เดินหน้าชน : ‘LOLE’ดัชนีไฟดับ

เดินหน้าชน : ‘LOLE’ดัชนีไฟดับ ขณะที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรง

ขณะที่สถานการณ์การเมืองร้อนแรง เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว แต่เรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะค่าไฟก็ยังระอุ และเป็นอีกประเด็นร้อนให้ติดตามกันต่อเนื่อง

โดยเฉพาะเรื่องการใช้เกณฑ์ “กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง” หรือ Reserve Margin เป็นตัวชี้วัดความมั่นคงระบบไฟฟ้านั้น

สะท้อนความเป็นจริงแค่ไหนกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และสอดคล้องกับแผนที่เตรียมรองรับในอนาคตหรือไม่

ในช่วงโควิด-19 ระบาด ที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงมาก ทำให้ระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงขึ้น จึงมีผลต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน รวมทั้งแผนลงทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศในอนาคต

Advertisement

จึงมีคำถามว่า เกณฑ์ Reserve Margin ที่ใช้มานานกว่า 20 ปี ยังเหมาะสมกับปัจจุบันและอนาคตหรือไม่ เนื่องจากเริ่มมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทว่า ข้อเสียของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คือความไม่เสถียรของไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ก็จะผลิตได้เฉพาะแค่ตอนกลางวัน หรือพลังงานลม ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะไม่มีสวิตช์ควบคุมปริมาณและพลังลมได้

ดังนั้นต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก อย่างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ ที่กดปุ่มเดินเครื่อง หรือหยุดได้อย่างรวดเร็ว หรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มาช่วยเสริมความมั่นคงของระบบ ซึ่งจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

Advertisement

นอกจากนี้ Reserve Margin เป็นการนำปริมาณที่ใช้ไฟสูงสุด (พีค) ณ ช่วงเวลาหนึ่ง มาคำนวณการใช้ไฟของทั้งปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแต่ละช่วงเวลา จะมี Reserve Margin ต่างกัน ระหว่างช่วงเช้ากับค่ำ หรือช่วงหน้าฝนกับฤดูแล้ง ดังนั้นไม่อาจนำ Reserve Margin ณ เวลาใดเวลาหนึ่งมาใช้เป็น Reserve Margin ของทั้งประเทศได้อีกแล้ว

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติตั้งแต่ 4 สิงหาคม 2564 เห็นชอบให้ใช้ “ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ” หรือ Loss of Load Expectation หรือ “LOLE” มาใช้แทน Reserve Margin เป็นเกณฑ์วัดระดับความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีมากขึ้น อีกทั้งเพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศแม่นยำขึ้น

ค่า LOLE คือ ดัชนีที่แสดงถึงจำนวนวันที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าในรอบ 1 ปี โดยคำนวณจากผลรวมของค่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละชั่วโมงตลอด 1 ปี

ข้อดี LOLE คือ มีการพิจารณาความมั่นคงของระบบที่ครอบคลุมตลอดทุกช่วงเวลา คำนึงถึงสมรรถนะการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะสะท้อนคุณลักษณะของระบบตลอดทุกช่วงเวลา ทั้งในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่จะมีระดับความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกัน

ในหลายประเทศใช้เกณฑ์ LOLE มาตั้งแต่ปี 2523 เช่น “สหรัฐ” ไม่เกิน 0.1 วันต่อปี “เกาหลีใต้” ไม่เกิน 0.3 วันต่อปี “มาเลเซีย” ไม่เกิน 1 วันต่อปี “สิงคโปร์” ไม่เกิน 3 วันต่อปี

สำหรับไทยในอดีตก็เคยใช้เกณฑ์ LOLE ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 3 ฉบับ ได้แก่ PDP2001, PDP2004 และ PDP2007 โดยกำหนดไว้ไม่เกิน 1 วันต่อปี และใช้ร่วมกับเกณฑ์ Reserve Margin ไม่ต่ำกว่า 15%

แต่ค่า LOLE ใหม่ ในแผน PDP2022 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาไว้ว่าค่าเหมาะสมอยู่ที่ 0.7 วันต่อปี

นอกจากนี้ LOLE จะเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตเท่านั้น ไม่มีผลกับค่าพร้อมจ่ายพลังไฟฟ้า (Availability Payment) ของประชาชน

ดังนั้นการใช้เกณฑ์ LOLE เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นให้มีประสิทธิภาพแล้ว จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้ประเทศอย่างยั่งยืน

หลบจากเรื่องร้อนทางการเมือง มาว่าด้วยด้านเทคนิคเกี่ยวกับไฟฟ้าของประเทศ อาจจะเข้าใจยาก แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image