยงไปถึงคอนเน็กชั่นกับพรรคการเมือง ที่ควร “ต้องพิสูจน์” อย่างยิ่ง

ส่วนคนที่สอง เป็นเรื่องของ “ทายาท” ที่ถูกตั้งข้อสงสัย ว่าใช้ “นามสกุล” ของผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านเมืองไปหาประโยชน์จากการประมูลโครงการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ

ยิ่งกว่านั้นยังถูกจับโยงไปถึงทุนจีนสีเทา ว่าร่วมกันแสวงหาประโยชน์และร่วมสร้างอิทธิพลเป็นเกราะคุ้มกันการทำมาหากิน

ส่วนวุฒิสมาชิกโดยตำแหน่งอันประกอบ ด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น แม้ในแง่ส่วนบุคคลอาจไม่ได้เป็นปัญหา หรือถูกตั้งข้อสงสัยนัก

แต่กระนั้น “หมวกหลัก” ที่ ส.ว.เหล่านั้นสวมอยู่ คือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกฝ่ายค้านในสภาซักฟอกอย่างหนัก

เพราะทั้งกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก กองทัพเรือ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกมองว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงกับการ “ปฏิรูปองค์กร”

ทำให้เกิดปัญหากำลังพล การบริหารงาน การคอร์รัปชั่น ที่เชื่อมโยงไปถึงธุรกิจสีเทา อย่างน่าตื่นตะลึง

ซึ่งปัญหาทั้งในแง่บุคคล และทั้งโครงสร้างดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามต่อ “สภาสูง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามว่า สภาสูงอันเป็นผลผลิต และผลสืบเนื่องจากการรัฐประหาร ที่ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและอนุมัติบุคคลในแวดวงเข้ามาดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ (บางคน) ได้ทำให้สภานี้สูงตามการเรียกขานหรือไม่

หรือยิ่งอยู่ ยิ่งทำให้ต่ำลง

นอกจากนี้ สภาสูงซึ่งมีส่วนในการผ่านและปกป้องรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เฉกเช่นไข่ในหิน ด้วยการอวดอ้างว่านี่คือรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปองค์กรต่างๆ ของชาติ และเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง

เอาจริงๆ แล้ว ทำได้หรือไม่

หรือตรงกันข้าม คนในสภาสูงกลับเป็นปัญหาและละเมิดสิ่งที่อวดอ้างเสียเอง

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีการเรียกร้องจากหลายภาคส่วนให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงส่วนที่เป็นปัญหา เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กลับปรากฏว่า วุฒิสภากลายเป็นตัวขัดขวางมิให้มีการแก้ไขนั้นเสียเอง

และหนึ่งในสิ่งที่ปกป้องเอาไว้อย่างเหนียวแน่น และไม่ยอมให้หลุดลอยจากมืออย่างเด็ดขาด

นั่นก็คือ สิทธิที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

เมื่อไม่ยอมให้แก้ไข ก็ได้มีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ ว่า ส.ว.ก็ควรโหวตเลือกนายกฯ โดยเคารพเสียงประชาชน

เมื่อประชาชนเสียงส่วนใหญ่มีฉันทามติเลือกพรรคการเมืองใดแล้ว ส.ว.ก็ควรให้ความเคารพกับประชามตินั้น

ไม่ใช่ ใช้ 250 เสียง (ที่มาจากการลากตั้ง) ไปเป็นฐานเสียงให้ใคร หรือพรรคการเมืองใด

แต่ดูเหมือนว่าเสียงเรียกร้องเหล่านี้ จะไม่ได้รับการใส่ใจ

ตรงกันข้าม กลับยิ่งมีการท้าทาย

เมื่อมี ส.ว.บางคนออกมาชี้นำว่า จะไม่เลือกใคร แถมจะล็อกเสียงสนับสนุนเอาไว้เฉพาะ 2 คนเท่านั้น

ทำให้ ส.ว.ถูกมองว่า ไม่ใช่สภาสูง

เป็นเพียงสภาเตี้ย หรือก๊วนคะแนนเสียง อันมากด้วยความอื้อฉาว เท่านั้น

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image